แม้เรื่องของรถเมล์เอ็นจีวี 4 พันคัน สร่างซาไปแล้ว แต่ด้วยเพราะเป็นโครงการขนาดใหญ่ งบประมาณหลายหมื่นล้านบาท จึงย่อมเป็นที่จับตาของประชาชนแน่นอน แต่อีกเรื่องที่น่าจะต้องจับตาด้วย เพราะเป็นผลประโยชน์โดยตรงของผู้บริโภค คือการใช้รถโดยสารสาธารณะที่มีอายุการใช้งานยาวนาน จนสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากประสิทธิภาพที่ลดลงตามอายุ
อุทาหรณ์จากอุบัติเหตุรถโดยสารเก่าเกิดขึ้นมาหลายแห่งทั่วประเทศ ไม่เช่นนั้นกรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม คงไม่นำมาเป็นเหตุผลในการศึกษาเพื่อการกำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะ อย่างการว่าจ้างนักชาการจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ศึกษาถึงเรื่องนี้
นายพิชัย ธานีรณานนท์ หัวหน้าโครงการศึกษาการกำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดเผยว่า จากสถิติอุบัติเหตุรถขนาดใหญ่ ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อปี 2549 พบว่า โดยเฉลี่ยเกิดขึ้นประมาณ 4,000 คัน กรมทางหลวงประเมินมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจ เมื่อปี 2550 ประมาณ 8,000 ล้านบาทต่อปี
สาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุ มาจากข้อบกพร่องของอุปกรณ์และส่วนควบของรถที่หมดอายุ ส่งผลให้จำเป็นต้องกำหนดอายุการใช้งานของรถ เพื่อให้รถพร้อมที่จะใช้งานและมีความปลอดภัย ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ และเกิดเหตุรุนแรงตามมาได้
“ถึงแม้การดำเนินการเหล่านี้ จะทำให้ต้นทุนของผู้ประกอบการสูงขึ้น แต่ก็เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องดูแลรักษารถ ให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งาน สำหรับอุปสรรคในการกำหนดอายุการใช้รถโดยสารสาธารณะ ส่วนหนึ่งมาจากรัฐเป็นผู้กำหนดราคาค่าบริการ ทำให้ผู้ประกอบการขาดแรงจูงใจในการจัดหารถใหม่มาให้บริการผู้โดยสาร การกำหนดอายุรถโดยสารจึงต้องอยู่บนพื้นฐานให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการอยู่ได้ ขณะเดียวกันสามารถให้บริการที่ดีมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการด้วย” นายพิชัยกล่าว
นายพิชัย เปิดเผยต่อว่า สำหรับรายละเอียดเกี่ยวกับอายุรถโดยสารสาธารณะ ณ วันที่ 31ธันวาคม 2551 ของกรมการขนส่งทางบกพบว่า รถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทางจำนวน 125,397 คัน มีอายุไม่เกิน 1 ปี เพียง 7,796 คัน ขณะที่อายุรถโดยสารเกิน 20 ปี มีปริมาณมากที่สุด 26,060 คัน
นายพิชัย เปิดเผยอีกว่า เมื่อแยกเป็นรายภาคพบว่า กรุงเทพมหานครมีรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง 34,344 คัน อายุรถโดยสารสูงสุดอยู่ระหว่าง 16 - 20 ปีจำนวน 4,640 คัน รองลงมามีอายุเกิน 20 ปีจำนวน 4,135 คัน
ภาคกลาง มีรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง 13,929 คัน อายุรถโดยสารที่มีปริมาณสูงสุด คือ เกิน 20 ปี มีจำนวน 2,162 คัน
ภาคตะวันออก มีรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง 9,398 คัน อายุรถโดยสารที่มีปริมาณสูงสุด คือ เกิน 20 ปี มีจำนวน 1,711 คัน
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง 25,185 คัน อายุรถโดยสารที่มีปริมาณสูงสุด คือ เกิน 20 ปี มีจำนวน 5,583 คัน
ภาคเหนือ มีรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง 13,493 คัน อายุรถโดยสารที่มีปริมาณสูงสุด คือ เกิน 20 ปี มีจำนวน 3,940 คัน
ภาคตะวันตก มีรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง 7,618 คัน อายุรถโดยสารที่มีปริมาณสูงสุด คือ เกิน 20 ปี มีจำนวน 2,342 คัน
ภาคใต้ มีรถโดยสารสาธารณะทั้งประจำทางและไม่ประจำทาง 21,430 คัน อายุรถโดยสารที่มีปริมาณสูงสุด คือ เกิน 20 ปี มีจำนวน 5,737 คัน
นายพิชัย เปิดเผยด้วยว่า เมื่อดูอายุรถโดยสารสาธารณะโดยเฉลี่ยทั้งประเทศ และแยกเป็นรายภาคพบว่า มีอายุเฉลี่ย 13 ปี โดยภาคตะวันตกมีอายุเฉลี่ยสูงสุด 16 ปี กรุงเทพมหานครอายุเฉลี่ยต่ำสุด 10 ปี กรุงเทพมหานคร รถโดยสารประจำทางอายุเฉลี่ยสูงกว่ารถโดยสารไม่ประจำทาง ยกเว้นภาคใต้ อายุรถโดยสารไม่ประจำทาง สูงกว่ารถโดยสารประจำทาง
โดยอายุของรถโดยสารประจำทางทั้งประเทศเฉลี่ย 14 ปี ภาคตะวันตกอายุเฉลี่ยสูงสุด 18 ปี ขณะที่ภาคใต้อายุเฉลี่ยต่ำสุด 12 ปี และในส่วนของอายุของรถโดยสารไม่ประจำทางทั้งประเทศเฉลี่ย 12 ปี ภาคใต้อายุเฉลี่ยสูงสุด 17 ปี และภาคเหนืออายุเฉลี่ยต่ำสุด 9 ปี
นายพิชัย เปิดเผยอีกว่า โครงการนี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอายุของรถและองค์ประกอบต่างๆ ที่ส่งผลกระทบโดยตรง ต่อความปลอดภัยของรถ เช่น สภาพของเครื่องอุปกรณ์ต่างๆ ที่เสื่อมสลายไปตามอายุรถ ระบบการบำรุงรักษา สภาพและการซ่อมแซมหรือเปลี่ยนอะไหล่
นายพิชัย กล่าวว่า การศึกษาจะสะท้อนให้เห็นถึงปัจจัยอื่นที่มีความเกี่ยวโยงกัน เช่น สภาพทางเศรษฐกิจและอายุเฉลี่ยของรถที่ใช้งานในปัจจุบัน ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการดูแลรักษาตลอดอายุการใช้งานและค่าขนส่ง หรือค่าโดยสารที่ได้รับ ผลกระทบจากค่าน้ำมันเชื้อเพลิง โดยจะต้องถ่วงน้ำหนักตามลำดับความสำคัญ ขององค์ประกอบแต่ละองค์ประกอบ
“คาดว่าหลังจากการทำการวิจัยองค์ประกอบต่างๆ แล้ว จะสามารถกำหนดอายุรถโดยสรที่มีลักษณะเป็นรถบัสและรถตู้ที่ใช้งาน ในเส้นทางหมวด 1หมวด 2 หมวด 3 และหมวด 4 ได้อย่างเหมาะสม โดยจะมีการจัดทำแผนปฏิบัติในการดำเนินการอย่างชัดเจน” นายพิชัย กล่าว
นายพิชัย เปิดเผยว่า ทางโครงการฯ ได้ศึกษาไปแล้วเกือบครึ่งทาง สำหรับการกำหนดอายุรถ คาดว่า จะนำไปสู่การแก้ไขกฎหมายการขนส่งทางบก ส่วนจะกำหนดอายุรถกี่ปี ยังไม่สามารถบอกได้ ต้องรอผลการศึกษาก่อนว่า จะไปในทิศทางไหนอย่างไร จะกำหนดได้เมื่อไหร่ แต่แนวโน้มคาดว่า น่าจะอยู่ที่ 20 - 25 ปี เพราะเป็นระยะเวลาที่รถมีสภาพเสื่อมโทรม แต่จากการสัมมนาผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย ที่จะให้กำหนดอายุรถ แต่ถ้ามีการปรับลดราคาแชสซีส์ และลดอัตราการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการ ก็สามารถช่วยลดต้นทุนให้กับผู้ประกอบการได้อีกทาง
นายพิชัย กล่าวว่า สาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุมาจากข้อบกพร่องของอุปกรณ์ และส่วนควบของรถ เช่น รถที่มีอายุการใช้งานที่นาน ขาดการบำรุงรักษา จึงควรกำหนดอายุการใช้งานของรถ เพื่อให้รถพร้อมที่จะใช้งาน และมีความปลอดภัย จะช่วยลดอุบัติเหตุที่ตามมาได้ แต่การกำหนดจะเป็นการสร้างต้นทุนที่สูงขึ้นของผู้ประกอบการ ทางโครงการจะศึกษาใน 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ เรื่องเศรษฐศาสตร์การลดต้นทุนของผู้ประกอบการ และศึกษามลพิษ สภาวะทางอากาศ สภาพของเครื่องยนต์
“สาเหตุที่ต้องกำหนดอายุรถ ก็เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ ซึ่งส่วนใหญ่สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมาจากคนขับ แต่เนื่องจากสภาพรถเก่ามีอายุมาก จึงส่งผลให้ความรุนแรงของอุบัติเหตุเพิ่มมากขึ้น หากประสิทธิภาพรถอยู่ในสภาพที่ดี ไม่ชำรุด หรือผุพัง จะสามารถลดความรุนแรงนั้นได้”นายพิชัย กล่าว
รายงานข่าวจากกรมการขนส่งทางบกแจ้งว่า คณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ได้กำหนดอายุการใช้งานของรถตู้โดยสารประจำทาง เพื่อความปลอดภัยในการใช้งานและรักษาคุณภาพการให้บริการประชาชน โดยกำหนดให้รถตู้โดยสารประจำทางมาตรฐาน 2 (จ) มีอายุใช้งานไม่เกิน 10 ปี นับจากวันจดทะเบียนครั้งแรก ส่วนผู้ประกอบการขนส่งที่ใช้รถอายุเกินกว่า 10 ปี ที่ให้บริการอยู่ในขณะนี้ ได้รับการผ่อนผันให้ดำเนินการจัดหารถมาเปลี่ยนแทนคันที่หมดอายุภายในวันที่ 1 มิถุนายน 2553
ทั้งนี้มาตรการกำหนดอายุการใช้งานของรถตู้โดยสารประจำทางนอกจากจะช่วยสร้างความสะดวกและความปลอดภัยต่อผู้โดยสารแล้ว ยังช่วยลดปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่เกิดจากสภาพความไม่มั่นคงแข็งแรงของรถโดยสารด้วย เพื่อช่วยยกระดับการให้บริการของรถตู้โดยสารประจำทาง ถ้าพบเห็นรถตู้โดยสารที่มีสภาพไม่มั่นคงแข็งแรง หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมจากการให้บริการ สามารถร้องเรียนได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ หมายเลข 1584
ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 ที่ห้องประชุมราชมังคลา แกรนด์ บอลรูม โรงแรมราชมังคลา พาวีเลี่ยน บีช รีสอร์ท สงขลา อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จัดสัมมนารับฟังความเห็น ครั้งที่ 2 โครงการศึกษาการกำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก โดยมีนายสุชาติ กลิ่นสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรมศาสตร์ กรมการขนส่งทางบก เป็นประธาน มีผู้เข้าร่วมประมาณ 200 คน จาก 14 จังหวัดภาคใต้
ครั้งนั้น นายพิชัย ธานีรณานนท์ หัวหน้าโครงการศึกษาการกำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้นำเสนอที่มาที่ไปของโครงการดังกล่าวต่อที่ประชุม โดยได้นำเสนอภาพเหตุการณ์รถประจำสายหาดใหญ่ - สงขลา ของบริษัท โพธิ์ทองขนส่ง (2505) จำกัด ทะเบียน 10-0147 สงขลา ยางล้อระเบิดขณะรับส่งผู้โดยสารมาถึงบริเวณเขาบันไดนาง ถนนกาญจนวณิชย์ ตำบลน้ำน้อย อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา แรงระเบิดทำให้พื้นรถไม้ฉีกขาด เป็นเหตุให้ผู้โดยสาร ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิง 2 ราย ตกลงบนพื้นถนนเสียชีวิต และมีผู้โดยสารได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยอีก 3 ราย เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2551
โดยนายพิชัย กล่าวต่อที่สัมมนาว่า สาเหตุที่ยางระเบิดจนพื้นไม้ทะลุ สืบเนื่องมาจากสภาพรถเก่า ทำให้พื้นไม้ผุ ไม่มีการดูแลอย่างจริงจัง
โดยรถเมล์โดยสารคันดังกล่าว ได้จดทะเบียนเมื่อปี 2516 จนถึงปัจจุบันมีอายุการใช้งานแล้ว 36 ปี ปัจจุบันยังคงให้บริการอยู่
ขณะที่ในฝั่งผู้ประกอบการอย่าง นายสุพล หงนิพนธ์ กรรมการผู้จัดการบริษัท สหยะลาขนส่ง จำกัด กล่าวต่อที่ประชุมว่า ไม่เห็นด้วยที่จะกำหนดอายุรถโดยสารสาธารณะ เนื่องจากไม่สามารถลงทุนซื้อรถใหม่มาทดแทนได้ ซึ่งการกำหนดอายุรถ ไม่ใช่เป็นวิธีการแก้ปัญหาโดยตรง ที่สำคัญรัฐต้องมีการควบคุมรถที่มีการดัดแปลง เช่น ตัวถัง เครื่องยนต์ การเกิดอุบัติเหตุในแต่ละครั้ง ไม่ได้เกิดจากสภาพรถเพียงอย่างเดียว แต่เกิดจากคนขับรถเป็นส่วนใหญ่
ส่วนนายจำเนียร ทองดี ประธานสหกรณ์เดินรถจังหวัดสุราษฎร์ธานี จำกัด กล่าวว่า รัฐต้องควบคุมรถโดยสารผิดกฎหมาย หรือรถผีให้ได้เสียก่อน เพราะจะทำให้ผู้ประกอบการที่ถูกกฎหมาย มีรายได้เพียงพอที่จะนำมาลงทุนซื้อรถใหม่ได้
ทางด้าน นายเอกบดินทร์ จำเนียรกาล วิศวกรกรมการขนส่งทางบก กล่าวภายหลังสัมมนาว่า หลังโครงการศึกษาการกำหนดอายุการใช้งานรถโดยสารสาธารณะ และรถบรรทุกแล้วเสร็จ คาดว่าจะส่งผลให้มีการแก้ไขกฎหมายให้เหมาะสม และสอดคล้องกับทุกส่วน ทั้งภาครัฐและผู้ประกอบกิจการขนส่ง โดยผู้ประกอบการสามารถอยู่ได้ โครงการดังกล่าวเป็นนโยบายของกรมการขนส่งทางบก เพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้ใช้บริการและเป็นธรรม ผู้ประกอบการก็มีความคุ้มทุน พร้อมทั้งศึกษาข้อดี ข้อเสีย ปัญหา อุปสรรคต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้น ถ้าจะนำผลการศึกษาไปบังคับใช้ เพื่อให้สามารถนำวิธีการ ขั้นตอน พร้อมทั้งแนวทางการแก้ปัญหา ลงสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม
“ก่อนจะกำหนดอายุรถได้ ต้องดูความเป็นเหตุเป็นผล จึงได้ศึกษารับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน แล้วนำเสนอต่อคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ก่อนที่จะกำหนดออกมา เพื่อความปลอดภัย ต้องเข้มงวดให้การตรวจสภาพรถมีมาตรฐาน และมีจำนวนครั้งเพิ่มมากขึ้น ทั้งการตรวจสภาพตัวถังและเครื่องยนต์” นายเอกบดินทร์ กล่าว
เภสัชกรสมชาย ละอองพันธ์ ผู้ประสานงานวิชาการโครงการพัฒนาระบบเครือข่ายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคจังหวัดสงขลา สถาบันวิจัยระบบสุขภาพภาคใต้ เปิดเผยกรณีอุบัติเหตุรถโดยสารบริษัท โพธิ์ทองขนส่ง (2505) จำกัด ล้อยางระเบิดพื้นไม้ทะลุ ทำให้ผู้โดยสารตกลงมาเสียชีวิต 2 ศพ บาเจ็บ 3 คนว่า ทางทนายผู้เสียหายกรณีดังกล่าว ได้เตรียมฟ้องกรมการขนส่งทางบก ต่อศาลปกครองจังหวัดสงขลา และจะฟ้องบริษัท โพธิ์ทองขนส่ง (2505) จำกัด และคนขับรถคันที่เกิดเหตุในคดีผู้บริโภคด้วย
นั่นเป็นตัวอย่างหนึ่งของผู้เสียหายที่ได้รับจากการบริการรถโดยสารสาธารณะเก่า ที่แม้จะผ่านการตรวจสภาพการใช้งานโดยสำนักงานขนส่งจังหวัดทุกปี แม้บางคันต้องตรวจหลายครั้งกว่าจะผ่าน แต่ถึงจะเก่าแค่ไหน ก็ต้องตรวจและให้ผ่านไปได้ เพราะไม่มีการกำหนดอายุการใช้งาน
ข้อมูลจาก ประชาไท 24/8/52