วิจัยความ ปลอดภัยทางถนน แฉ 10 วัน รถทัวร์คว่ำคร่า 20 ศพ เจ็บอื้อ ชี้ คนขับต้องมีทักษะ เปลี่ยนมือสำรองทุก 400 กิโล ติดจีพีเอสคุมความเร็วพร้อมอุปกรณ์หน่วงเวลาเบรก ย้ำต้องทำประกันรับผิดชอบค่ารักษาเวลาเกิดอุบัติเหตุ
นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีเหตุการณ์รถทัวร์ประสบอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.คณะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จ.สมุทรปราการ ไปดูงานที่ภาคใต้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต 17 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 28 ราย และล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ห่างกันเพียง 11 วัน ก็เกิดรถทัวร์ของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร จ.เชียงใหม่ พลิกคว่ำที่ ต.ก๊อ อ.ลี้ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน ทำให้ผู้เสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 45 คน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเดิมๆ อาทิ ความปลอดภัย ตั้งแต่พนักงานขับรถไปจนถึงตัวรถ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข เชื่อปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกแน่นอน
นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหา ควรเริ่มตั้งแต่ 1.พนักงานขับรถมีความชำนาญเส้นทาง มีประสบการณ์ในการขับรถ ซึ่งต้องเข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับขี่สำหรับพนักงานขับรถในกลุ่มนี้โดย เฉพาะ 2.กำหนดให้มีคนขับสำรองในกรณีที่ต้องเดินทางไกล โดยเฉพาะระยะทางที่มากกว่า 400 กิโลเมตร 3.ศึกษาเส้นทางที่จะเดินทางว่าเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือไม่ เพื่อเตรียมการเดินทาง 4.ส่งเสริมให้ติดตั้งจีพีเอส หรืออุปกรณ์ที่ช่วยกำกับพฤติกรรมขับขี่ของคนขับ ว่า มีการขับเร็วเกินกำหนด การออกนอกเส้นทาง หรือไม่ บริษัทจะสามารถติดตามพฤติกรรมการขับขี่ และสั่งให้พนักงานเปลี่ยนมาขับขี่อย่างปลอดภัย 5.ตัวรถ และอุปกรณ์ความปลอดภัย ควรกำหนดให้รถทัศนาจรสองชั้น ต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เช่น การมีระบบช่วยหน่วง ในขณะเบรก การกำหนดให้มีเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่งด้วย
“ที่ สำคัญ ควรกำหนดและระบบตรวจสอบให้รถทัศนาจรทุกคันต้องทำประกันภัย เพราะหลายกรณีพบว่า รถทัศนาจรที่ประสบเหตุเป็นของส่วนบุคคล และขาดการต่อสัญญาประกันภัย โดยให้บริษัทประกันเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก แทนให้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลประเภทอื่นๆ เช่น สิทธิสวัสดิการข้าราชการ เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่สะท้อนต้นทุนของระบบประกันภัย อุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะในแต่ละปีมีจำนวนมาก และเมื่อเกิดเหตุจะมีผู้เกี่ยวข้องหลายราย แต่ขั้นตอนช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนการฟ้องคดี มักใช้เวลานาน ถ้าสามารถผลักดันให้มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยา จะเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ประสบภัย จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง หรือยอมความกันอีกขั้นตอนหนึ่ง” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว
ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต
ข่าวโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 มิถุนายน 2552 17:09 น.