มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 23 พ.ค.- มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่าย เสนอยกระดับความปลอดภัยและมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะของไทย ระบุการตั้งด่านตรวจ ติดตั้งเครื่องจับความเร็ว ไม่ได้ผล ผลักดันร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ที่กวดขันสภาพรถ คนขับ เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและเครือข่ายนักวิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน จัดสัมมนาคุณภาพบริการรถโดยสารสาธารณะที่ประชาชนคาดหวัง ตอน “ชีวิตคนไม่ใช่ผัก ไม่ใช่ปลา” เชิญนักวิชาการที่เกี่ยวข้องนำผลการศึกษาและข้อเสนอแนะเผยแพร่ต่อสาธารณะ
นายสุรทิน ธัญญะผลิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท สุวรรณไพศาลขนส่ง จำกัด เปิดเผยว่า รถขนส่งสินค้าในบริษัทมีประมาณ 5,000 กว่าคัน ใช้ระบบการจัดการป้องกันความเสียหายของสินค้าแบบครบวงจร คือตัวรถขนส่ง พนักงานขับรถ และการนำระบบเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้เพื่อควบคุมพฤติกรรมของคนขับ มีระบบปฏิบัติการตรวจสอบขณะขนส่งสินค้าตลอดเส้นทาง ซึ่งเทคโนโลยีที่เหมาะสมในขณะนี้คือ GPS โดยร่วมกับนักวิชาการจากเนคเทค พัฒนาให้เกิดความเหมาะสมในการใช้งานมากขึ้น สำหรับสถิติอุบัติเหตุที่เกิดจะอยู่ที่ 2-3 ครั้งต่อปี เป็นการเฉี่ยวชนธรรมดา ไม่เกิดความเสียหายต่อร่างกายและชีวิต นอกจากนี้การสร้างแรงจูงใจกับพนักงานขับรถ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน โบนัส เบี้ยเลี้ยงพิเศษ สิ่งเหล่านี้จะทำให้พนักงานขับรถมีความระมัดระวังในการทำงาน เป็นมืออาชีพมากขึ้น ส่วนแนวทางการลงโทษอย่างเข้มงวดก็ถือเป็นมาตรการที่ช่วยลดการสูญเสียได้
นายสุเมธ องค์กิตติกุล นักวิชาการสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า ประเทศไทย มีบริการขนส่งสาธารณะทั้งคุณภาพดีและไม่ดี แต่ปัญหาสำคัญคือผู้บริโภคไม่มีสิทธิเลือกอีกทั้งข้อกำหนดของภาครัฐเกี่ยว กับมาตรฐานรถบริการสาธารณะไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ทั้งเรื่องของตัวรถ ที่นั่ง และเข็มขัดนิรภัย อีกทั้งการควบคุมพฤติกรรมของพนักงานขับรถด้วย ซึ่งสาเหตุเกิดจาก ระบบการประกอบการและการบังคับใช้กฏหมายเป็นไปได้ยาก ปัจจุบันผู้ประกอบการธุรกิจรถโดยสารสาธารณะ ไม่ได้เป็นเจ้าของรถ แต่อนุญาตให้เอกชนเข้ามาร่วมดำเนินการกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่มีใบอนุญาตให้บริการรถสาธารณะในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ประเภทรถเมล์กว่า 200 เส้นทาง และรถตู้ ประมาณ 150 เส้นทาง
ขณะที่ ขสมก. มีรถที่เป็นของตนเองประมาณ 5,000 คัน รถร่วมของบริษัทเอกชน 7,000 คัน ส่วนรถตู้เป็นรถร่วมบริการทั้งหมดกว่า 3,000 คัน จึงเป็นเหตุให้รูปแบบการพัฒนาความปลอดภัยเป็นไปได้ยาก สำหรับการแก้ไขปัญหา เสนอแนะให้แก้ไขที่โครงสร้างการประกอบการ แต่ปัจจุบันภาครัฐแก้ปัญหาด้วยการไล่จับปัญหา เช่น มีการตั้งด่านตรวจจับเคร่งครัดเป็นบางเวลา ซึ่งไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ พร้อมแนะนำว่าแม้ประชาชนจะไม่มีโอกาสได้เลือกใช้บริการแต่มีสิทธิร้องเรียน การให้บริการได้ ทั้งผ่านทางหมายเลข 1584 หรือที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ด้าน รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ ประธานมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวเสนอแนะต่อรัฐบาลในการยกมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะ ว่าการกำหนดมาตรการใดที่กระทบต่อผู้บริโภค อาทิ ด้านนโยบาย ได้แก่ ขอให้ระงับการขยายการใช้ระบบตรวจจับความเร็ว หรือ RFID ในการควบคุมความเร็วของรถโดยสาร เพราะจากการศึกษาของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) พบว่าระบบที่ใช้นั้น
ให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง ควรผ่านการมีส่วนร่วม ของฝ่ายวิชาการและผู้บริโภคไม่ใช่มีเฉพาะผู้ประกอบการ สนับสนุนให้นำร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อผู้บริโภค ที่ผ่านวุฒิสมาชิกแล้ว เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาในสมัยประชุม ด้านความปลอดภัยควรสนับสนุนให้มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยให้ผู้โดยสารทุกที่ นั่ง ในการเดินทางทุก 4 ชั่วโมง ต้องมีการสับเปลี่ยนพนักงานขับรถ หรือให้พนักงานขับรถหยุดพักไม่น้อยกว่า 30 นาที และกวดขันการตรวจสภาพรถ สภาพคนขับ เป็นต้น
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ที่ผ่านมามูลนิธิฯ เข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย สถิติปี 2552-2554 ฟ้องศาลทั่วประเทศแล้ว 124 คดี คดีสิ้นสุดโดยมีคำพิพากษา 46 คดี สิ้นสุดแบบประนีประนอม 64 คดี ได้ค่าเสียหายในคดีที่สิ้นสุดแล้วกว่า 13 ล้านบาท สำหรับสถิติการเกิดอุบัติเหตุระหว่างเดือนตุลาคม 2554 - พฤษภาคม 2555 พบรถโดยสารปรับอากาศเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด รองลงมา คือรถโดยสารระหว่างจังหวัด รถรับส่งพนักงาน รถเมล์และรถแท็กซี่.
เอกสารประกอบการแถลงข่าว