เมื่อวันที่ ๑๑ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ที่ห้องอัพทาวน์ โรงแรมขอนแก่นโฮเต็ล อ.เมือง จ.ขอนแก่น สมาคมผู้บริโภคจังหวัดขอนแก่นและเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสาน จัดเวทีความร่วมมือในการจัดการ “ รถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ” ระดับจังหวัด
โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากสถานการณ์กรณีรถรับส่งนักเรียนที่เกิดอุบัติเหตุในพื้นที่อำเภอน้ำพอง จ.ขอนแก่นเมื่อช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ นำมาซึ่งความสูญเสียทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง คนขับรถรับส่งนักเรียนและสถานศึกษา เป็นที่มาของการสำรวจคุณภาพและความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในจังหวัดขอนแก่นและการดำเนินการนำร่องเพื่อสร้างพื้นที่การจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยขึ้น
นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคอีสานกล่าวว่า การประชุมในวันนี้เป็นการแลกเปลี่ยนสถานการณ์ปัญหารถรับส่งนักเรียนในจังหวัดขอนแก่นและการสร้างความร่วมมือในการในการดำเนินงานให้รถรับส่งนักเรียนมีความปลอดภัย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจำนวน ๓๐ ท่านจากโรงเรียนที่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒๕ ,โรงเรียนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น และเครือข่ายผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดอุดรธานีและจังหวัดยโสธร
โดย มีวิทยากรมาให้แลกเปลี่ยนในประเด็น “บทบาทหน่วยงาน และแนวทางความร่วมมือเพื่อรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย ” มี ดร.สายัณห์ ผาน้อย ผอ.สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต ๒๕ , นายกฤษฎา มะลิซ้อน หัวหน้ากลุ่มงานวิชาการ สำนักงานขนส่งจังหวัดขอนแก่น , นายสุวิไชย ศรีเสม รอง ผอ. สำนักการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม อบจ.ขอนแก่น
นายศตคุณ คนไว เจ้าหน้าที่สมาคมผู้บริโภค จ.ขอนแก่น นำเสนอข้อมูลผลการสำรวจคุณภาพและความปลอดภัยรถรับส่งนักเรียนในจังหวัดขอนแก่น มีการสำรวจในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม ๒๕๖๐ สุ่มสำรวจ ๓ แห่ง คือโรงเรียนน้ำพองศึกษา โรงเรียนน้ำพอง โรงเรียนหนองเรือวิทยา สอบถามนักเรียน ผู้ปกครอง ผลสำรวจทราบว่านักเรียนเดินทางมาด้วยรถกระบะดัดแปลงมีหลังคา รถบัส รถสองแถว รถตู้ รถสี่ล้อใหญ่ตามลำดับ นักเรียนส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ารถที่ตนเองโดยสารมามีการจัดทำประกันภัยหรือไม่ ผู้ปกครองต้องจ่ายค่าโดยสารตั้งแต่ ๓๐๐-๑,๐๐๐ บาทต่อเดือน มีการบรรทุกนักเรียนตั้งแต่ ๑๗-๔๐ คน ส่วนใหญ่ยืนบนรถเพราะที่นั่งไม่พอ และไม่ได้คาดเข็มขัดนิรภัยอีกทั้งไม่มีอุปกรณ์การป้องกันความปลอดภัยเช่น ถังดับเพลิง อายุการใช้งานของรถ ๘-๑๐ ปี ส่วนใหญ่มีการทำประกันภัยภาคบังคับและมีข้อเสนอจากผู้ตอบแบบสอบถาม อยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดอบรมให้กับคนขับรถรับส่งนักเรียน การคิดค่าโดยสารให้เหมาะสมกับระยะทาง
รถที่นำมาให้บริการควรมีการตรวจเช็คสภาพก่อนนำมาใช้งาน ควรมีผู้ดูแลควบคุมขณะรับส่งนักเรียน การบรรทุกเกิน ไม่มีที่นั่ง จำนวนรถไม่เพียงพอกับนักเรียน ประเด็นต่างๆเหล่านี้จึงนำมาสู่การหารูปแบบในการจัดการรถรับส่งนักเรียนปลอดภัยร่วมกัน
ด้านนายวินัย รุมฉิมพลี ผู้อำนวยการโรงเรียนซำสูงพิทยาคม อ.ซำสูง จ.ขอนแก่น กล่าวว่าโรงเรียนของตนสังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นเมื่อได้มาร่วมเวทีในวันนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนรถรับส่งนักเรียนปลอดภัย สนใจที่จะนำไปดำเนินการในสถานศึกษาของตนและต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการไปร่วมดำเนินการเพื่อเป้าหมายให้นักเรียน และผู้ปกครองรวมทั้งสถานศึกษาได้รับประโยชน์ร่วมกัน พร้อมที่จะสนับสนุนเรื่องนี้ ต่อไป