ข่าว/บทความรถโดยสาร

รื้อพรบ.คุ้มครองฯ ช่วยผู้ประสบภัยรถ ดัดหลังบริษัทประกัน ยื้อจ่ายค่าสินไหม

คลังเดินเครื่องดันกฎหมายคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ อ้างช่วยลดปํญหาจ่ายสินไหมช้า "อัมมาร"หนุนรัฐบริหารจัดการเอง ขณะที่ คปภ. และภาคเอกชน ค้านสียงแข็ง อ้างค่าใช้จ่ายเพิ่ม คุมอัตราความเสียหายไม่ได้ หวั่นพุ่งถึง 62%
นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เป็นประธานเปิดการเสวนา "ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ เข้มแข็ง เพียงพอหรือยัง" เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552 โดยมีสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.), สมาคมประกันวินาศภัย, บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประกอบการภัยจากรถ และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าร่วมสัมมนาและให้ข้อมูล

นายสมชัยกล่าวว่า ขณะนี้ได้ร่าง พ.ร.บ.ผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับขึ้นมาใหม่ โดยปรับปรุงจาก พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ที่ใช้มากว่า 17 ปี ซึ่งจากสถิติปี 2550 จำนวนรถยนต์ที่ประกันภัยตาม พ.ร.บ.เดิมมีมากกว่า 25 ล้านคัน เป็นมูลค่าเบี้ยประกันภัยกว่า 10,000 ล้านบาท แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาจ่ายค่าสินไหมทดแทนและการเคลมประกันยุ่งยาก ต้องตรวจสอบอุบัติเหตุก่อนว่า ใครผิดใครถูก ผู้ประสบภัยต้องทดรองจ่ายค่ารักษาพยาบาลไปก่อน ส่งผลให้ผู้ประสบภัยที่ใช้สิทธิตามจริงเพียง 42% ขณะที่ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการค่อนข้างสูงอยู่ที่40% ของรายได้จากรมธรรม์ จำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีและแนวคิดยกเลิกพ.ร.บ.ฉบับเก่า หลังประชุมครั้งนี้จะสรุปข้อมูล เสนอกระทรวงการคลังต่อไป

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)กล่าวว่าจากปัญหาค่าใช้จ่ายดำเนินงานสูงกว่าที่จำเป็น ผู้ประสบภัยจึงได้รับความเดือดร้อนจากระบบที่เป็นอยู่ ภาครัฐควรเข้ามาดูแลเรื่องนี้ และดำเนินการเอง เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารซึ่งจะอำนวยการให้ภาครัฐ ลดค่าใช้จ่ายและขั้นตอนต่างๆลงได้ โดยเสนอให้กรมบัญชีกลางบริหารจัดการจ่ายค่าเสียหายโดยเฉพาะค่าสินไหม ทำให้สถานพยาบาลเบิกค่ารักษาพยาบาลโดยตรงกับกรมบัญชีกลาง ผู้ประสบภัยไม่ต้องสำรองจ่ายและทุกคนได้รับอย่างเท่าเทียมกันและทันที ไม่ต้องรอผลพิสูจน์ทางกฎหมาย และลดค่าใช้จ่ายจาก 38% เหลือ 6% ของเบี้ยประกันภัย เท่ากับการจ่ายเงินจะมีความรวดเร็ว ป้องกันการรั่วไหล ผู้ประสบภัยได้รับอย่างเต็มที่

นายวิวัฒน์ เกิดไพบูลย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมาย สำนักงาน คปภ. กล่าวว่า ยินดีรับฟังข้อคิดเห็นต่างๆ ยอมรับว่า ปัจจุบันมีปัญหาในส่วนของบริษัทประกันวินาศภัยที่ไม่ค่อยดูแลหรือให้ความคุ้มครองผู้เอาประกัน แต่ตามกฎหมายประกันภัยเอง ก็มีบทลงโทษบริษัทที่ประวิงการจ่ายค่าสินไหม จึงเชื่อว่าหากมีการปรึกษาร่วมกันทั้งภาครัฐและเอกชน ปัญหาจะไม่มี ยังเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนมั่นใจธุรกิจประกันภัยด้วย 

ขณะที่นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด มีท่าทีไม่ค่อยเห็นด้วย โดยกล่าวว่า เมื่อ พ.ร.บ. ใหม่เกิดขึ้นจะทำให้เพิ่มภาระค่าใช้จ่ายของภาครัฐมากกว่าลด เพราะลอซเรโช(อัตราความเสียหาย)ไม่สามารถควบคุมได้ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักคณิตศาสตร์ประกันภัย เนื่องจากผู้ประสบภัยที่เกิดอุบัติเหตุไม่ว่าจะทำประกันหรือไม่ สามารถรักษากับสถานพยาบาลได้ คาดว่าจะส่งผลให้ลอซเรโชสูงถึง 62%
ข้อมูลจาก นสพ. แนวหน้า วันที่ 20/8/2009

พิมพ์ อีเมล