ข่าว/บทความรถโดยสาร

อย่าปล่อยให้การยืนบนรถตู้เป็นเรื่องปกติ

600713 newscar

การใช้บริการรถตู้โดยสารสาธารณะนั้น แม้จะมีประกาศกรมการขนส่งทางบก เมื่อวันที่ 5 เม.ย.2560 เรื่อง การจัดวางที่นั่งรถตู้โดยสารสาธารณะตามมาตรการเพิ่มความปลอดภัยในรถโดยสารสาธารณะ พ.ศ.2560 กำหนดให้รถตู้โดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางทุกคันต้องมีที่นั่งสำหรับผู้โดยสารได้ไม่เกิน 13 ที่นั่ง ต้องมีป้ายข้อความ “ทางออกฉุกเฉิน” ด้านท้ายของรถ แถวหลังสุดต้องมีช่องทางเดิน ขนาดความกว้างไม่น้อยกว่า 20 ซม. เพื่อให้ผู้โดยสารใช้เป็นทางออกฉุกเฉิน กรณีมีเหตุจำเป็นหรือเกิดอุบัติเหตุ

มาตรการที่ออกมานั้นก็เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสารและคนขับ แต่หากพบว่ายังมีการรับผู้โดยสารขึ้นมายืนบนรถอีก จะทำอย่างไรได้บ้าง
1. เตือนพนักงานขับรถ บอกพนักงานขับรถว่ากำลังทำผิดกฎหมายอยู่

2. เก็บรายละเอียด หลักฐาน หากพนักงานยังบรรทุกผู้โดยสารเกิน ให้ผู้โดยสารเก็บรายละเอียดต่างๆให้ครบถ้วน เช่น หมายเลขทะเบียนรถ เส้นทางวิ่ง ภาพถ่าย คลิป

3. ร้องเรียน สายด่วนของกรมการขนส่งทางบก 1584  และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)หมายเลขโทรศัพท์ 02-248 3737

มาตรการลงโทษรถตู้โดยสารบรรทุกเกิน

ตามพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 หากตรวจพบว่ามีการรับผู้โดยสารเกินจากจำนวนที่นั่งที่กำหนดไว้

1. พนักงานขับรถจะมีความผิด ตาม มาตรา 107 ประกอบกับ มาตรา 127 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

2. ผู้ประกอบการขนส่งหรือบริษัทเจ้าของรถ มีความผิดตาม มาตรา31 (4),(7) ประกอบมาตรา 131 ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50,000 บาท

นอกจากนี้ผู้กระทำความผิดทุกรายจะถูกบันทึกประวัติความผิดไว้ในศูนย์ข้อมูลประวัติผู้ขับรถสาธารณะ หากพบการกระทำความผิดซ้ำ อาจพิจารณาพักใช้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถตามลำดับ

ถึงแม้ว่าปัญหา “รถตู้บรรทุกเกิน” จะยังไม่ถูกแก้ไขอย่างเบ็ดเสร็จ แต่เชื่อว่า หากผู้โดยสาร ร่วมมือกันเป็นอาสาสมัครเฝ้าระวัง เป็นสายตรวจ เป็นหู เป็นตา ถ่ายคลิป ถ่ายภาพ แล้วร้องเรียน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมายก็จะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่าปล่อยให้การยืนบนรถตู้เป็นเรื่องปกติ

 

ภาพประกอบ www.matichon.co.th

พิมพ์ อีเมล