ผู้บริโภค นักวิชาการ เสนอรัฐบังคับรถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจเพิ่มวงเงิน การเยียวยา และมีมาตรการกำกับดูแล เอาผิดรถทำผิดซ้ำซากให้ถึงที่สุด
วันนี้ (27 ก.ค.) คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน ร่วมกับ เครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ ศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งชาติ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ร่วมจัดเวทีสภาผู้บริโภคภาคเหนือ"ผ่าทางตันระบบรถโดยสารไทย กรณีบริษัทจักรพงษ์ทัวร์" เพื่อรวบรวมปัญหาและระดมความคิดเห็นต่างๆ และยกระดับมาตรฐานความคุ้มครอง ความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ และป้องกัน "อุบัติเหตุซ้ำซาก" ที่จะเกิดขึ้นอีกในอนาคต จากกรณีเหตุการณ์ระทึกขวัญ รถโดยสารประจำทางสาย เชียงใหม่ – อุดรธานี เบรกแตกพุ่งชนรถนักเรียนและรถยนต์ที่วิ่งบนถนน ก่อนเสียหลักพุ่งชนบ้านเรือนข้างทางอีก 3 หลัง เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 4 ราย และบาดเจ็บสาหัสอีกเป็นจำนวนมาก
นายอัสสชิ อักษรดี ตัวแทนผู้ประสบเหตุ กล่าวว่า ตนเป็นหนึ่งในผู้เสียหายที่ได้รับบาดเจ็บกระดูกสันหลัง ซี่โครง และไหปลาร้าหัก ยังต้องรักษาตัวอยู่ ไม่สามารถทำงานได้เหมือนเดิม ขาดรายได้หาเลี้ยงครอบครัว
" ตั้งแต่เกิดเหตุจนถึงปัจจุบัน ได้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลไปแล้วเกือบ 69,000 บาท และยังต้องรักษาตัวอย่างต่อเนื่อง บริษัทรถไม่เคยออกมารับผิดชอบ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยก็ยังมีความยุ่งยาก สุดท้ายผลักภาระมาให้ใช้สิทธิบัตรทอง แทนที่บริษัทประกันภัยจะรับผิดชอบตามวงเงินที่ทำไว้ในสัญญาประกันภัย " ตัวแทนผู้ประสบเหตุกล่าว
ดร. สุเมธ องกิตติกุล นักวิจัยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวถึงสถานการณ์การเยียวยาผู้ประสบเหตุว่า ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (ประกันภัยภาคบังคับ) ค่าเสียหายเบื้องต้นไม่เกิน 50,000 บาท และกรณีทุพลภาพหรือเสียชีวิตไม่เกิน 200,000 บาท ยังเป็นจำนวนเงินที่ไม่เหมาะสมสำหรับกรณีที่บาดเจ็บร้ายแรงหรือเสียชีวิต
" ทางออกที่ในกรณีนี้คือ การเพิ่มวงเงินความคุ้มครองค่าเสียหาย ค่ารักษาพยาบาลตามจริงเป็นไม่เกิน 150,000 บาท และกรณีทุพลภาพหรือเสียชีวิตเป็น 1,000,000 บาท ซึ่งระบบประกันภัยอุบัติเหตุในปัจจุบันควรต้องได้รับการแก้ไขให้สอดคล้องและ ครอบคลุมสิทธิของผู้ประสบเหตุอย่างเร่งด่วน ทั้งในส่วนของประกันภัยภาคบังคับและภาคสมัครใจ " ดร.สุเมธกล่าว
นายแพทย์ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการความปลอดภัยทางถนน กล่าวว่า เหตุครั้งนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เกิดขึ้นกับจักรพงษ์ทัวร์ ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา พบว่าจักรพงษ์ทัวร์ เกิดอุบัติเหตุใหญ่ทุกปี นับรวมผู้บาดเจ็บกว่า 144 ราย เสียชีวิตมากถึง 15 ราย
" เป็นที่น่าสังเกตว่า สาเหตุของการเกิดอุบัติเหตุเกือบทุกครั้งเกิดจากโครงสร้างและระบบเบรกมี ปัญหา ทั้งที่รถผ่านการตรวจสภาพประจำปีมาแล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่มีการแก้ไขจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรัฐควรให้ความสำคัญในการกำหนดมาตรการความปลอดภัย มีระบบประเมินและตรวจสอบผู้ประกอบการเดินรถ รวมทั้งมีมาตรการให้บริษัทที่เกิดเหตุบ่อยๆ มีการปรับปรุงแผนด้านความปลอดภัยที่ชัดเจนต่อสาธารณะ และถ้าพบว่าไม่สามารถดำเนินการได้ ควรหยุดปรับปรุงและมีการนำรถที่ปลอดภัยมาให้บริการทดแทน " นายแพทย์ธนะพงศ์กล่าว
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม คณะกรรมการองค์การอิสระฯ ให้ความเห็นต่อการแก้ไขปัญหาออกเป็น 3 ส่วน นั่นคือ 1 ยกระดับมาตรฐานคนขับรถต้องมีคุณภาพ 2 ต้องมีการตรวจสอบมาตรฐานรถอย่างจริงจัง 3 หน่วยงานการกำกับดูแลต้องเข้มงวดไม่ละเลย 4 ยกเลิกระบบสัมปทานที่เอื้อต่อการผูกขาด ทำให้ผู้บริโภคไม่มีทางเลือก ไปสู่การประมูลเส้นทางเดินรถแทน
" ในเรื่องการกำกับดูแลของหน่วยงาน รัฐต้องร่วมรับผิดชอบ เช่น มีรถเถื่อน มีอุบัติเหตุซ้ำซากในพื้นที่นั้น รัฐควรมีบทลงโทษเจ้าหน้าที่ผู้กำกับดูแล และมีมาตรการพักใบอนุญาตการเดินรถของผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรับผิดชอบร่วมกัน และกระตุ้นการทำงานของทั้งเจ้าหน้าที่และผู้ประกอบการ "
นอกจากนี้ นางสาวบุญยืนยังเสนอต่อว่าควรจะสร้างการมีส่วนร่วมของทั้งผู้ประกอบการและ ผู้บริโภค รวมถึงหน่วยงานรัฐที่จะทำงานร่วมกันสร้างระบบความปลอดภัยรถโดยสาร เช่นให้รางวัลผู้ประกอบการดีเด่น หรือสร้างอาสาสมัครรถโดยสารปลอดภัย ที่สำคัญคือต้องมีการกำหนดในร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังยกร่างกันอยู่ ให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อเป็นตัวแทนและเป็นปากเป็นเสียงให้กับผู้บริโภค
นางมยุเรศ แลวงศ์นิล ผู้จัดการสมาคมชีวิตดีจังหวัดลำปาง ในฐานะตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค เสนอมาตรการเพื่อให้มีรถโดยสารที่ปลอดภัยต่อผู้บริโภคดังต่อไปนี้
1 รัฐต้องปรับเพิ่มวงเงินความคุ้มครองเบื้องต้น (พรบ.) ให้มากกว่าปัจจุบัน และต้องแยกวงเงินระหว่างค่ารักษาพยาบาลออกจากค่าชดเชยทุพพลภาพหรือเสียชีวิต
2 กำหนดให้รถโดยสารสาธารณะทุกคันต้องทำประกันภัยภาคสมัครใจ โดยต้องเพิ่มวงเงินประกันภัยสูงสุดจาก 10 ล้านบาท/ครั้ง เป็น 30 ล้านบาท/ครั้ง ถ้าบริษัทไหนไม่มีประกันภัยภาคสมัครใจต้องมีคำสั่งห้ามให้บริการ เนื่องจากหากเกิดเหตุ การชดเชยเบื้องต้นจะไม่เพียงพอต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น
3 ผู้บริโภคต้องมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลและประเมินคุณภาพการให้บริการรถ โดยสารเพื่อความปลอดภัย โดยให้ภาครัฐ ผู้ประกอบการ และนักวิชาการในท้องถิ่นสนับสนุนส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค
" หลายกรณีความรุนแรงของการบาดเจ็บมีมากกว่าวงเงินค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้นที่ กำหนดไว้ บางรายต้องผ่าตัดรักษาต่อเนื่อง วงเงินคุ้มครองเบื้องต้น 50,000 บาทจึงไม่เพียงพอ ผู้เสียหายควรได้รับค่ารักษาพยาบาลเต็มจำนวนและครอบคลุมทั้งค่าใช้จ่ายขณะ ที่อยู่โรงพยาบาลและหลังออกจากโรงพยาบาล แต่จากสภาพความเป็นจริงจากผู้เสียหายพบว่าการได้รับค่าชดเชยยังไม่ตรงกับ ความสูญเสียที่เกิดขึ้นจริง ทำให้ญาติได้รับค่าชดเชยที่ไม่เหมาะสมต้องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติม จากคู่กรณี ซึ่งกินระยะเวลายาวนาน จึงต้องเพิ่มวงเงินประกัน" นางมยุเรศกล่าว