ข่าว/บทความรถโดยสาร

ผู้บริโภคและนักวิชาการฯยื่นข้อเสนอ รมต.คมนาคม ตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสาร 24 ชั่วโมง

“เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน ยื่นข้อเสนอรมต.คมนาคม ตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสาร  24 ชั่วโมง ลดอุบัติเหตุซ้ำซาก ย้ำ !!! เพราะชีวิตคนไม่ใช่ผักไม่ใช่ปลา”

วันนี้ (18  กรกฎาคม 2555) เวลา 10.00 น. ที่กระทรวงคมนาคม ถนนราชดำเนิน มูลนิธิ เพื่อผู้บริโภค เครือข่ายผู้บริโภคภาคประชาชนจำนวน 72 จังหวัด รวมถึงเครือข่ายนักวิชาการเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอันประกอบด้วย นักวิชาการจาก ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน(ศวปถ.)คณะทำงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรระดับจังหวัด (สอจร.) สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และ ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) เข้ายื่นหนังสือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ขอให้จัดตั้ง“ศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางตลอด 24 ชั่วโมง” และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสและกล่องเก็บข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะประจำทาง เพื่อลดปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ

 

จากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะประจำทางที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 1-2 ปี ที่ผ่านมาจนมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากทั้งที่เป็นผู้โดยสารชาว ไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลต่อความเชื่อมั่นในการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะประจำทางของประชาชนโดย ทั่วไป รวมถึงส่งผลเสียหายต่อภาพลักษณ์ของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและชื่อเสียงของ ประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม

 

นายแพทย์ธนะพงษ์  จินวงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เปิดเผยว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายขนส่ง มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดมาตรการเกี่ยวกับความปลอดภัยและความสะดวกในการขน ส่งทางบกซึ่งรวมถึงรถโดยสารสาธารณะประจำทาง ต้องทำหน้าที่กำหนดนโยบายและกำกับดูแลด้านความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด โดยให้มีการพัฒนาและจัดตั้ง “ศูนย์ควบคุมการเดินรถโดยสารสาธารณะประจำทางตลอด 24 ชั่วโมง” ขึ้นเพราะเป็นการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมที่สุด

 

“ ข้อมูลจากบริษัทขนส่ง หรือ บขส. 5 ปีย้อนหลัง คือตั้งแต่ปี 2545 ถึงปี 2549 พบว่า รถ บขส.เกิดอุบัติเหตุเฉลี่ย 325 ครั้งต่อปี หรือเกือบวันละครั้ง มีผู้เสียชีวิต เฉลี่ย 4 รายต่อเดือน ส่วนรถร่วมบริการเกิดขึ้น 10 รายต่อเดือน จากมติคณะรัฐมนตรี 28 ธันวาคม 2553 ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการศึกษาแนวทางและมาตรการ ในการนำเทคโนโลยีระบบ GPS มาใช้ติดตั้งกับรถสาธารณะ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมการเดินรถ รวมทั้ง เป็นการตรวจสอบและยกระดับความปลอดภัยทางถนน แต่ถึงแม้จะมีมติ ครม. ให้เร่งดำเนินการเรื่องการนำ GPS มา ใช้ และที่ประชุมของกระทรวงคมนาคม จะระบุว่าเป็นระบบที่เหมาะสม แต่ผ่านมาปีกว่า ก็ยังคงไม่มีรูปธรรมในการดำเนินงาน โดยเฉพาะกับ “รถ บขส.” ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่ต้องเป็นแบบอย่างในเรื่อง “มาตรฐานความปลอดภัย” ยังคงเกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก สร้างความสูญเสียเป็นอย่างมาก ในส่วนของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบก ก็ควรจะให้ความสำคัญกับนโยบายการสร้างความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร ไม่ใช่พิจารณาแค่เรื่องการปรับขึ้นค่าโดยสารเท่านั้น”

 

ดร.สุเมธ  องกิตติ กุล นักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ศูนย์ควบคุมการเดินรถ เริ่มแรกควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ บขส. มีหน้าที่ควบคุมการเดินรถทั้งของ บขส. และผู้ประกอบการรถร่วมอย่างใกล้ชิดตลอดระยะเวลาที่รถโดยสารสาธารณะประจำทาง แล่นรับส่งผู้โดยสาร รวมทั้งให้มีการติดตั้งอุปกรณ์ติดตามการเดินรถหรือจีพีเอส และกล่องบันทึกข้อมูลการเดินรถในเส้นทางรถโดยสารระหว่างประเทศ เส้นทางรถโดยสารประจำทางกรุงเทพฯไปยังส่วนภูมิภาค (หมวด 2) และ เส้นทางรถโดยสารประจำทางระหว่างจังหวัดในส่วนภูมิภาค (หมวด 3) ซึ่ง เป็นเส้นทางระยะไกลเป็นสำคัญ และเพื่อมิให้ผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะประจำทางต้องแบกรับภาระในการ ดำเนินการดังกล่าว จึงขอให้รัฐบาลมีมาตรการสนับสนุนทั้งมาตรการด้านการเงิน และมาตรการด้านภาษีด้วย

 

นายรักษิต  ฐิติพัฒนพงษ์  วิศวกรจากศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) และกรรมการสมาคมวิศวกรรมยานยนต์ไทย(TSAE) กล่าวว่าระบบ GPS มีความเหมาะสมในการใช้ติดตั้งกับรถสาธารณะ เนื่องจากสามารถส่งข้อมูลในลักษณะ Real time โดยแสดงข้อมูลได้ทั้งตำแหน่งของรถและรายละเอียดการเดินรถ ผู้ประกอบการขนส่ง สามารถติดตามตรวจสอบเส้นทางการเดินรถ พฤติกรรมผู้ขับรถ การควบคุมความเร็วในการเดินรถ รวมทั้ง การควบคุมค่าใช้จ่ายในด้านต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เช่น ค่าเชื้อเพลิงและค่าซ่อมบำรุงรักษารถ ส่วนภาครัฐได้ประโยชน์อย่างมากในการติดตามและควบคุมการเดินรถให้ปลอดภัยและถูกกฎหมายมากขึ้น ด้านประชาชนผู้ใช้บริการมีความพึงพอใจต่อบริการมากขึ้น

 

นางสาวสวนีย์  ฉ่ำ เฉลียว ผู้ประสานงานโครงการการมีส่วนร่วมของเครือข่ายผู้บริโภคเพื่อรถโดยสาร ปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า รถโดยสารสาธารณะประจำทางขนาดใหญ่และรถตู้โดยสารประจำทาง นับเป็นบริการสาธารณะสำคัญที่ประชาชนและนักท่องเที่ยวใช้เดินทางในเส้นทาง ระหว่างกรุงเทพมหานครไปยังส่วนภูมิภาค และใช้เดินทางระหว่างจังหวัดในส่วนภูมิภาค ซึ่งปัจจุบันมีผู้โดยสารใช้บริการกับบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เฉลี่ย 11-12 ล้านคนต่อปี และหากรวมกับผู้โดยสารที่ใช้บริการกับผู้ประกอบการรถร่วมที่มีจำนวนรถมากกว่ารถของ บขส.ถึง 10 เท่าตัว จึงคาดว่าน่าจะมีผู้ใช้บริการรถโดยสารรวมกันแล้วไม่น้อยกว่า 100 ล้านคนต่อปี ดังนั้น การที่รัฐบาลสนับสนุนให้รัฐบาลมีมาตรการในการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการเดินรถตลอด 24 ชั่วโมง และให้มีการติดตั้งระบบจีพีเอสรวมทั้งกล่องบันทึกข้อมูลในรถโดยสารสาธารณะประจำทางเพื่อให้การกำกับดูแลการเดินรถมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องที่มีความคุ้มค่าและสมควรเร่งดำเนินการเป็นอย่างยิ่ง

 

“มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายเห็นว่าการหาทางป้องกันเฝ้าระวังเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็น มากกว่าการมาชดเชยเชยเยียวยากันหลังเกิดเหตุแล้ว เพราะบางครั้งความสูญเสียของผู้ประสบภัยไม่สามารถคำนวณมาเป็นตัวเลขความเสีย หายได้ โดยเฉพาะผู้โดยสารที่ตัดสินใจเสียเงินใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะแล้ว ก็ต้องได้รับการดูแลเอาใจใส่ ทั้งด้านบริการ และความปลอดภัยควบคู่กันไป ผู้ให้บริการไม่ใช่แค่มีหน้าที่เร่งขับรถไปให้ถึงจุดหมายปลายทางอย่างรวด เร็วเพียงอย่างเดียวโดยไม่คำนึงถึงชีวิตผู้ที่โดยสารมาด้วย ” นางสาวสวนีย์กล่าว

 

นายชินวัฒน์ หาบุญพาด ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ ออกมารับหนังสือข้อเสนอดังกล่าวและยืนยันกับ ว่าทางกระทรวงคมนาคมไม่ได้เพิกเฉยต่อปัญหาอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ โดยเฉพาะรถโดยสารประจำทางจากกรุงเทพไปต่างจังหวัด ล่าสุดมีการประชุมปรึกษาหารือในคณะกรรมการนโยบายขนส่งเรื่องศูนย์ควบคุมการ เดินรถแบบตลอด 24 ชั่วโมงโดยการใช้ GPS ไป แล้ว รวมทั้งวางโครงสร้างของระบบ โดยเชื่อมกับกรมการขนส่งทางบก เพราะเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง พร้อมกันนี้ยังรับปากว่าจะนำข้อเสนอที่รับไปในวันนี้เสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงคมนาคมในฐานะประธานกรรมการนโยบายขนส่งทางบกอย่างเร่งด่วน

พิมพ์ อีเมล