สัญญารถเช่ารถโดยสารไม่ประจำทาง

วิธีการเลือกเช่ารถรับจ้างให้ปลอดภัย

610215 howtobusจากผลการดำเนินการของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคที่ผ่านมา ๒ ปี ต่อประเด็นสิทธิผู้ใช้บริการรถโดยสารสาธารณะและการเยียวยาความเสียหายพบว่า มีคดีอุบัติเหตุรถโดยสารไม่ประจำทางหรือรถโดยสารแบบเช่าเหมาคันซึ่งส่วนใหญ่ใช้เพื่อการทัศนาจร เพื่อรถรับส่งพนักงาน ยื่นฟ้องต่อศาลเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย จำนวน ๔๙ คดี จาก ๑๒๔ คดี คิดเป็นร้อยละ ๓๙.๕๒ ร้อยละ ๓๓.๔๘



สาเหตุมาจากพนักงานขับรถ ที่ขาดความชำนาญในเส้นทาง ความเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย เพราะขับขี่คนเดียวเป็นเวลานานโดยไม่มีพนักงานสับเปลี่ยน ร้อยละ ๒๗.๒๘ เกิดจากความไม่พร้อมของสภาพรถโดยสาร และ ร้อยละ ๑.๒๔ เกิดจากปัจจัยแวดล้อมอื่นๆ เช่นถนน ทัศนวิสัยไม่เหมาะสม ดังนั้น หากจะเลือกใช้บริการรถโดยสารไม่ประจำทางหรือรถโดยสารแบบเช่าเหมาคันให้ปลอดภัย สบายใจเมื่อใช้บริการ จึงต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้ คือ

ก่อนทำสัญญา
๑. การเลือกบริษัทรถ ต้องเลือกบริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ไม่ควรเลือกบริษัทรถที่เป็นรถส่วนบุคคล ผู้ประกอบการรายเดี่ยว เพราะหากเป็นนิติบุคคลจะได้มีการควบคุมจากสมาคมผู้ประกอบการรถโดยสารไม่จำทาง(สสท.) เมื่อเกิดอุบัติเหตุก็จะมีผู้รับผิดชอบชดเชยเยียวยาความเสียหายแน่นอน สามารถไล่เบี้ยได้ดีกว่าผู้ประกอบการที่เป็นตัวบุคคลซึ่งอาจจะไม่มีทรัพย์สิน เงินทุนเพียงพอที่จะนำมาจ่ายชดเชยให้กับผู้ประสบภัยทุกราย


๒. รายละเอียดในการทำสัญญาต้องมีความชัดเจน ประกอบไปด้วย


- ต้องระบุแผนที่เส้นทางการเดินทาง จากต้นทาง-ปลายทาง ที่แน่นอน

- ต้องระบุหมายเลขทะเบียนรถคันที่จะให้นำมาให้บริการในสัญญาด้วย

- ต้องระบุชื่อของพนักงานขับรถ ในกรณีที่ต้องเดินทางในระยะทางเกิน ๔๐๐ กิโลเมตร โดยจะต้องมีพนักงานสับเปลี่ยนกัน ๒ คน หรือหากมีพนักงานขับรถเพียงคนเดียวก็ต้องมีการระบุถึงจุดพัก หรือระยะเวลาการจอดพักรถไม่น้อยกว่า ๓๐ นาทีทุก ๔ ชั่วโมง

- พนักงานขับรถต้องมีใบอนุญาตขับขี่ ให้ขับรถประเภทรถสาธารณะ จากกรมการขนส่งทางบกเท่านั้น

- ต้องแนบใบตรวจสภาพรถยนต์จากกรมการขนส่งทางบกกับสัญญาว่าจ้างด้วย ซึ่งระยะเวลาที่ระบุไม่ควรเกิน ๒ เดือน ภายหลังจากการตรวจสภาพ

- ต้องแนบเอกสาร กรมธรรม์ทั้งภาคบังคับ(พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. ๒๕๓๕) กรมธรรม์ภาคสมัครใจ ของรถคันที่ทำการว่าจ้าง ซึ่งผู้ว่าจ้างจะต้องตรวจสอบว่าถูกต้อง ตรงกับเลขทะเบียนรถหรือไม่


๓. สภาพของรถโดยสาร
ผู้ว่าจ้างต้องไปตรวจสอบสภาพรถด้วยตนเองว่ามีความเหมาะสม ปลอดภัยในการเดินทางหรือไม่ โดยที่ควรใช้งานต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้

- ถ้าต้องเดินทางไกล ในเส้นทางที่มีลักษณะภูมิประเทศเป็นหุบเหว คดเคี้ยว ลาดเอียงไม่ใช่เส้นทางพื้นราบ ควรเลือกใช้รถโดยสารชั้นเดียวเท่านั้น

- ต้องมีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัยทุกที่นั่ง และสามารถใช้ได้จริง หยิบใช้สะดวก

- ต้องเป็นเบาะที่นั่งยึดโยงกับพื้นรถ ติดกับที่ ไม่เป็นแบบสไลด์ หรือสามารถถอดเข้าออกเพื่อเพิ่มปริมาณเบาะที่นั่งจนน๊อตหลวม

- ต้องมีอุปกรณ์นิรภัยติดตั้งบนรถ เช่น ค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง รวมทั้งมีทางออกฉุกเฉิน เป็นต้น

 



ก่อนเดินทาง
ต้องตรวจสอบว่าผู้รับจ้างปฏิบัติตรงกับที่ทำสัญญาหรือไม่ หากพบว่ามีสิ่งหนึ่งประการใดไม่เป็นไปตามข้อตกลง เช่นไม่นำรถยนต์คันที่ตกลงในสัญญามาให้บริการ ผู้ว่าจ้างสามารถยกเลิกสัญญาได้ทันที และสามารถเรียกร้องให้ผู้รับจ้างชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้นได้ด้วย

ระหว่างเดินทาง
หากพบว่ามีการขับรถหวาดเสียว ขับเร็ว ขาดความระมัดระวัง หรือรู้สึกถึงความผิดปกติอื่นใดในตัวรถ ให้ทำการเตือนกับพนักงานขับรถ หากไม่เชื่อฟังหรือไม่แก้ไข ผู้โดยสารควรแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือรีบแจ้งกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารรถสาธารณะ ๑๕๘๔ หรือสายด่วนกองบังคับการตำรวจทางหลวง ๑๑๙๓ หรือกับบริษัทรถที่ว่าจ้าง โดยทันที

หลังเกิดเหตุ
สำหรับผู้เสียหายสามารถเรียกร้องการชดเชย เยียวยากับ พนักงานขับรถ เจ้าของบริษัทรถโดยสารคันที่เกิดเหตุ และบริษัทประกันภัย ทั้งค่ารักษาพยาบาล ค่าปลงศพในกรณีที่เสียชีวิต ความเสียหายของทรัพย์สิน ที่นำติดตัวไปในการเดินทาง ขาดโอกาสหรือสูญเสียโอกาสในการทำงาน ขาดไร้ผู้อุปการะ และที่คนส่วนใหญ่อาจจะนึกไม่ถึงคือการที่ผู้โดยสารเดินทางไม่ถึงจุดหมายปลายทาง หรือตลอดจนความเสียหายทางด้านจิตใจ

โดยทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยินดีให้คำปรึกษา แนะนำ หรือช่วยดำเนินการด้านคดีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้นที่หมายเลขโทรศัพท์ ๐๒-๒๔๘-๓๗๓๗

พิมพ์ อีเมล