ข่าว/บทความรถโดยสาร

ขั้นตอนการใช้สิทธิเมื่อคุณเกิดอุบัติเหตุ

เมื่อเกิดขึ้นอุบัติเหตุ ใครหลายคนมักทำอะไรไม่ถูก นับหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาหรือใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคมีคำแนะนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติดังนี้

 

 

 

 


 

1. ใช้สิทธิตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 (พ.ร.บ. รถฯ) 

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.2535 กรมธรรม์ ที่ทำหลังวันที่ 1 มกราคม 2553

  ตรวจสอบข้อเท็จจริง
- ชื่อ-ที่อยู่ หมายเลขโทรศัพท์ของผู้ประสบภัย หรือทายาท
- รถคันที่เกิดเหตุ (คันที่ผู้ประสบภัยโดยสารมา) ทำประกันภาคบังคับ(พ.ร.บ.) กับบริษัทใด
- ผู้ประสบภัยบาดเจ็บ - เสียชีวิต หรือ ทำการรักษาแล้วจึงเสียชีวิตภายหลัง หรือ ต้องรักษาต่อเนื่องหลังออกจากโรงพยาบาลแล้ว) อาการของผู้บาดเจ็บ
- ทำการรักษาที่โรงพยาบาลใด
- สถานีตำรวจที่รับผิดชอบคดีที่ไหน

สิทธิที่เกี่ยวข้อง
     1. ค่ารักษาพยาบาล สามารถขอรับได้จากบริษัทประกันภัยซึ่งรถโดยสารและรถยนต์ที่เกิดเหตุแต่ละคันจะต้องทำประกันภัยไว้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ) ทั้งนี้เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงรายละไม่เกิน 5 หมื่นบาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลที่ผู้ประสบภัยไปรับการรักษาจะเป็นผู้ทำเรื่องรับแทน
     

2. ค่าปลงศพ กรณีของผู้เสียชีวิตให้ทายาทโดยธรรม อาทิ พ่อ-แม่ หรือคู่สมรส ติดต่อขอรับจากบริษัทประกันภัยซึ่งรถที่เกิดเหตุแต่ละคันทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ) เช่นเดียวกัน จำนวนรายละ 2 แสนบาท (ทั้งนี้รวมค่ารักษาพยาบาลที่เกิดขึ้นก่อนเสียชีวิตด้วยหากมี) ความคุ้มครองดังกล่าวบังคับเฉพาะรถยนต์ที่ซื้อ “ กรมธรรม์ หลังวันที่ 1 มกราคม 2553” ถ้าซื้อก่อนหน้านี้จะมีความคุ้มครองที่จำนวนเงิน 1 แสนบาท

หมายเหตุ   จำนวนเงิน  2 แสนบาท ในกรณีที่ผู้ประสบภัย เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร

 

 

3. เงินชดเชยรายวัน วันละ  200 บาท  รวมกันไม่เกิน 20 วัน สำหรับการชดเชยรายวันกรณี เข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนใข้ใน (กรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล) 


ขั้นตอนการดำเนินการ
- เตรียมเอกสารหลักฐาน ดังนี้
1. ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล / สถานพยาบาล
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ ออกให้ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้มีชื่อในบัตรเป็นผู้ประสบภัย
3. สำเนากรมธรรม์ประกันภัย หรือ เครื่องหมายที่แสดงว่ารถมีประกันภัย
4. สำเนาใบมรณะบัตร กรณีเสียชีวิต
5. สำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ
6. สำเนาทะเบียน และสำเนาบัตรประจำตัวของทายาทกรณี ผู้ประสบภัยเสียชีวิต

- ดำเนินการเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทประกันภัย ภายใน 180 วัน หลังจากที่เกิดเหตุ

- หากรถที่เกิดเหตุมี พ.ร.บ. แต่ประวิงเวลาในการจ่ายค่าเสียหายให้ผู้ประสบภัยติดต่อเรียกร้องค่าเสียหายได้ที่บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด

- หากรถที่เกิดเหตุไม่มี พ.ร.บ. ให้ผู้ประสบภัยติดต่อขอรับค่าสินไหมเบื้องต้นได้ที่ กองทุนผู้ประสบภัยจากรถ (คปภ.จังหวัด) ทุกจังหวัด

2. ใช้สิทธิในส่วนของการเรียกร้องจากกรมธรรม์ภาคสมัครใจและบริษัทรถโดยสาร
ตรวจสอบข้อเท็จจริง
- บริษัทรถได้มีการทำกรมธรรม์ไว้กับบริษัทใด ประเภทของกรมธรรม์(ประเภท 1-5)
- หน้ากรมธรรม์ระบุมูลค่าความคุ้มครองเท่าใด(ต่อคนต่อครั้ง) แยกเป็นกรณีบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต
สิทธิที่เกี่ยวข้อง
- ได้รับการชดเชยเต็มสิทธิในมูลเงินหน้ากรมธรรม์ประกันภัยนั้นๆ

ขั้นตอนการดำเนินการ
- เตรียมเอกสารหลักฐาน ดังนี้
1. ใบเสร็จรับเงินค่ารักษาพยาบาลของโรงพยาบาล / สถานพยาบาล
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหลักฐานอื่นใดที่ทางราชการเป็นผู้ ออกให้ ที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าผู้มีชื่อใน
บัตรเป็นผู้ประสบภัย
3. สำเนากรมธรรม์ประกันภัย หรือ เครื่องหมายที่แสดงว่ารถมีประกันภัย
4. สำเนาใบมรณะบัตร กรณีเสียชีวิต
5. สำเนาบันทึกประจำวันตำรวจ
6. สำเนาทะเบียน และสำเนาบัตรประจำตัวของทายาทกรณี ผู้ประสบภัยเสียชีวิต
- ประเมินค่าเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนี้

กรณีบาดเจ็บ
- ค่ารักษาพยาบาลค่าใช้จ่าย
- ค่าเสียความสามารถในการประกอบการงานในอนาคต
- ค่าเสียหายอย่างอื่นที่มิใช่ตัวเงิน
- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ระหว่างเจ็บป่วย
- ค่าความเสียหายต่อทรัพย์สิน

กรณีเสียชีวิต
- ค่าขาดไร้อุปการะ
- ค่าปลงศพ
- ค่าใช้จ่ายอันจำเป็น
- ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย ไม่จำกัดสิทธิของข้าราชการหรือรัฐวิสาหกิจ
- ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย
- ค่าขาดการงานในครัวเรือน


ข้อควรระวัง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคใคร่ขอเรียนให้ท่านมีความระมัดระวังในการพิจารณารับค่าสินไหมทดแทนทั้งจากบริษัทรถยนต์และบริษัทประกันภัย หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือเอกสารข้อตกลงใด ๆ ว่า ท่านยินยอมรับเงินค่าเสียหายโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทรถยนต์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ และท่านได้ลงลายมือชื่อยินยอม การกระทำดังกล่าว หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเพิ่มเติมในภายหลัง ท่านจะไม่สามารถนำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศาลได้
 
3.สิทธิการเรียกร้องตามกฎหมาย วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2551
- สามารถขอแบบฟอร์มได้ที่ศาล(แจ้งข้อเท็จจริงเพื่อเจ้าหน้าที่ศาลจะเขียนให้)
- สามารถขอให้เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์เขียนคำฟ้องให้โดยติดต่อด้วยตนเองที่สำนักงานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
- ผู้ร้องสามารถเขียนเองได้ (เขียนจากบ้าน โดยโหลดแบบฟอร์มจาก www.consumerthai.org ) หรือขอแบบฟอร์มจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค โดยส่งซองเปล่า ใส่แสตมป์ 20 บาท มาด้วย อย่าแปะหน้าซอง

เลือกศาลที่เหมาะสม
- ศาลที่มูลคดีเกิด(ตามวิ.แพ่ง) หรือ ศาลที่อยู่ในภูมิลำเนาของผู้ประกอบการ
- ตามมูลค่าทุนความเสียหาย
• กรณีต่ำกว่า 3 แสน ฟ้องศาลแขวง
• กรณีสูงกว่า 3 แสน ฟ้องศาลแพ่ง ( รัชดา ) หรือศาลจังหวัด ทุกจังหวัด

 

ข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับผู้บริโภค

 

อันดับ
รายละเอียด
เอกสารที่เกี่ยวข้อง
1
กรณีที่ผู้เสียหายไม่สามารถฟ้องได้เอง ทำหนังสือมอบอำนาจให้ผู้อื่นฟ้องร้องแทน
- เอกสารที่ใช้ สำเนาบัตรประชาชน / ทะเบียนบ้าน ผู้มอบอำนาจ และผู้รับมอบ
- ติดอากรแสตมป์ 30 บาท ในใบมอบอำนาจ
2
ตัวอย่างคำฟ้อง สามารถขอได้ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
โดยส่งซองเปล่า ใส่แสตมป์ 50 บาท มาด้วย อย่าแปะหน้าซอง

 


     ดังนั้น หากท่านไม่มั่นใจ มีข้อสงสัย หรือประสบปัญหา ในการการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยหรือจากผู้ประกอบการบริษัทรถโดยสาร ท่านสามารถขอคำปรึกษา หรือขอให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ช่วยเหลือดำเนินการแทนท่านในการเจรจาต่อรอง หรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเพื่อให้ท่านได้รับการชดเชยค่าเสียหายเต็มตามสิทธิอันพึงมีพึงได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ


ติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)
ฝ่ายศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
4/2 ซอยวัฒนโยธิน แขวนถนนพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400
โทรศัพท์ : 02-248-3734-37
แฟกส์ : 02-248-3733

 

พิมพ์ อีเมล