ข่าว/บทความรถโดยสาร

ผู้บริโภคเรียกร้อง บขส.พักการเดินรถบริษัทศรีสะเกษทัวร์

เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน  ภาคใต้  ภาคกลาง เรียกร้องให้ บขส.พักการเดินรถโดยสาร 2 ชั้นบริษัทศรีสะเกษทัวร์และให้เร่งเยียวยาผู้ประสบภัย พร้อมเร่งเยียวยาผู้ประสบภัย

 

16 ก.พ.55 เครือข่ายผู้บริโภคนัดแถลงข่าวกรณีอุบัติเหตุรถทัวร์โดยสารสองชั้นสายกรุงเทพฯ-ศรีสะเกษ เลขทะเบียน 10-7685 นครราชสีมา ของบริษัทศรีสะเกษทัวร์  เสียหลักชนประสานงากับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ  หมายเลขทะเบียน ๗๐-๑๖๒๒  อุบลราชธานี  ช่วงบริเวณบ้านสะกาด-บ้านหลักตำบลสะกาด  อำเภอสังขะ จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 15กุมภาพันธ์ 2555 เวลาประมาณ 03.40 น. เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 10 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 24 ราย  นั้น ทางศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะภาคประชาชน  เนื่องจากเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นที่ภาคอีสาน

นายปฏิวัติ  เฉลิมชาติ  ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน  กล่าวว่าอุบัติเหตุรถโดยสารที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะพื้นที่ในภาคอีสานมีอยู่เป็นประจำ  ซึ่งจะต้องแก้ที่ต้นเหตุนั่นคือ  การมีมาตรการป้องกันความปลอดภัยไว้ก่อน  ทั้งหน่วยงานที่กำกับดูแลการให้บริการ เช่น  บขส.และผู้ประกอบการหรือบริษัทรถโดยสาร  ที่เป็นรูปธรรมดังนี้ 1.ให้บริษัทขนส่ง จำกัด (บขส.) ดำเนินการระงับคำสั่งตามสัญญาระเบียบรถร่วมบริษัทขนส่งจำกัด  พ.ศ. 2547 หมวด 8 ว่าด้วยเรื่องอุบัติเหตุรถร่วมและการดำเนินคดี  กับบริษัทศรีสะเกษทัวร์ โดยให้หยุดการให้บริการไว้ชั่วคราว  จนกว่าบริษัทศรีสะเกษทัวร์จะได้มีการชดเชยค่าเสียหายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

2.บริษัทศรีสะเกษทัวร์   จะต้องมีการเยียวยา  ชดใช้ค่าเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น ให้กับผู้เสียชีวิตและผู้ประสบอุบัติเหตุโดยเร็ว

3.บริษัทศรีสะเกษทัวร์   แสดงความรับผิดชอบต่ออุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และกำหนดระยะเวลาที่ชัดเจนในการชดเชยความเสียหาย

ทางด้าน  นายกำชัย  น้อยบรรจง ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคภาคกลาง  กล่าวถึงการเรียกร้องค่าเสียหายว่าผู้ประสบอุบัติเหตุหรือทายาท  มีสิทธิที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากบริษัทรถโดยสารและบริษัทประกันภัย ได้ทั้ง  1.ค่ารักษาพยาบาล สามารถขอรับได้จากบริษัทประกันภัยซึ่งรถโดยสารและรถยนต์ที่เกิดเหตุแต่ละคันจะต้องทำประกันภัยไว้ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ)

2. ค่าปลงศพ กรณีของผู้เสียชีวิตให้ทายาทโดยธรรม อาทิ พ่อ-แม่ หรือคู่สมรส ติดต่อขอรับจากบริษัทประกันภัยซึ่งรถที่เกิดเหตุแต่ละคันทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 (พ.ร.บ.รถ)  

3. เงินค่าสินไหมทดแทนจากกรมธรรม์ประกันภัย (ประกันภัยประเภท 1,2,3) ที่ผู้ประกอบการของรถโดยสารหรือเจ้าของรถยนต์จัดทำไว้กับบริษัทประกันภัย  

4. ในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้โดยสารของรถโดยสารที่เกิดเหตุคันดังกล่าว หากท่านเห็นว่าเงินค่าเสียหายที่ได้รับจากข้อ 1-3 ข้างต้น น้อยกว่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ไม่เหมาะสมหรือไม่เป็นธรรม ท่านสามารถติดต่อมาที่ศูนย์คุ้มครองสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะภาคประชาชน  สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่น  เพื่อยื่นฟ้องเรียกค่าเสียหายกับบริษัทของรถที่เกิดเหตุ และเจ้าของบริษัทฯ ได้ ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.2521

ทางด้านนางสาวสิรินนา  เพชรรัตน์  ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดสุราษฎร์ธานี  กล่าวว่าขอให้ผู้ประสบอุบัติเหตุหรือทายาทระมัดระวังในการพิจารณารับค่าสินไหมทดแทน  ทั้งจากบริษัทรถยนต์และบริษัทประกันภัย  หากมีเงื่อนไขในเอกสารการรับเงินหรือเอกสารข้อตกลงใด ๆ ว่า ยินยอมรับเงินค่าเสียหายโดยไม่ติดใจเอาความกับบริษัทรถยนต์ เจ้าของบริษัทรถยนต์ บริษัทประกันภัย หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆ ซึ่งหากได้ลงลายมือชื่อยินยอมไปแล้ว  หากมีความเสียหายเกิดขึ้นเพิ่มเติมในภายหลัง  จะไม่สามารถนำเรื่องฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกับศาลได้

“หากไม่มั่นใจ มีข้อสงสัย หรือประสบปัญหา ในการการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยหรือจากผู้ประกอบการบริษัทรถโดยสาร สามารถขอคำปรึกษา หรือขอให้เครือข่ายผู้บริโภค ช่วยเหลือดำเนินการเจรจาต่อรอง หรือฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายเต็มตามสิทธิอันพึงมีพึงได้” นางสาวสิรินนา  กล่าว

พิมพ์ อีเมล