นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว ผู้ประสานงานโครงการการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อรถโดยสารปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า เห็นด้วยกับกรมการขนส่งทางบก ที่เตรียมออกมาตรการป้องกันอุบัติเหตุในการขนส่งวัตถุอันตราย ทั้งด้านตัวรถ พนักงานขับรถ และผู้ประกอบการขนส่ง โดยด้านตัวรถได้มีการกำหนดให้รถบรรทุกวัตถุอันตรายต้องติดตั้งเครื่องบันทึกข้อมูลการเดินทางของ รถ (GPS Tracking) เพื่อให้สามารถติดตาม ควบคุม กำกับดูแล พนักงานขับรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2556 เป็นต้นไป
แต่อย่างไรก็ตามอยากให้กรมการขนส่งทางบก เห็นความสำคัญของการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสาร 24 ชั่วโมงด้วยเช่นกัน ซึ่งทาง มูลนิธิ เพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนจำนวน 72 จังหวัด รวมถึงเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอันประกอบด้วย นักวิชาการจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.)คณะทำงานสนับสนุนการป้องกัน อุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ร่วมกันเข้ายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2555 ขอให้จัดตั้ง“ศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางตลอด 24 ชั่วโมง” และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสและกล่องเก็บข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะประจำทาง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ
“รถโดยสารสาธารณะประจำทางขนาดใหญ่และรถตู้โดยสารประจำทาง นับเป็นบริการสาธารณะสำคัญที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้เดินทางในเส้นทาง ระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังส่วนภูมิภาค และใช้เดินทางระหว่างจังหวัดในส่วนภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เฉลี่ย 11-12 ล้านคนต่อปี และหากรวมกับผู้โดยสารที่ใช้บริการกับผู้ประกอบการรถร่วมที่มีจำนวนรถ มากกว่ารถของ บขส.ถึง 10 เท่าตัว จึงคาดว่าน่าจะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 100 ล้านคนต่อปี ดังนั้น การที่รัฐบาลสนับสนุนให้รัฐบาลมีมาตรการในการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถ ตลอด 24 ชั่วโมง และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสรวมทั้งกล่องบันทึกข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะ ประจำทางเพื่อให้การกำกับดูแลการเดินรถมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องที่มีความคุ้มค่าและสมควรเร่งดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายเห็นว่าการหาทางป้องกันเฝ้าระวังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น มากกว่าการมาชดเชยเชยเยียวยากันหลังเกิดเหตุแล้ว เพราะบางครั้งความสูญเสียของผู้ประสบภัยไม่สามารถคำนวณมาเป็นตัวเลขความเสีย หายได้ โดยเฉพาะผู้โดยสารที่ตัดสินใจเสียเงินใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ก็ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทั้งด้านบริการ และความปลอดภัยควบคู่กันไป ผู้ให้บริการไม่ใช่แค่มีหน้าที่เร่งขับรถไปให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างรวด เร็วเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้ที่โดยสารมาด้วย ” นางสาวสวนีย์กล่าว