ใครได้ใครเสีย ปฏิรูป พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยทางรถ
เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.). จำนวนผู้ชม: 5675
ปัญหาการใช้สิทธิจาก พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภายใต้ระบบการประกันภัยรถภาคบังคับ ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ในความดูแลของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และบริษัทประกันภัย
ที่ใช้มากว่า 17 ปี แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นมากมายจากการขอใช้สิทธิ แม้จะมีการปรับปรุงใหม่มาแล้ว 4 ครั้งก็ตาม
ทั้งนี้จากข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พบว่า ผู้ประสบภัยจากรถส่วนใหญ่คิดเป็นประมาณ 55.3 % ของกลุ่มตัวอย่างไม่ได้ใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ แต่เลือกที่จะใช้สิทธิอื่น ๆ แทน เนื่องจากพบว่ามีความยุ่งยากในการเดินเรื่อง ต้องเสียเวลาในการติดตามนานถึงแม้ว่าจะเป็นการได้รับบาดเจ็บเล็กน้อยไม่มีเสียค่าใช้จ่ายมาก ส่วนอีก 42% ของผู้ประสบภัยจากรถที่ขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถก็ยังไม่ได้รับสิทธิอย่างแท้จริง เพราะมีปัญหามากมายจากการขอใช้สิทธิ
ขณะนี้ทั้งนักวิชาการและภาคประชาชน ต่างเห็นตรงกันว่า ควรมีการปรับเปลี่ยนการบริหารจัดการ โดยการยกเลิกกฎหมายเดิม เสนอให้มีการออกกฎหมายฉบับใหม่ เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ทั้งยังหยิบยกประเด็น ในแง่ของปัญหาค่าใช้บริหารงานสูงถึง 41% ถือว่า เกินความจำเป็น (อ่านตารางประกอบ) จากสถิติปี 2550 จำนวนรถยนต์ที่ประกันภัยตาม พ.ร.บ.เดิมมีมากกว่า 25 ล้านคัน เป็นมูลค่าเบี้ยประกันภัยกว่า 10,000 ล้านบาท จนนำไปสู่การระดมความคิดเห็น ว่า ควรปรับปรุงเปลี่ยนแปลงพระราชบัญญัติผู้ประสบภัยทางรถ พ.ศ. 2535 ในประเด็นสำคัญอะไรบ้าง
กระทั่ง ดร.อัมมาร์ สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ได้เสนอแนวทางการบริหารจัดการการคุ้มครองผู้ประสบภัยทางจากรถระบบใหม่ โดยให้กรมขนส่งทางบกรับเบี้ยประกันภัยพร้อมกับการรับค่าจดทะเบียนหรือค่าต่อทะเบียนรถ ,กรมบัญชีกลางบริการจัดการค่าสินไหม (สามารถปรับเปลี่ยนได้) เป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ ทำหน้าที่กำหนดนโยบาย เบี้ยประกัน กำกับและติดตามดูแล กองทุนประกันสุขภาพภาครัฐ (สปสช. สปส. กรมบัญชีกลาง) , สำนักงานการแพทย์ฉุกเฉิน และกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำหน้าที่จ่ายชดเชยต่างๆ
ล่าสุด สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ซึ่งถือว่าเป็นคนกลาง ได้เปิดเวทีเสวนา "ความคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถภาคบังคับ เข้มแข็ง เพียงพอหรือยัง" เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2552ที่ผ่านมา เพื่อระดมความคิดเห็นจากหลายฝ่าย โดยเชิญ คปภ. , สมาคมประกันวินาศภัย, บริษัทกลางคุ้มครองผู้ประกอบการภัยจากรถ,สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าร่วมสัมมนาและให้ข้อมูล เพื่อหลังจากนี้อีก 15 วัน ทางสศค. จะทำการสรุปข้อมูลและข้อคิดเห็นต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อกระทรวงการคลังเป็นผู้ชี้ขาดเพื่อนำเสนอต่อรัฐบาลพิจารณาต่อไป
สำหรับบรรยากาศบนเวทีเสวนานี้ แม้ตัวแทนบริษัทประกันภัย จะชี้แจงในทุกข้อโต้แย้งปัญหาต่างๆ ด้วยหลักการประกันภัย พ.ร.บ. ที่ไม่ใช่เหมือนระบบการประกันตน อย่างกองทุนประกันสุขภาพระบบอื่นๆ และได้พยายามปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่นายวิวัฒน์ เกิดไพบูลย์ ผู้ช่วยเลขาธิการสายกฎหมาย คปภ. กล่าวว่า หาก พ.ร.บ. ฉบับเดิมมีปัญหา ก็สามารถปรับปรุงแก้ไขได้ และตามกฎหมายก็มีบทลงโทษบริษัทประกันที่ประวิงการจ่ายค่าสินไหมอยู่แล้ว หากร่วมกันปรับปรุงทั้งภาครัฐและภาคเอกชนจะส่งเสริมการประกันภัยให้ประชาชนเกิดความมั่นใจมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องยกเลิกหรือเปลี่ยนระบบใหม่ เพราะถ้าทุกหน่วยงานเดินตามกฎหมายแก้ไขปัญหาได้อยู่แล้ว นายสมพร สืบถวิลกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัทกลางฯ เตรียมแจ้งความคืบหน้าให้กับทุกบริษัทประกันภัยเตรียมตัวรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ เพราะมองว่าหลังจากนี้การใช้ พ.ร.บ. ฉบับใหม่ มีความเป็นไปได้มากกว่า 50%
จากการที่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และในฐานะเป็นประธานเปิดการเสวนา กล่าวว่า ที่ผ่านมาแม้ คปภ. และบริษัทประกันจะพยายามแก้ไขปัญหา แต่ก็ยังสร้างปัญหาอยู่ จึงจำเป็นต้องเปลี่ยนวิธีและแนวคิดในการยกเลิก พ.ร.บ.ฉบับเก่า เช่นเดียวกับดร.อัมมาร ยืนยันว่า หน่วยงานของรัฐบาลมีความสามารถควบคุมสินไหมและการบริหารจัดการกองทุนได้ดีกว่าภาคเอกชนแน่นอน และคปภ.กับบริษัทประกันภัย ไม่สมควรที่จะเข้ามายุ่งเกี่ยวอีก เพราะที่ผ่านมา คปภ. ไม่มีความสามารถและไม่เข้มงวดที่ดีพอในการควบคุมการให้บริการของบริษัทประกันภัยทั้งหมด จึงส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งหมดขึ้น และควรเร่งเสนอให้มีการแก้กฎหมายเดิม โดยเฉพาะเรื่องการบริหารจัดการกองทุน เพราะสมควรให้มีหน่วยงานที่ดูแลอย่างเป็นกลางมากที่สุด
อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้ว ความเป็นไปได้ที่จะคลอด พ.ร.บ. ฉบับใหม่จึงมีความเป็นไปได้สูงมาก ทำให้ผลประโยชน์ตกสู่ภาครัฐโดยตรง จากเดิมบริษัทประกันภัย และคปภ. สามารถบริหารกองทุนนี้มีกำไรถึง 14% หากรัฐบาลบริหารรัดกุมก็จะสามารถสร้างรายได้ ในช่วงรัฐถังแตกได้ทางหนึ่ง และลดการเบียดบังเงินจากกองทุนประกันสุขภาพอื่นๆ ที่ใช้งบอุดหนุนจากรัฐบาลสูงอยู่แล้ว
แต่ระบบทางเลือกใหม่นี้ จะทำให้ประชาชนจะได้สิทธิประโยชน์เต็มที่ในระยะยาวจริงหรือไม่ ยังเป็นประเด็นต้องติดตาม ว่าภาครัฐจะบริหารความเสี่ยงอย่างไร ค่าบริหารเพียงพอจริงหรือไม่ รัฐต้องอุดหนุนหรือเพิ่มเบี้ยประกันภัย หรือปรับลดความคุ้มครองน้อยกว่าที่นำเสนอหรือในปัจจุบัน ก็จะกลายเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายที่ประชาชนในภายหลังด้วยเช่นกัน
พิมพ์
อีเมล