ข่าว/บทความรถโดยสาร

เหยื่อรถโดยสาร ชนะ เจ๊เกียว ยอมจ่ายค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาท

เจ๊เกียว ยอมจ่ายค่าเสียหาย 1.4 ล้านบาท ให้กับผู้โดยสารที่ได้รับอุบัติเหตุรถทัวร์ 

วันนี้ ( วันที่ 14 มีนาคม 2555) เวลาประมาณ 10.00 น. นางสุกัญญา ภาคพิทักษ์ และนางสาวอำภาภรณ์ หรือ กชพร นวลละออง ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารปรับอากาศของบริษัทราชสีมาทัวร์ชนประสานงากันเอง เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2552 พร้อมด้วยนายเฉลิมพงษ์  กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค และเจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเจ้าพนักงานบังคับคดี เดินทางมาที่บริษัทขนส่ง  จำกัด (หมอชิตใหม่) เพื่อดำเนินการยึดทรัพย์สินของบริษัทขนส่ง จำกัด ในฐานะจำเลยร่วม และในฐานะผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบการขนส่งรวมทั้งเป็นผู้อนุญาตให้บริษัทรถร่วมดำเนินการรับส่งผู้โดยสาร

จากอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารปรับอากาศหมายเลขทะเบียน 10-5593 นครราชสีมา ของบริษัทราชสีมาทัวร์ จำกัด เดินทางจากจังหวัดนครราชสีมาเข้ากรุงเทพมหานคร ผู้ขับขี่หลับในทำให้รถเสียหลัก แล่นข้ามเกาะกลางถนน ไปเฉี่ยวชนทับรถยนต์กระบะของประชาชน และยังไปพุ่งชนรถโดยสารปรับอากาศหมายเลขทะเบียน 10-4427 นครราชสีมา ของบริษัทราชสีมาทัวร์เช่นกัน ที่วิ่งมาในเส้นทางตรงกันข้าม จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 19 ราย บาดเจ็บ 50 ราย

นางสุกัญญา ภาคพิทักษ์ และนางสาวอำภาภรณ์ หรือ กชพร นวลละออง ซึ่งเป็นผู้โดยสารรถโดยสารปรับอากาศคันที่วิ่งจากจังหวัดนครราชสีมาปลายทางกรุงเทพฯ ได้รับบาดเจ็บสาหัส ทั้งสองได้ยื่นฟ้องบริษัทเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ จำกัด ในฐานะเจ้าของรถร่วม เป็นจำเลยที่ 1 บริษัทราชสีมาทัวร์ จำกัด ในฐานะผู้ทำสัญญารถร่วมบริการรถโดยสารกับ บขส. เป็นจำเลยที่ 2 และบริษัทขนส่ง จำกัด ในฐานะผู้อนุญาตให้บริการรถร่วม เป็นจำเลยที่ 3 เรียกค่าเสียหายเป็นเงิน   4,285,230.28 บาท และ 407,493 บาท  ตามลำดับ เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553 ที่ศาลแพ่ง รัชดาภิเษก

ต่อมาศาลแพ่ง รัชดาภิเษก ได้มีคำพิพากษาให้จำเลยทั้งสาม ร่วมกันชำระค่าเสียหายให้แก่ นางสุกัญญาเป็นเงิน 1,142,803 บาท เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2553 ส่วนนางสาวอำภาภรณ์ หรือ กชพร ศาลพิพากษาให้ได้รับค่าเสียหายเป็นเงิน 128,770  บาท  เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2554 พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 นับตั้งแต่วันฟ้องจนชำระเสร็จสิ้น ทั้ง 2 คดี  ผู้เสียหายได้ติดตามทวงถามค่าเสียหายตามคำพิพากษากับจำเลยทั้งสามมาโดยตลอด แต่จำเลยทั้งสามกลับเพิกเฉย ผู้เสียหายทั้งสองจึงจำเป็นต้องดำเนินการยึดทรัพย์ บังคับคดี

ล่าสุดผลการเจรจาบริษัทเชิดชัยมอเตอร์เซลส์ จำกัด บริษัทราชสีมาทัวร์ จำกัด และบริษัทขนส่ง จำกัด ยินยอมจ่ายค่าเสียหายให้กับนางสุกัญญา เป็นเงิน 1,329,461 บาท (รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันฟ้องคดี จนถึงวันจ่ายเงิน) และจ่ายค่าเสียหายให้กับนางสาวอำภาภรณ์ เป็นเงิน 158,058 บาท (รวมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ตั้งแต่วันฟ้องคดี จนถึงวันจ่ายเงิน)

 

นายเฉลิมพงษ์  กลับดี  หัวหน้าศูนย์ทนายความอาสาเพื่อผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ในฐานะทนายความผู้รับผิดชอบทั้ง 2 คดี กล่าวว่า ผู้เสียหายในเหตุการณ์นี้ได้เข้ามาขอความช่วยเหลือจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคจำนวน 8 ราย เข้าสู่กระบวนการฟ้องร้อง 5 ราย เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2553  ซึ่ง 3 รายเจรจาไกล่เกลี่ยกันได้สำเร็จ แต่สำหรับ 2 รายนี้จำเลยต่อสู้ในชั้นสืบพยาน จนมีคำพิพากษาในปลายปี 2553 และต้นปี 2554 ตามลำดับ ซึ่งนับแต่มีคำพิพากษาจำเลยทั้ง 3 ก็เพิกเฉย บ่ายเบี่ยง ไม่เร่งรีบดำเนินการชดเชยเยียวยาความเสียหายให้กับผู้บริโภค ยังคงปล่อยให้ผู้บริโภคได้รับความเสียหายอย่างต่อเนื่อง หรือแม้กระทั่งจำเลยจะรู้ตัวว่าสิ้นสิทธิในการยื่นอุทธรณ์ตามกำหนดเวลาก็ไม่ติดต่อเพื่อดำเนินการจ่ายค่าเสียหายตามคำพิพากษาแต่อย่างใด การปล่อยปละละเลยในทุกขบวนการ ขั้นตอนเยียวยาของจำเลยในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่มีหน้าที่ดูแลประชาชนให้ได้รับความเป็นธรรม จึงเป็นเหตุให้ผู้เสียหายจำเป็นต้องให้กระบวนการยึดทรัพย์สิน มาขายทอดตลาดเพื่อเยียวยาความเสียหายให้กับตนเอง

นางสาวอำภาภรณ์ หรือ กชพร นวลละออง ผู้เสียหาย กล่าวถึงกรณีนี้ว่า อุบัติเหตุครั้งนี้ถือว่าเป็นเหตุการณ์ที่รุนแรง ตนเองได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่จำเลยทั้งสามไม่เคยเข้ามาดูแลเลย ที่ผ่านมาต้องสูญเสียทั้งอาชีพและอนาคตทางธุรกิจเพราะช่วงบาดเจ็บไม่สามารถดูแลกิจการได้ต้องตัดสินใจปิดกิจการ ทั้งที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงของครอบครัว พอตนเองเรียกร้องค่าเสียหายก็ถูกเหยียดหยาม ดูหมิ่นว่าเรียกร้องเกินสมควร จำเลยเองก็ยื่นข้อเสนอมาชดเชยแค่หลักพันเท่านั้น นอกจากนี้ขั้นตอนกระบวนการฟ้องร้องก็เนิ่นนานมีอุปสรรคหลายอย่างเป็นเป็นคดีแรกๆที่ใช้กฎหมายผู้บริโภค ตั้งแต่ยื่นวินิจฉัยว่าเป็นคดีผู้บริโภคหรือไม่ ต้องรอเกือบปี พอมีคำพิพากษาก็ยังมีช่วงเวลาที่ต้องรออีกยาวนานเป็นปี ตนเองจึงตัดสินใจใช้กระบวนการยึดทรัพย์บังคับคดีกับจำเลยทั้งสาม

นางสาวสวนีย์  ฉ่ำเฉลียว  เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค  เปิดเผยว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นจนถึงวันนี้คือวันที่ 14 มีนาคม 2555 ก็ยังคงมีเหตุการณ์อุบัติเหตุเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องซึ่งทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคได้รวบรวมสถิติอุบัติเหตุจากข่าวในส่วนของรถร่วมบริการและรถ บขส. พบว่ามีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 205 ครั้ง เป็นรถโดยสารปรับอากาศ จำนวน 165 ครั้ง รถตู้โดยสาร จำนวน 40 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 2,239 คน และเสียชีวิต 222 ราย บขส. ก็ยังไม่มีมาตรการในการกำกับดูแลด้านความปลอดภัยของผู้โดยสารจึงทำให้เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก

“ในคดีนี้ถือว่า บขส.เองก็ปล่อยปละละเลยไม่ตรวจสอบบริษัทรถร่วมที่เข้าทำสัญญาว่ามีคุณสมบัติเหมาะสมหรือไม่คือปล่อยให้บริษัทราชสีมาทัวร์ซึ่งมีสถานะเป็นบริษัทร้างเข้ามาทำสัญญารถร่วม ไม่เพียงเท่านั้นรถทัวร์โดยสารปรับอากาศทั้ง 2 คัน ยังไม่มีการจัดทำประกันภัยภาคสมัครใจเพื่อคุ้มครองผู้โดยสารแต่อย่างใด มีเพียงประกันภัยภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ.รถยนต์ ที่รถทุกคันแม้แต่รถจักรยานยนต์ก็ต้องจัดทำเท่านั้น”

ก่อนที่รถโดยสารจะแล่นให้บริการจากสถานีขนส่ง บขส.ยังขาดการกำกับดูแลคุณภาพมาตรฐานของพนักงานขับรถ ว่ามีสมรรถภาพเหมาะสมที่จะให้บริการหรือไม่ จนทำให้เกิดการหลับในไม่สามารถบังคับรถได้ รวมทั้งสภาพของรถโดยสารที่อุปกรณ์ชำรุดบกพร่องล้อยางรถยนต์ไม่มีดอกยาง ไม่เหมาะสมกับการนำมาใช้ ดังนั้นทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคขอยื่นข้อเสนอกับทาง บขส. เพื่อยกระดับด้านการกำกับดูแลความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะในวันนี้ นางสาวสวนีย์ กล่าว

พิมพ์ อีเมล