องค์กรผู้บริโภคเตือนคนกินต้องสังเกตอาการข้างเคียงเอง ปลดล็อกกัญชาช่วงสุญญากาศไร้มาตรการรองรับ เสนอ อย.เร่งออกประกาศและฉลากควบคุมอาหารผสมกัญชา

 53204

องค์กรผู้บริโภค เสนอ อย. ออกฉลากแสดงปริมาณกัญชาในอาหาร พร้อมประกาศควบคุมโฆษณาธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มที่ใช้ส่วนประกอบของกัญชา ขณะที่ รัฐฯ บูรณาการทุกภาคส่วนในช่วงรอยต่อจนกว่า สภาฯ จะออกกฎหมาย มาบังคับใช้

       นับตั้งแต่ วันที่ 9 มิถุนายน 2565 คนไทยจะสามารถ “ปลูก กัญชา” กันได้แล้ว เพียงแค่ “จดแจ้ง” ใน 3 ช่องทาง ได้แก่ 1.แอปพลิเคชัน “ ปลูกกัญ “ 2.เว็บไซต์ “ปลูกกัญ” 3.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.),องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) กทม.เพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการจดแจ้งตามช่องทางต่างๆ มาตรการนี้ เป็น นโยบาย “กัญชาเสรีทางการแพทย์” ของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข โดย คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จึงประกาศ “ปลดล็อก” เฉพาะ “ส่วนประกอบของกัญชา” ออกจาก “ยาเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 “เป้าหมายคือ ต้องการส่งเสริมให้ปลูกเพื่อสุขภาพและการรักษาโรค อนุญาตให้นำไปเป็นส่วนประกอบในอาหาร - เครื่องดื่ม

       อย่างไรก็ตาม “ดอก” และ “ใบรองดอก” ยังเป็นสิ่งที่ต้องระมัดระวังสูง เพราะมีสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท กล่าวคือ เป็นสารสกัดที่มีค่า “สารเมา” หรือ “ เตตระไฮโดรแคนนาบินอล “ (tetrahydrocannabinol, THC) มากกว่า 0.2% ดังนั้น การนำ “ส่วนประกอบของกัญชา” มาใช้  ผู้บริโภคควรศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ

       รศ.ดร.จันทร์เพ็ญ วิวัฒน์ กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ระบุว่า เรื่องนี้ต้องมีการติดตามผลกระทบกันต่อไป เนื่องจากเป็นการใช้ในชีวิตประจำวัน ที่เข้าถึงได้ง่ายในกรณีของการผสมในเครื่องสำอางยังอนุญาตให้ใช้ในผลิตภัณฑ์ที่ใช้ภายนอกเท่านั้น รวมทั้งการกำหนดปริมาณสารเมาหรือเตตระไฮโดรแคนนาบินอล (tetrahydrocannabinol, THC) ในวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์ ทั้งเครื่องสำอางและอาหารพร้อมรับประทาน สามารถขออนุญาตผลิตได้โดยการขอจดแจ้ง ส่วนอาหารที่ปรุงขายทั่วไปสามารถทำได้เลยเพียงแต่ต้องมีที่มาของกัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเข้ามาตรวจสอบอยู่เสมอทั้งแหล่งที่มา และการปนเปื้อนสารอื่นๆ ที่เป็นอันตราย อย่างโลหะหนัก เช่น สารหนู ปรอท ตะกั่ว แคดเมียม

       างนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการฝ่ายพิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า เป็นห่วงผู้บริโภคเพราะธุรกิจอาหารที่นำ “ส่วนประกอบของกัญชา” มาประกอบอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการโฆษณายังไม่มีการควบคุม ดังนั้น หน่วยงานรัฐทีเกี่ยวข้องทังหมดต้องออกมาตรการควบคุม เช่น “ฉลาก” และการโฆษณาเพื่อกำหนดบทลงโทษผู้ประกอบการที่ไม่ปฏิบัติตาม โดยประกาศต้องระบุ “ปริมาณการควบคุม” “อายุของผู้ใช้ เพื่อป้องกันเด็กและเยาวชนนำไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม ที่สำคัญ “ฉลากอาหาร” ต้องแสดงอัตราการใช้กัญชา รวมถึง คำเตือนในผลิตภัณฑ์ อย่างชัดเจน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค อีกทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการเกิดการแข่งขันกันเองด้วย ฉะนั้น “ฉลาก” ควรกำหนดให้ระบุข้อมูล คำเตือนและข้อห้าม การแจ้งปริมาณอย่างชัดเจน เข้าใจง่าย เช่น การห้ามใช้ในเด็ก สตรีมีครรภ์ เป็นต้น รวมทั้ง จะต้องอยู่ในตำแหน่งที่มองเห็นชัดเจน ตัวอักษรมีขนาดให้อ่านได้ไม่ยาก “การโฆษณา” ผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะการโฆษณาบนสื่อออนไลน์ ที่ส่งต่อกันได้อย่างรวดเร็ว อาจมีข้อความที่โฆษณาเกินจริงและจูงใจให้บริโภคเกินความจำเป็น ดังเห็นจากผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากกัญชาที่พบว่ามีการโฆษณาบนสื่อออนไลน์แล้วทั้งๆ ที่ยังไม่ได้รับอนุญาต จึงมีคำถามว่า แล้วหน่วยงานที่รับผิดชอบจะกำกับติดตามอย่างไรให้ทันท่วงที

        นายวีรพงษ์ เกรียงสินยศ กรรมการและเลขาธิการมูลนิธิสุขภาพไทย แสดงความกังวลต่อส่วนผสมของกัญชา ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับ “กลุ่มคนที่มีความเสี่ยงสูง” อาจได้รับผลกระทบจากการรับประทานอาหารและ ครื่องดื่มที่ผสมกัญชา โดยผลการศึกษาของวารสารทางการแพทย์แคนาดารายงานอย่างชัดเจนว่า “เด็ก และ ผู้สูงอายุ” เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ที่จริงคนทุกกลุ่มวัยก็ต้องระวังเช่นกัน โดยปัจจัยที่มีผลได้แก่ เพศ น้ำหนัก อาหารที่บริโภค เพราะแต่ละคนจะมีความไวต่อสารในกัญชาไม่เท่ากัน แม้ว่า “ใบ” จะมี “สารเมา” ต่ำ แต่ก็ต้องระมัดระวัง โดยการออกฤทธิ์ต่อร่างกาย จะใช้เวลา 30 นาที ถึง 2 ชั่วโมง จากนั้นระดับความเข้มข้นของกัญชาในกระแสเลือด จะค่อยๆ เพิ่มจนถึง “ขีดสูงสุด “ โดยจะคงอยู่ในสภาพนั้น 2-3 ชั่วโมง หรือ เกือบตลอดทั้งวัน ขึ้นอยู่กับปริมาณการบริโภค “กัญชา” ในอาหารและเครื่องดื่ม ทั้งจากอาหารปรุงสด, อาหารบรรจุสำเร็จ รวมถึงผลิตภัณฑ์ ที่ อย. ควบคุม เพราะฉะนั้นต้องเข้าใจว่า “ใบกัญชา “ ไม่ใช่ พืชผักสวนครัวทั่วไป ก็ควรระวังในการบริโภค และอย่าไปเชื่อคำกล่าวอ้างของผู้ประกอบการที่พยายาม “เชิดชู ให้ กัญชา เป็นพืชหรืออาหารวิเศษ” ที่จำเป็นต่อร่างกาย หลังปลกล็อกคือช่วงสุญญากาศ เหมือนว่ารัฐบาล หน่วยงานรัฐ ปล่อยให้ความรับผิดชอบเป็นของสังคม ครอบครัว ชุมชน ต้องเฝ้าระวังและแก้ปัญหาเอง ยังไม่มีกฏหมาย กลไกหรือหน่วยงานใดที่จะมารับผิดชอบโดยตรง

        ส่วนภาครัฐ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีบอกว่า ถึงแม้รัฐบาลปลดล็อกให้ปลูกกัญชาโดยถูกกฎหมาย แต่ไม่ใช่ว่าจะทำได้เสรี 100% เพราะพิษภัยของกัญชายังมีอยู่ และ ยังมีพฤติกรรมในบางเรื่องที่รัฐบาลจำเป็นต้องควบคุม อาทิ “ การสูบ “ ต้องไม่ก่อให้เกิดความรำคาญกับผู้อื่น หรือสูบแล้วขับรถอาจจะผิดกฎหมายเหมือนดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามจำหน่ายแก่เด็ก จำเป็นต้องควบคุมการจำหน่าย หรือการผลิตจำหน่ายต้องเสียภาษี ฯลฯ โดยในส่วนนี้จะมีกฎหมายใหม่ กำหนดรายละเอียดต่อไประหว่างนี้ อยู่ระหว่างการนำเสนอ “ร่างพระราชบัญญัติกัญชา” ต่อสภา โดยต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง อย่างไรก็ตามหลังวันที่ 9 มิถุนายน ไปจนถึงวันที่มีกฎหมายบังคับใช้รัฐบาลจะตั้งคณะกรรมการบูรณาการพืชกัญชา-กัญชง โดยมีฝ่ายต่างๆ ที่ร่วมเกี่ยวข้อง อาทิ กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงยุติธรรม, สำนักงานคณะกรรมการป้องและปราบปรามยาเสพติด, ตำรวจ, นักวิชาการและภาคประชาชน เพื่อกำกับดูแลในช่วงรอยต่อนี้ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย พร้อมกับการสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน ตลอดจนรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ และเรื่องที่อาจจะเป็นปัญหาจากความไม่เข้าใจซึ่งกันและกันด้วย

พิมพ์ อีเมล

ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ สำรวจพบส้มไทยมีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง ตอกย้ำปัญหาส้มพิษยังไม่ถูกแก้ไข เสนออาจต้องปรับเปลี่ยนระบบการผลิตใหม่

ภาพข่าวแถลงส้ม 01

          สภาองค์กรของผู้บริโภค นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ร่วมกับเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (ไทยแพน) เฝ้าระวังสถานการณ์ปัญหาสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท แบ่งเป็นส้มจำนวน 60 ตัวอย่างและน้ำส้ม 10 ตัวอย่าง พบว่า ส้มที่มาจากการปลูกในประเทศจำนวน 41 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน ทุกตัวอย่าง (100%) ส่วนส้มที่มาจากการนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง (84.21%) มีเพียง 3 ตัวอย่างที่มีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน สำหรับน้ำส้มในภาชนะบรรจุปิดสนิท พบ 50% ของกลุ่มตัวอย่างมีการตกค้างของสารพิษ

          วันนี้ (10 มีนาคม 2565) ในงานแถลงข่าวผลการตรวจสารเคมีเกษตรตกค้างในส้มและน้ำส้ม นางสาวทัศนีย์ แน่นอุดร รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) และบรรณาธิการนิตยสารฉลาดซื้อ กล่าวว่า ส้มเป็นผลไม้ที่ได้รับความนิยมในการบริโภค แต่ส้มก็เป็นผลไม้ที่มีโรคและศัตรูพืชมาก ทำให้การเพาะปลูกต้องใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชเพื่อป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชมากชนิดตามไปด้วย ปัญหาที่ตามมาคือ ทุกครั้งที่มีการสำรวจการตกค้างของสารพิษในส้มในหลายปีที่ผ่านมา จะพบการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐานมาโดยตลอด ทั้งจากการติดตามเฝ้าระวังของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไทยแพน หรือจากผลการทดสอบของศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อเอง และทุกครั้งที่มีการสะท้อนสถานการณ์ปัญหาก็จะมีการเคลื่อนไหวหลายอย่างทั้งจากหน่วยงานราชการ เกษตรกร ผู้จำหน่าย ผู้บริโภค ดังนั้นเพื่อจะติดตามว่า ส้มไทยปลอดภัยต่อการบริโภคมากน้อยแค่ไหน มพบ.และไทยแพน  จึงได้รับการสนับสนุนจากสภาองค์กรของผู้บริโภค ให้ทำการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทยอีกครั้ง

62299670e1211 attachment

          การสุ่มเก็บตัวอย่างส้ม คณะทำงานเลือกช่วงเวลาระหว่างวันที่ 3-10 มกราคม 2565 จากแหล่งผลิตทั้งในและต่างประเทศ โดยครอบคลุมช่องทางจำหน่ายในปัจจุบัน ได้แก่ ตลาดค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ และช่องทางออนไลน์  เป็นตัวอย่างส้ม 60 ตัวอย่าง และน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง รวมเป็น 70 ตัวอย่าง  สำหรับส้ม เน้นเก็บตัวอย่างส้มให้ครอบคลุมสายพันธุ์ส้มที่จำหน่ายในช่วงเวลา ซึ่งจำแนกเป็นสายพันธุ์ทางการค้าได้ทั้งสิ้น 13 สายพันธุ์ ได้แก่ ส้มสายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง ส้มเขียวหวาน 12 ตัวอย่าง ส้มโชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มแมนดาริน 8 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มนาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มเมอร์คอท 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง ส้มกัมควอท 1 ตัวอย่าง ส้มซันคิสท์ 1 ตัวอย่าง ส้มเอินชู 1 ตัวอย่าง และส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และหากจำแนกตามแหล่งผลิตจะเป็นส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง ส้มที่ปลูกในประเทศไทย 41 ตัวอย่าง ทั้งนี้ 12 ตัวอย่างใน 41 ตัวอย่างที่ปลูกในประเทศ เป็นตัวอย่างที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practices) 11 ตัวอย่าง และ ThaiGAP 1 ตัวอย่าง และตัวอย่างน้ำส้มบรรจุในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง ได้แก่ Aro, Tipco, Chabaa, UFC, Malee, DoiKham, Sunfresh, Harvey Fresh, Green Garden และ Smile

          ทั้ง 70 ตัวอย่าง ส่งวิเคราะห์สารพิษตกค้างแบบ multi-residue analysis ครอบคลุมสารพิษตกค้างจำนวน 567 รายการ ที่ห้องปฏิบัติการ TÜV SÜD ITALY ประเทศอิตาลี ซึ่งได้รับการรับรอง ISO/IEC 17025 จากรายงานผลการวิเคราะห์ พบว่า

          1. ส้มทั้ง 60 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างในทุกตัวอย่าง เมื่อเปรียบเทียบกับค่าปริมาณสารพิษตกค้างสูงสุดกำหนดไว้ใน ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เลขที่ 387 พ.ศ. 2560 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง และประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 419) พ.ศ. 2563 ออกตามความในพระราชบัญญัติ อาหาร พ.ศ. 2522 เรื่อง อาหารที่มีสารพิษตกค้าง (ฉบับที่ 3) พบว่า มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 57 ตัวอย่าง หรือ คิดเป็น 95% ของกลุ่มตัวอย่าง และพบว่า 5% หรือ 3 ตัวอย่าง มีสารพิษตกค้างแต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ได้แก่ ส้มเขียวหวาน จากบิ๊กซี บางใหญ่ , Holy Fresh ส้มพันธุ์ เมอร์คอท จากกูเมต์มาร์เก็ต และ ส้มเช้ง ร้านเจ๊อ้อย 201 ผลไม้ ตลาดไท ซึ่งทั้งสามตัวอย่างเป็นส้มนำเข้าจากต่างประเทศ

          2. จากตัวอย่างน้ำส้มในภาชนะปิดสนิท 10 ตัวอย่าง มี 5 ตัวอย่างที่ไม่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มโชกุน ตรา Tipco, น้ำส้ม 100% ตรา UFC, น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรามาลี (ส้มจากแม่สิน) และน้ำส้มนำเข้า ตรา Sunfresh และ Harvey Fresh อีก 5 ตัวอย่างที่พบสารพิษตกค้าง ได้แก่ น้ำส้มเขียวหวานพร้อมเกล็ดส้ม 100% ตราARO , น้ำส้มสายน้ำผึ้ง 100% ตรา CHABAA, น้ำส้ม 98% ตราดอยคำ, น้ำส้มพร้อมเนื้อส้ม 100% ตรากรีนการ์เด้น และ น้ำส้มเขียวหวาน 100% ตรา SMILE ทั้งนี้จากการตรวจสอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 356 เรื่อง เครื่องดื่มในภาชนะบรรจุที่ปิดสนิท  พบว่าไม่มีการกำหนดมาตรฐานเกี่ยวกับสารพิษตกค้างไว้ จึงไม่มีค่ามาตรฐานสำหรับเปรียบเทียบกับปริมาณสารพิษตกค้างที่พบ

          ด้านนางสาวปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือไทยแพน ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมจากรายงานผลการวิเคราะห์ว่า หากจำแนกตามแหล่งผลิต จะพบว่า ตัวอย่างส้มที่มาจากการปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานทุกตัวอย่าง หรือคิดเป็น 100% ในขณะที่ส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน 16 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 84.21% อีก 3 ตัวอย่างมีปริมาณสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

          สำหรับกลุ่มตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ 41 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ สายน้ำผึ้ง 18 ตัวอย่าง เขียวหวาน 9 ตัวอย่าง โชกุน 9 ตัวอย่าง ส้มสีทอง 3 ตัวอย่าง ส้มน้ำตาล 1 ตัวอย่าง และส้มเขียวหวาน 1 ตัวอย่าง ซึ่งทุกตัวอย่างพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน  โดยในจำนวนนี้เป็นผลผลิตที่มาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) ที่ได้รับรองโดยกระทรวงเกษตรฯ 11 ตัวอย่าง เป็นผลผลิตที่มีมาจากแปลงที่มีการรับรอง ThaiGAP โดยสถาบันส่งเสริมคุณภาพเกษตรไทย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 1 ตัวอย่าง และไม่ระบุการรับรองมาตรฐานใดๆ 29 ตัวอย่าง ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างส้มนำเข้า 19 ตัวอย่าง สามารถจำแนกตามชื่อเรียกสายพันธุ์ทางการค้าได้ ดังนี้ แมนดาริน 5 ตัวอย่าง ส้มไต้หวัน 3 ตัวอย่าง เมอร์คอท 2 ตัวอย่าง นาเวล 2 ตัวอย่าง ส้มซาถัง 2 ตัวอย่าง เอินชู 1 ตัวอย่าง กัมควอท/กิมจ๊อ 1 ตัวอย่าง ซันคิสต์ 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง สายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง มีเพียงส้มสายน้ำผึ้ง 1 ตัวอย่าง ส้มเช้ง 1 ตัวอย่าง และส้มเมอร์คอท 1 ตัวอย่าง ที่พบสารพิษตกค้างอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน อีก 16 ตัวอย่าง พบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐาน

          สำหรับชนิดสารพิษตกค้างที่พบจากตัวอย่างส้มทั้งหมดรวม 48 ชนิด เป็นสารกำจัดแมลง 31 ชนิด สารกำจัดโรคพืช 13 ชนิด และสารกำจัดไร 4 ชนิด มีรายละเอียดดังนี้

          1. สารกำจัดแมลงที่พบตกค้างมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ Imidacloprid, Ethion และ Profenofos โดยพบในส้ม 56, 52 และ 49 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 93.33%, 86.67% และ 81.67% ตามลำดับ

          2. ในขณะที่สามอันดับแรกของสารป้องกันและกำจัดโรคพืชคือ Benomyl/Carbendazim, Hexaconazole และ Prochloraz โดยพบใน 48, 42 และ 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 80.0%, 70.0% และ 51.67% ตามลำดับ

          3. สารกำจัดไรที่พบตกค้างมากที่สุด คือ Propargite พบใน 31 ตัวอย่าง หรือคิดเป็น 51.67%

          4. พบการตกค้างของ Chlorpyrifos-ethyl ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายชนิดที่ 4 (ยกเลิกการใช้แล้ว) 50% ของกลุ่มตัวอย่าง โดยตกค้างในส้มที่ผลิตในประเทศ 22 ตัวอย่าง และส้มนำเข้า 8 ตัวอย่าง

          “กรณีที่พบการตกค้างของสารคลอร์ไพริฟอสที่แบนแล้วในตัวอย่างส้มที่ปลูกในประเทศ อาจเป็นไปได้ที่จะมีสารที่ค้างอยู่เป็นสต็อกของเกษตรกรหลังจากมีการแบนอย่างเป็นทางการ แต่ก็มีความเป็นไปได้สูงที่เกิดขึ้นจากการลักลอบนำเข้า ซึ่งเรื่องนี้เป็นความรับผิดชอบของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่จะต้องดำเนินการ” นางสาวปรกชลกล่าว

 IMG 5564

          นางสาวทัศนีย์ กล่าวเสริมว่า หากดูจากรายงานผลการวิเคราะห์ในครั้งนี้ มันยังคงสะท้อนสถานการณ์ปัญหาการตกค้างของสารพิษในส้มว่าไม่ได้ดีขึ้น ส้มเกือบทุกตัวอย่างที่สุ่มมามีการตกค้างของสารพิษเกินค่ามาตรฐาน ดังนั้นคงจะต้องขอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องตลอดจนผู้มีส่วนในห่วงโซ่ของการผลิตส้ม ได้โปรดช่วยกันหาทางเปลี่ยนแปลงอย่างเร่งด่วน หรืออาจจะต้องถึงขั้นเปลี่ยนระบบการผลิตครั้งใหญ่หรือไม่

          นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สภาองค์กรของผู้บริโภค กล่าวว่า การเฝ้าระวัง ทดสอบสินค้าและบริการเป็นอำนาจหนึ่งของสภาองค์กรของผู้บริโภค ซึ่งกำหนดให้สภาฯ มีฐานะเป็นผู้แทนผู้บริโภค และมีอำนาจดำเนินการเพื่อการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค  การสนับสนุนการทดสอบเรื่องส้มในครั้งนี้ก็เพื่อต้องการให้ผู้บริโภคได้มีข้อมูลที่เพียงพอต่อการตัดสินใจบริโภคสินค้าหรือบริการ และหลีกเลี่ยงสินค้าหรือบริการที่ไม่ปลอดภัยหรืออาจกระทบต่อสุขภาพอนามัยของผู้บริโภค ทั้งนี้ ตนเองมองว่า กระทรวงสาธารณสุขควรดำเนินการเฝ้าระวังสารเคมีตกค้างในน้ำส้มและผลิตภัณฑ์น้ำผักผลไม้อย่างต่อเนื่องเป็นระยะจนมั่นใจว่าไม่มีการตรวจพบสารตกค้าง และประกาศให้ผู้บริโภครับทราบข้อมูลทุกครั้ง อีกทั้งต้องการเสนอให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควบคุมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการผลิตพืชอาหารอย่างเข้มงวดเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตั้งแต่ต้นทางของการผลิตอาหาร

สรุปข้อเสนอจากรายงานการสำรวจสารพิษตกค้างในส้มและน้ำส้มที่จำหน่ายในประเทศไทย

ข้อเสนอต่อภาครัฐ

1.กระทรวงเกษตรและสหกรณ์

  • ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ลักลอบนำเข้า ครอบครอง หรือมีไว้จำหน่ายของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ผิดกฎหมาย โดยเฉพาะสารเคมีที่ประเทศไทยยกเลิกการใช้หรือไม่อนุญาตให้มีการขึ้นทะเบียนแล้ว
  • ปฏิรูประบบการรับรอง GAP เพื่อให้มั่นใจว่าผลผลิตหรือสินค้าที่ได้รับการรับรองจะไม่ตรวจพบการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างเกินมาตรฐาน
  • ส่งเสริมและสนับสนุนเกษตรกรรมอินทรีย์เพื่อให้เป็นทางเลือกในการผลิตของเกษตรกรและผู้บริโภค

2.กระทรวงสาธารณสุข

  • เพิ่มประสิทธิภาพการวิเคราะห์สารพิษตกค้างในผักผลไม้ที่ด่านนำเข้า
  • พัฒนากลไกเฝ้าระวังสารพิษตกค้างในระดับพื้นที่และประเทศ โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน
  • ควรยกระดับการคุ้มครองผู้บริโภคในกรณีน้ำส้มหรือน้ำผลไม้ในภาชนะบรรจุปิดสนิท รวมถึงประเมินความเสี่ยงจากการบริโภค โดยเฉพาะในกลุ่มเปราะบาง เช่น เด็ก ผู้ป่วย

ข้อเสนอต่อภาคเอกชน ผู้จัดจำหน่าย

1. ซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีก ตลอดจนร้านสะดวกซื้อ ซึ่งเป็นแหล่งจัดจำหน่ายส้มขนาดใหญ่ควรสนับสนุนข้อมูลเรื่องที่มาของส้ม ที่นำมาจำหน่ายอย่างโปร่งใส  (Traceability) เพื่อเป็นเครื่องมือให้ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบแหล่งผลิต สารเคมีที่ใช้ การเก็บเกี่ยว การบรรจุ ฯลฯ ได้อย่างสะดวกด้วยเทคโนโลยีเช่นการสแกนคิวอาร์โค้ด     

2. ผู้ผลิตที่นำส้มมาแปรรูป ควรคำนึงถึงแหล่งที่มาตลอดจนการคัดเลือกวัตถุดิบอย่างเป็นระบบเพื่อลดปัญหาการปนเปื้อนสารพิษตกค้างในผลิตภัณฑ์

ทางเลือกและการแก้ปัญหาของผู้บริโภค

  • เลือกการสนับสนุนส้มที่ผลิตโดยวิธีการที่ไม่ใช้สารเคมี หรือผลผลิตที่ทราบที่มาและเชื่อถือได้ว่ามาจากระบวนการผลิตที่ปลอดภัย
  • ล้างส้มทุกครั้งที่บริโภค แม้ไม่สามารถลดปริมาณของสารเคมีที่ตกค้างได้ทั้งหมด เพราะมีสารเคมีประมาณครึ่งหนึ่งที่ดูดซึมไปสู่เนื้อส้มได้ แต่ก็เป็นการลดปริมาณของสารเคมีได้ระดับหนึ่ง
  • ร่วมกันเรียกร้องให้ผู้บริหารกระทรวงเกษตร หน่วยงานของรัฐ และภาคเอกชน ดำเนินการให้มีการปฏิรูปการผลิต การจัดจำหน่าย และกลไกการกำกับดูแลสารเคมีกำจัดศัตรูพืชให้มีความปลอดภัยต่อเกษตรกรและผู้บริโภคมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

IMG 5582

พิมพ์ อีเมล

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเผยผู้เสียหายคดีฟ้องกระทะโคเรียคิงโฆษณาเกินจริง ถูกฟ้องปิดปาก!

กระทะโคเรีบคิงผู้บริโภค 1 ในกลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิง และเป็นโจทก์ที่ 2 ในคดีที่มีการฟ้องบ. ผู้นำเข้ากระทะฯ ถูกฟ้องในข้อหาแจ้งข้อความอันเป็นเท็จและเบิกความเท็จ นักกฎหมาย มพบ.ชี้ไม่ได้เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือเบิกความเท็จ จะต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด พร้อมดำเนินคดีกับบริษัท

วันนี้ ( 6 พฤษภาคม 2565 ) นางสาวณัฐวดี เต็งพานิชกุล นักกฎหมาย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เปิดเผยว่า จากการที่คุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง เครือข่ายผู้บริโภค จ.สตูล หนึ่งในกลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิง และเป็นโจทก์ที่ 2 ในคดีที่มีการฟ้อง บ.วิซาร์ดโซลูชั่น เป็นคดีแบบกลุ่มที่ศาลแพ่ง อันเนื่องมาจากการโฆษณาสินค้าเกินความเป็นจริงและสินค้าดังกล่าวไม่เป็นไปตามโฆษณา ถูกบ.วิซาร์ดโซลูชั่น ผู้นำเข้ากระทะยี่ห้อโคเรียคิง ฟ้องในข้อหา แจ้งข้อความอันเป็นเท็จและเบิกความเท็จ ที่ศาลจังหวัดสตูล โดยศาลนัดไต่สวนมูลฟ้องคดีนี้ในวันที่ 6 มิถุนายน 2565 ซึ่งเป็นวันเดียวกับคดีที่ศาลแพ่งนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีแบบกลุ่ม และต่อมาคุณกัลยทรรศน์ ติ้งหวัง ยังได้รับหมายเรียกผู้ต้องหาจาก สน.พหลโยธิน เรียกให้ไปพบพนักงานสอบสวน ในเรื่องเบิกความเท็จฯ ในวันที่ 11 พฤษภาคม 2565 โดยผู้กล่าวหาคือ บ.วิซาร์ดโซลูชั่น เช่นกัน

โดยคดีที่ศาลแพ่งนั้น โจทก์ทั้งสอง และสมาชิกกลุ่มที่เป็นผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิง จำนวน 72 คน ได้ยื่นฟ้อง บริษัท วิซาร์ด โซลูชั่น จำกัด เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2560 เป็นคดีผู้บริโภคและขอให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม ต่อศาลแพ่ง เรียกเงินคืนและเรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 1,650  ล้านบาท โดยเมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2563 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ดำเนินคดีแบบกลุ่ม และเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งรับเป็นคดีแบบกลุ่มเช่นกัน โดยจำกัดขอบเขตของกลุ่มเฉพาะผู้บริโภคที่ซื้อกระทะโคเรียคิงรุ่นไดมอนด์และรุ่นโกลด์ของจำเลย ภายใน 17 พฤษภาคม 2560 และยังไม่ได้ตกลงรับการแก้ไขเยียวยาจากจำเลย

นายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า กรณีดังกล่าว ไม่ได้เป็นการแจ้งข้อความอันเป็นเท็จหรือเบิกความเท็จแต่อย่างใด และจะดำเนินการต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด หากชนะคดีแล้วจะต้องดำเนินคดีกับบริษัทด้วย

ส่วนผู้เสียหายจากการซื้อกระทะโคเรียคิงรายอื่นๆ หากได้รับการฟ้องร้องทำนองนี้ สามารถติดต่อได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โทรศัพท์ : 02-2483734-7 Line id : @ConsumerThai ช่องทาง inbox FB เพจ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค หรือร้องทุกข์ออนไลน์ที่ https://www.consumerthai.com/

พิมพ์ อีเมล