มูลนิธิเพื่อผู้บริโภครณรงค์ชวนผู้โดยสารเข็มขัดนิรภัย ขณะเดินทางรับช่วงวันหยุดยาว และให้ความรู้สิทธิของผู้โดยสารรถสาธารณะ รอบบริเวณอนุสาวรีย์สมรภูมิ
10 เม.ย. 58 ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เดินรณรงค์ให้ความรู้พร้อมแจกใบปลิวให้ความรู้ผู้บริโภคถึงความสำคัญ ของการคาดเข็มนิรภัยขณะโดยสารรถ
นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวสถิติการเกิดอุบัติเหตุของกรมการขนส่งทางบกตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2557 ว่าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ มีผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บเพิ่มขึ้นทุกปี ล่าสุดปี 2557 มีอุบัติเหตุเกิดขึ้น 2,992 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 332 ราย ผู้บาดเจ็บ 3,225 ราย
“การคาดเข็มขัดนิรภัยถือเป็นเรื่องสำคัญมาก ซึ่งมูลนิธิฯได้รณรงค์เรื่องนี้มาตลอด จนขณะนี้กรมการขนส่งทางบกได้บังคับใช้เป็นกฎหมายมาตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคม 2557 ให้ผู้ประกอบการรถโดยสารติดตั้งเข็มขัดนิรภัย หากไม่ติดตั้งอุปกรณ์ต้องระวางโทษปรับ 50,000 บาทต่อครั้ง และผู้โดยสารเองหากไม่คาดเข็มขัดนิรภัยปรับ 5,000 บาท ซึ่งนอกจากจะปฏิบัติตามกฎหมายแล้วสิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือทำให้ชีวิตเราปลอดภัย กลับไปเห็นหน้าคนที่รออยู่ที่บ้านนั่นเอง” นางนฤมล กล่าว
นอกจากนี้ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคบอกถึงเคล็ดลับการขึ้นเลือกรถโดยสารที่ปลอดภัยว่า ควรเลือกซื้อตั๋วโดยสารกับบริษัทที่เชื่อถือได้ มีชื่อบริษัทที่ช่องจำหน่ายตั๋วและตั๋วโดยสาร และเมื่อได้รับตั๋วให้ตรวจสอบข้อมูลตั๋วโดยสาร ข้อมูลการเดิน วันที่ ราคาตั๋ว ตำแหน่งที่นั่ง ประเภทของรถโดยสาร หากไม่ตรงให้รีบทักท้วงแก้ไขโดยทันที
“ก่อนขึ้นรถควรตรวจสอบข้อมูลของรถโดยสาร ป้ายทะเบียนรถ จะต้องมีป้ายสีเหลือง ตัวอักษรสีดำ เลขตัวหน้าจะขึ้นต้นด้วยหมวดเลข 10-19 มีตราสัญลักษณ์ข้างรถมีตราหรือสัญลักษณ์ของ บ.ข.ส. หรือ ขสมก. ติดข้างรถ หรือไม่ เลขข้างรถ บ่งบอกถึงเส้นทางการเดินรถของผู้ประกอบการ ชื่อ-นามสกุล ของพนักงานขับรถ และควรขึ้นรถในบริเวณสถานีรถเท่านั้น เพื่อไม่เป็นเหยื่อ รถผี รถเถื่อน” หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภคกล่าว
อนึ่งหากเกิดอุบัติเหตุเมื่อเกิดอุบัติเหตุรถโดยสารกับตัวเอง ผู้โดยสารสามารถปฏิบัติดังนี้
1. ผู้โดยสารต้องตั้งสติให้ได้ก่อน
2. เมื่อมีสติแล้ว ให้สำรวจดูสภาพร่างกายของตนเองว่าได้รับบาดเจ็บหรือไม่ และทรัพย์สินเครื่องใช้ที่ติดตัวมายังอยู่ครบหรือเปล่า
3. ถ้ามีสติ รู้สึกตัวดี และสำรวจสภาพร่างกายตนเองเรียบร้อยแล้ว ให้หยิบสิ่งของที่จำเป็น เช่น กระเป๋าสตางค์ , โทรศัพท์มือถือ ฯลฯ แล้วพาร่างกายออกจากตัวรถโดยทันที
4. เมื่อออกมาพ้นตัวรถแล้ว ให้รีบโทรศัพท์ (ถ้ามี) แจ้ง 191 หรือ 1584 หรือ 1193
5. เมื่อดำเนินการตามข้อ 1 – 4 เรียบร้อยแล้ว หากท่านยังพอมีแรงอยู่ ให้ท่านเข้าช่วยเหลือผู้โดยสารคนอื่นที่บาดเจ็บเท่าที่พอจะช่วยได้ หากไม่สามารถทำได้ ให้บุคคลอื่นมาช่วยเหลือ
6. (ถ้ามีสติและทำได้) ควรถ่ายรูปสถานที่เกิดเหตุและบริเวณโดยรอบ ถ่ายภาพตอนบาดเจ็บของตนเองและคนอื่นที่บาดเจ็บ ไว้เป็นหลักฐานด้วยโทรศัพท์มือถือ เพื่อเป็นข้อมูลและพยานหลักฐานสำหรับการเรียกร้องค่าเสียหาย
7. เมื่อผู้โดยสารที่บาดเจ็บถูกนำตัวส่งโรงพยาบาล หากบาดเจ็บไม่มากและรู้สึกตัวดี ผู้บาดเจ็บต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริงกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือพนักงานสอบสวนที่มาขอข้อมูลของผู้บาดเจ็บเพื่อเป็นหลักฐาน
8. ผู้โดยสารที่บาดเจ็บสามารถใช้สิทธิรักษาพยาบาลเบื้องต้น ได้ตามสิทธิ พ.ร.บ. รถ จากบริษัทประกันภัยของรถยนต์คันที่โดยสาร
1. ค่ารักษาพยาบาล เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงไม่เกิน 65,000 บาท เงินส่วนนี้โรงพยาบาลที่ผู้ประสบภัยไปรับการรักษาจะเป็นผู้ทำเรื่องรับแทนกรณีเป็นผู้โดยสารใช้สิทธิได้เต็มโดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิด
2. ค่าปลงศพ กรณีของผู้เสียชีวิต จำนวนเงิน 2 แสนบาท ในกรณีที่ผู้ประสบภัย เสียชีวิต สูญเสียอวัยวะ หรือทุพพลภาพอย่างถาวร
3. เงินชดเชยรายวัน วันละ 200 บาท รวมกันไม่เกิน 20 วัน สำหรับการชดเชยรายวันกรณี เข้ารักษาในสถานพยาบาลในฐานะคนใข้ใน (กรณีนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล) รวม 4,000 บาท
9. ผู้โดยสารที่บาดเจ็บต้องตรวจสอบข้อมูลการทำประกันภัยของรถโดยสารคันเกิดเหตุ กับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล หรือพนักงานสอบสวน หรือตัวแทนของคู่กรณี (เจ้าของรถ หรือบริษัทประกันภัย) ว่ารถโดยสารคันเกิดเหตุทำประกันภัยภาคสมัครใจไว้หรือไม่ ถ้าทำๆไว้กับบริษัทใด เพราะ ผู้โดยสารจะมีสิทธิได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์
สิทธิผู้โดยสาร 10 ข้อ นั่นคือ
1. ผู้โดยสารมีสิทธิร้องเรียน ฟ้องร้อง เพื่อให้ผู้ให้บริการหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการแก้ไขปัญหา เยียวยา หรือชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น
2. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายจากการประกันภัย โดยไม่มีการประวิงเวลาหรือบังคับให้ประนีประนอมยอมความ
3. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายทั้งทางร่างกาย อนามัย เสรีภาพ ทรัพย์สิน และสิทธิอื่นๆ ที่ถูกละเมิด
4. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการชดใช้ความเสียหายด้วยหลักแห่งพฤติการณ์ และความร้ายแรงแห่งละเมิด
5. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะรวมตัวกันเพื่อพิทักษ์สิทธิของตนและของผู้อื่น
6. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความปลอดภัยจากการใช้บริการรถโดยสารสาธารณะ
7. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับการบริการจากรถโดยสารสาธารณะ และผู้ให้บริการที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน
8. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับข้อมูลข่าวสาร รวมทั้งคำพรรณนาคุณภาพที่เกี่ยวกับบริการรถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ถูกต้อง เป็นจริง ครบถ้วน เพียงพอต่อการตัดสินใจใช้บริการ
9. ผู้โดยสารมีสิทธิที่จะได้รับความเป็นธรรมในด้านสัญญา และราคาค่าบริการ
10. ผู้โดยสารมีอิสระในการเลือกใช้บริการรถโดยสารสาธารณะด้วยความสมัครใจ และปราศจากการชักจูงอันไม่เป็นธรรม
เบอร์โทรสำคัญที่ผู้โดยสารควรรู้
1584 ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ
1348 ศูนย์รับร้องเรียนขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ
1193 ตำรวจทางหลวง
1186 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและ
ส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย
1166 สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค
02 629 1430 สภาทนายความ
02 248 3737 มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค