กลับมาพบกันอีกแล้ว เมื่อคิดถึงเวลาแล้วช่างรวดเร็วเหลือเกิน ผ่านไปแล้วก็ยากที่จะหวนกลับคืนมา คงจะต้องเดินหน้าต่ออย่างเดียว เรื่องเด่นประจำสัปดาห์ก็เช่นเดียวกันคงต้องเดินหน้าต่อไปเพื่อให้สาระความรู้และประโยชน์กับบุคคลทั่วไปอย่างไม่หยุดยั้ง
วันนี้ขอเสนอเรื่องที่เกี่ยวกับ การที่เจ้าพนักงานบังคับคดียึดทรัพย์เกินความจำเป็น ลูกหนี้จะต้องทำอย่างไร เรื่องนี้เป็นคำถามมาเป็นจำนวนไม่น้อยที่ได้โทรศัพท์เข้ามาสอบถามยังศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค
เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาส่วนมากมักจะขอให้ศาลทำการยึดทรัพย์สินของลูกหนี้ไว้ทั้งหมด ปัญหาที่ตามมาก็คือ เมื่อมีการยึดแล้วไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขาย ก็ต้องมีการถอนการยึดซึ่งต้องมีการเสียค่าธรรมเนียมศาลอีก และใครที่จะต้องเป็นผู้เสียค่าธรรมเนียมดังกล่าว ผู้ที่เสียค่าธรรมเนียมก็คือ ผู้แพ้คดีนั่นเอง
บางคนมีข้อสงสัยว่า ในเมื่อเจ้าหนี้เป็นคนยึดเมื่อไม่มีการขายเกิดขึ้นต่อมามีการถอนการยึดค่าธรรมเนียมดังกล่าวก็ต้องเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้เป็นผู้ออกจึงจะถูก เพราะลูกหนี้เสียทรัพย์สินบางส่วนไปแล้วและจะต้องมาเสียค่าธรรมเนียมโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นคนกระทำ มันเป็นธรรมแก่ผู้แพ้คดีแล้วหรือ
ปัญหาเช่นนี้ถ้าเกิดขึ้นกับลูกหนี้ ๆ จะหาทางออกอย่างไร หากในชั้นบังคับคดีเจ้าพนักงานยึดทรัพย์ของลูกหนี้ไว้ทั้งหมดเพื่อดำเนินการขายทอดตลาด ทั้งที่ทรัพย์ของลูกหนี้เพียงอย่างเดียวก็เพียงพอที่จะชำระหนี้ได้ เพราะฉะนั้นลูกหนี้จึงต้องระมัดระวังอย่าให้มีการยึดทรัพย์ของลูกหนี้เกินความจำเป็น เช่นเจ้าหนี้ทำการยึดที่ดินหลายแปลง ทั้งที่เพียงแปลงเดียวก็สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่งถ้าหากยึดหลายแปลงต่อมามีการถอนการยึดโดยที่ไม่มีการขายลูกหนี้ก็จะต้องรับผิดชอบเสียค่าถอนการยึดโดยเปล่าประโยชน์
คำแนะนำและแนวทางแก้ไข
ประการแรก ทางจำเลยต้องยื่นคำร้องต่อศาล โดยให้ศาลเห็นว่าที่ดินที่เจ้าหนี้ทำการยึดหลายแปลงนั้น เกินความจำเป็น ความจริงแล้วถ้าหากนำทรัพย์สินหรือที่ดินของลูกหนี้เพียงแปลงเดียวก็สามารถชำระหนี้รวมถึงค่าฤชาธรรมเนียมได้ จึงขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์สินหรือที่ดินดังกล่าวออกมาขายเพียงแปลงเดียว
ในส่วนของศาลเมื่อศาลได้รับคำร้องแล้วก็อาจจะให้มีการไต่สวนคำร้องนั้น เพื่อให้ได้ความว่า ถ้าหากขายที่ดินของลูกหนี้เพียงแปลงเดียวเงินที่ได้มาจากการขายทอดตลาดนั้นจะเพียงพอชำระหนี้รวมทั้งใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนอีกฝ่ายหนึ่งเพียงพอหรือไม่ ถ้าเพียงพอศาลอาจมีคำสั่งให้ทำการขายทอดตลาดที่ดินเพียงแปลงเดียวตามที่ลูกหนี้ร้องขอมาก็ย่อมจะทำได้
เพราะฉะนั้นลูกหนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่ได้คำนวณหนี้หรือทำการตรวจสอบให้รอบคอบเวลาเจ้าหนี้ยึดก็ให้ยึดไปทั้งหมด เมื่อทำการยึดไปแล้วไม่ได้ขายและมีการถอนการยึดค่าธรรมเนียมของเจ้าหนี้ก็จะผลักภาระให้ทางลูกหนี้เป็นคนออกจึงทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบอย่างมาก ถ้าลูกหนี้มีความรอบคอบและตรวจสอบดูให้ละเอียดรู้วิธีการแก้ไขความเสียหายดังกล่าวก็จะไม่เกิดกับทางลูกหนี้อีกต่อไป