ข่าว/บทความรถโดยสาร

ศาลชั้นต้นสั่งจ่าย 1.9 ล้าน ให้แม่เหยื่อที่เสียชีวิตจากรถร่วม บขส. ยางระเบิดตกร่องกลางถนน

คดีบัณฑิตยสาวคณะสาธารณสุขศาสตร์ ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต จากการโดยสารรถประจำทางร่วม บขส. สาย นครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ พลิกคว่ำโดยมีสาเหตุมาจากยางล้อหลังข้างซ้ายระเบิด จนไม่สามารถควบคุมรถได้ เสียหลักตกท้องร่องกลางถนนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 5 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2555 ศาลชั้นต้นได้มีพิพากษาให้คนขับรถโดยสาร,เจ้าของรถ, และ บขส. ชดเชยเงินเกือบ 2 ล้านบาท ให้กับมารดาผู้เสียชีวิต

 

 

โดยคดีนี้ นางปุ่น ชุ่มพระ ซึ่งเป็นแม่ของ นางสาวภัทราพร  ชุ่มพระ บัณฑิตยเกียรตินิยม จากคณะสาธารณสุขศาสตร์และเทคโนโลยีสุขภาพ  สาขาสาธารณสุขศาสตร์  วิทยาลัยนครราชสีมา เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายทองใบ  ศรีโนรักษ์ คนขับรถร่วม บขส. บริษัทประหยัดทัวร์ , นายอุบล เมโฆ เจ้าของรถ , บริษัทขนส่ง จำกัด หรือ บขส. และบริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด เป็นจำเลยฐานผิดสัญญารับส่งคนโดยสาร เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2555 เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน 7,342,249  บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันเกิดเหตุ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กรณีที่นางสาวภัทราพร  ชุ่มพระ ได้โดยสารรถร่วม บขส. ปรับอากาศ ชั้น 2 (ป.2)  ของบริษัท ประหยัดทัวร์ หมายเลขทะเบียน 10-6539 นครราชสีมา เส้นทาง สาย นครราชสีมา-อุดรธานี-ขอนแก่น-ศรีเชียงใหม่ ที่นายทองใบ  ศรีโนรักษ์ เป็นผู้ขับขี่ เพื่อเดินทางไปสมัครงานหลังเรียนจบ จนเกิดอุบัติเหตุเมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554  สาเหตุเพราะยางล้อหลังข้างซ้ายได้เกิดระเบิดขึ้น จึงทำให้คนขับไม่สามารถบังคับรถได้ เสียหลักตกลงตกลงไปในร่องกลางถนนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทันที 5 ศพ และมีผู้ได้รับบาดเจ็บอีกเป็นจำนวนมาก

 

ศาลชั้นต้นพิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า ในคดีอาญานายทองใบ  ศรีโนรักษ์ ให้การรับสารภาพ และถูกพิพากษาว่าขับรถโดยประมาท ต้องรับผิดชอบความเสียหายในทางแพ่งด้วย อีกทั้งพฤติการณ์ของจำเลย ขับรถด้วยความประมาท ปราศจากความระมัดระวังด้วยความเร็วสูง เสียหลักออกไปนอกเส้นทางเดินรถ จนไม่สามารถบังคับรถได้ ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ ตะแคงซ้ายอย่างรุนแรง ทำให้ผู้ตายเสียชีวิตในทันที และเหตุที่เกิดขึ้นไม่ถือว่าเป็นความผิดของผู้ตาย เพราะจำเลยย่อมรู้ว่าสภาพรถไม่ปลอดภัยควรดูแลรักษาอุปกรณ์ ส่วนควบ ให้อยู่ในสภาพปกติก่อนนำออกใช้ อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นจึงเป็นความผิดของจำเลยที่ 1,3 และ 4  ต้องร่วมรับผิดชอบพิพากษาให้จ่ายค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ ร่วมกันจำนวน  1,370,540 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี  ของต้นเงิน จำนวน  240,540 บาท นับแต่วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2554  จนถึงวันพิพากษา และให้ร่วมจ่าย จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ และให้ จำเลยที่ 1,3 และ 4  ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความ 10,000 บาทให้แก่โจทก์ด้วย รวม เป็นเงิน 1,621,080 บาท โดยก่อนหน้าที่จะมีคำพิพากษา ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยที่ศาล ทางบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด ในฐานะจำเลยที่ 5 ได้ตกลงยินยอมจ่ายเงินค่าสินไหมทดแทนจำนวน 350,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามที่กรมธรรม์ระบุไว้ โจทก์จึงถอนฟ้องไปก่อน ส่วนด้าน พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ของ บริษัทส่งเสริมประกันภัย จำกัด ได้จ่ายค่าปลงศพให้เป็นจำนวนเงิน 200,000 บาท หลังเกิดเหตุเรียบร้อยแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายจำเลยไม่ได้มาฟังคำพิพากษาแต่อย่างใด ซึ่งแม่ของนางสาวภัทราพร กล่าวว่า ดีใจที่ศาลให้ความเป็นธรรม และระยะเวลาก็รวดเร็วไม่นานอย่างที่ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการบางแห่ง ที่ได้บอกกับตนไว้ก่อนยื่นฟ้อง ว่าต้องใช้เวลานานนับ 10 ปี และก็อาจจะไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆอีกด้วย แต่หลังจากที่ตัดสินใจดำเนินการฟ้องร้องก็พบว่า กฎหมายผู้บริโภคใช้ระยะเวลาดำเนินการเพียง 7 เดือนเท่านั้น ก็มีคำพิพากษาแล้ว

 

“ แม้ว่าวันนี้จะไม่ได้ชีวิตลูกสาวกลับคืนมา และจะไม่มีอะไรชดใช้ได้ก็ตาม แต่ก็สะท้อนให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุในลักษณะทำนองนี้ นอกจากคนขับแล้ว ผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันรับผิดชอบด้วย ขอให้เป็นอุทธาหรณ์ให้ทุกฝ่ายระมัดระวัง โดยเฉพาะเจ้าของรถ ก่อนจะออกจากสถานีก็ควรตรวจสอบรถโดยสารให้มีสภาพพร้อมใช้งาน เพราะชีวิตของผู้โดยสารฝากไว้ที่คุณแล้ว  ดิฉันเองก็มีลูกแค่คนเดียว ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังทำใจไม่ได้ เพราะลูกคือความหวังของชีวิต ” นางปุ่น กล่าว

พิมพ์ อีเมล