รถรับ-ส่ง นักเรียน

มพบ. จับมือเครือข่ายผู้บริโภคสำรวจรถรับส่งนักเรียน หวังพัฒนามาตรการให้บริการ

pic5

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคเฝ้าระวังรถนักเรียน จับมือเครือข่ายผู้บริโภคสำรวจรถนักเรียน 6 ภูมิภาคทั่วประเทศ หวังรวบรวมข้อมูล พัฒนาเป็นนโยบายสู่การสร้างมาตรฐานรถนักเรียน

นายคงศักดิ์ ชื่นไกรลาศ ผู้ประสานงานโครงการรถโดยปลอดภัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคกล่าวถึงการออกมาจับมือกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศว่า จากการเฝ้าระวังความปลอดภัยทางถนนของเครือข่ายผู้บริโภค พบว่าการใช้บริการรถรับส่งนักเรียนของนักเรียนในพื้นที่ต่างๆ มีความเสี่ยงต่ออันตรายที่อาจจะเกิดขึ้น จากข้อมูลอุบัติเหตุรถโดยสารทัศนศึกษาและรถรับจ้างส่งนักเรียน ปี 2559 ของ ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) พบว่าเกิดอุบัติเหตุ 38 ครั้ง เสียชีวิต 10 ราย บาดเจ็บ 449 ราย ซึ่งเกิดในกลุ่มรถทัศนศึกษา

“รถรับส่งนักเรียนที่มีการดัดแปลง ทั้งรถตู้ถูกนำมาดัดแปลงเปลี่ยนที่นั่งจากแนวขวางเป็นแนวยาว การนำรถยนต์กระบะมาต่อเติม และการประกอบการโดยไม่ได้รับอนุญาตล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการให้บริการรถรับส่งนักเรียนที่ไม่ได้มาตรฐาน” นายคงศักดิ์กล่าว

และว่าการจัดทำแบบสำรวจนั้นเริ่มตั้งแต่เดือน ก.พ . – เม.ย. นี้ โดยการใช้แบบสอบถามเพื่อศึกษาถึงรูปแบบการให้บริการรถรับส่งนักเรียนของนักเรียนและผู้ประกอบการ ทั้งด้านคุณภาพการให้บริการรวมถึงข้อมูลของผู้ใช้บริการและผู้ประกอบการ เพื่อวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอต่อภาครัฐ โรงเรียน ครอบครัว เพื่อนำไปสู่แนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาการใช้บริการรถรับส่งนักเรียนที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เกิดมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการ

อนึ่งมาตรฐานความปลอดภัยของรถรับส่งนักเรียนตามเกณฑ์กรมการขนส่งทางบกนั้นได้อนุญาตให้นำรถที่จดทะเบียนเป็นรถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน แต่ไม่เกิน 12 คน ทั้งรถสองแถวและรถตู้มาใช้เป็นรถรับส่งนักเรียนได้ โดยต้องมีการรับรองการใช้รถดังกล่าวจากโรงเรียนหรือสถานศึกษา ที่นั่งผู้โดยสารต้องยึดแน่นอย่างมั่นคงแข็งแรง และต้องไม่มีพื้นที่สำหรับยืน กรณีรถสองแถวต้องมีประตูและที่กั้นป้องกันนักเรียนตก ส่วนรถตู้ต้องจัดวางที่นั่งเป็นแถวตอนตามความกว้างของตัวรถ ภายในตัวรถต้องมีเครื่องมือจำเป็นกรณีฉุกเฉิน เช่นเครื่องดับเพลง รถรับส่งนักเรียนทุกคัน ต้องติดแผ่นป้ายพื้นสีส้ม มีข้อความตัวอักษรสีดำว่า “รถโรงเรียน” ติดอยู่ด้านหน้าและด้านท้าย มีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันหรือสี คนขับต้องได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี หรือได้รับใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ และต้องมีผู้คนดูแลนักเรียน อยู่ในรถ หากพบการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดสั่งเพิกถอนหนังสืออนุญาตให้ใช้รถทันที และไม่สามารถขออนุญาตได้อีกจนกว่าจะพ้น 1 ปีไปแล้ว

pic1

pic2

pic3

pic4

พิมพ์ อีเมล