ข่าว/บทความรถโดยสาร

วิจัยความปลอดภัยทางถนน แฉ 10 วัน รถทัวร์คว่ำคร่า 20 ศพ ชี้ต้องเปลี่ยนมือขับทุก 400 กม.

วิจัยความ ปลอดภัยทางถนน แฉ 10 วัน รถทัวร์คว่ำคร่า 20 ศพ เจ็บอื้อ ชี้ คนขับต้องมีทักษะ เปลี่ยนมือสำรองทุก 400 กิโล ติดจีพีเอสคุมความเร็วพร้อมอุปกรณ์หน่วงเวลาเบรก ย้ำต้องทำประกันรับผิดชอบค่ารักษาเวลาเกิดอุบัติเหตุ


       
       นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ (มสช.) กล่าวว่า ขณะนี้มีเหตุการณ์รถทัวร์ประสบอุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 5 มิ.ย.คณะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน จ.สมุทรปราการ ไปดูงานที่ภาคใต้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต 17 ศพ บาดเจ็บอีกกว่า 28 ราย และล่าสุด เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ห่างกันเพียง 11 วัน ก็เกิดรถทัวร์ของสมาชิกสหกรณ์การเกษตร จ.เชียงใหม่ พลิกคว่ำที่ ต.ก๊อ อ.ลี้ ในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง จ.ลำพูน ทำให้ผู้เสียชีวิต 7 คน บาดเจ็บ 45 คน สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นปัญหาเดิมๆ อาทิ ความปลอดภัย ตั้งแต่พนักงานขับรถไปจนถึงตัวรถ ที่ไม่ได้รับการแก้ไข เชื่อปัญหาดังกล่าวจะเกิดขึ้นในอนาคตอีกแน่นอน
       
       นพ.ธนะพงศ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหา ควรเริ่มตั้งแต่ 1.พนักงานขับรถมีความชำนาญเส้นทาง มีประสบการณ์ในการขับรถ ซึ่งต้องเข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับขี่สำหรับพนักงานขับรถในกลุ่มนี้โดย เฉพาะ 2.กำหนดให้มีคนขับสำรองในกรณีที่ต้องเดินทางไกล โดยเฉพาะระยะทางที่มากกว่า 400 กิโลเมตร 3.ศึกษาเส้นทางที่จะเดินทางว่าเสี่ยงต่ออุบัติเหตุหรือไม่ เพื่อเตรียมการเดินทาง 4.ส่งเสริมให้ติดตั้งจีพีเอส หรืออุปกรณ์ที่ช่วยกำกับพฤติกรรมขับขี่ของคนขับ ว่า มีการขับเร็วเกินกำหนด การออกนอกเส้นทาง หรือไม่ บริษัทจะสามารถติดตามพฤติกรรมการขับขี่ และสั่งให้พนักงานเปลี่ยนมาขับขี่อย่างปลอดภัย 5.ตัวรถ และอุปกรณ์ความปลอดภัย ควรกำหนดให้รถทัศนาจรสองชั้น ต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เช่น การมีระบบช่วยหน่วง ในขณะเบรก การกำหนดให้มีเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่งด้วย
       
       “ที่ สำคัญ ควรกำหนดและระบบตรวจสอบให้รถทัศนาจรทุกคันต้องทำประกันภัย เพราะหลายกรณีพบว่า รถทัศนาจรที่ประสบเหตุเป็นของส่วนบุคคล และขาดการต่อสัญญาประกันภัย โดยให้บริษัทประกันเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก แทนให้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลประเภทอื่นๆ เช่น สิทธิสวัสดิการข้าราชการ เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่สะท้อนต้นทุนของระบบประกันภัย อุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะในแต่ละปีมีจำนวนมาก และเมื่อเกิดเหตุจะมีผู้เกี่ยวข้องหลายราย แต่ขั้นตอนช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนการฟ้องคดี มักใช้เวลานาน ถ้าสามารถผลักดันให้มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยา จะเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ประสบภัย จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง หรือยอมความกันอีกขั้นตอนหนึ่ง” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

 

 

ภาพประกอบจาก อินเทอร์เน็ต
ข่าว
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 17 มิถุนายน 2552 17:09 น.
      

พิมพ์ อีเมล