องค์กรผู้บริโภคภาคอีสานและผู้เสียหายจากรถโดยสารสาธารณะเรียกร้องให้มีกองทุนชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุจากรถโดยสารสาธารณะ

13 กค1

วันนี้ (13 ก.ค./รร.ริมปาว กาฬสินธุ์) กลุ่มผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะ ร่วมกับ เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน นักวิชาการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จัดเวทีสภาผู้บริโภคภาคอีสาน รวมกลุ่มผู้เสียหายกับการยกระดับความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของผู้บริโภค หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง พัฒนาคุณภาพรถโดยสารสาธารณะ หาแนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อยกระดับนโยบายการคุ้มครองผู้บริโภครถโดยสารสาธารณะ


นายอุรุพงษ์ เวียงทอง ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะบริษัทนครชัยแอร์ กล่าวว่า ผมและภรรยาได้เดินทางจากมุกดาหารไปกรุงเทพฯ แล้วประสบอุบัติเหตุขึ้น ผมได้รับบาดเจ็บหลายแห่ง ทำให้ไม่สามารถประกอบอาชีพได้ ส่วนภรรยาบาดเจ็บเล็กน้อย หลังเกิดเหตุผมได้โพสต์ภาพอุบัติเหตุแล้วมีนักข่าวนำไปเผยแพร่ทำให้สมาคมผู้บริโภคขอนแก่นเข้ามาให้ความช่วยเหลือ จึงนำไปสู่กระบวนการยุติธรรม
“สิ่งที่ผมต้องการคือเอาความยุติธรรม ไม่อยากให้ตัวเราเป็นอะไรที่ผ่านไปเลย เพื่อเป็นบทเรียนให้ผู้บริโภคคนอื่นได้ต่อสู้ บางคนเห็นว่าเป็นความยุ่งยากเลยไม่สู้” นายอุรุพงษ์ เวียงทอง กล่าว

ด้าน นางสนธยา ตะก้อง ผู้เสียหายจากอุบัติเหตุรถโดยสารสาธารณะวังน้ำเขียว กล่าวว่า ได้เดินทางไปกับรถโดยสารที่เกิดเหตุ ก่อนไปได้คุยกับคนที่ชวนว่ารถของบริษัทกันเองทัวร์เป็นรถเก่าไม่มีรถใหม่ ระหว่างเดินทางถึงทราบว่าคนขับขาไปและขากลับเป็นคนละคน โดยคนขับคนที่สองในขากลับมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อความไม่ปลอดภัย ทั้งไม่ยอมจอดให้ผู้โดยสารกินข้าวกลับเหยียบเร่งความเร็ว พอถึงจุดเกิดเหตุคนขับรถบอกว่ารถไม่มีลมเบรกแล้วและกระโดดรถหนีไป ทำให้รถเสียหลักพุ่งชนต้นไม้ เป็นเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว
“นี่ไม่ใช่อุบัติเหตุ ถ้าอุบัติเหตุคุณต้องพยุงรถไว้สิ อบต.โพนาคำบอกว่าคันนี้ไปรับเขามาเสียกลางทางซ่อมแล้วมารับเจ้ต่อ ตอนนี้ต้องรักษาด้วยการฝังเข็มอีก 1 ปี” นางสนธยา ตะก้อง กล่าว

นายกฤษฎา มะลิซ้อน ขนส่งจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า กฎหมายมีการกำหนดมาตรฐานรถไว้ว่ารถทุกคันต้องทะเบียนและต้องผ่านการตรวจสภาพ ปัจจัยที่เกิดเหตุ เช่น การสวมทะเบียน ไม่ยอมต่อทะเบียน ฯลฯ อีกทั้งเจ้าหน้าที่ไม่เพียงพอในการตรวจรถในท้องถนน นอกจากนี้ยังมีรถนำเข้าจากต่างประเทศและที่ผลิตในประเทศตรงนี้จะมีผู้เชี่ยวชาญตรวจเช็คความปลอดภัยก่อนจะออกใบอนุญาต

ดร.สุเมธ องกิตติกุล นักวิชาการอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่าเมื่อเกิดเหตุแล้วต้องชดเชยเยียวยานั้นค่อนข้างยาก และล่าช้า จากประสบการณ์การทำงานพบว่าสิ่งที่ดีที่สุดควรผ่านระบบประกันภัย โดยร่วมกับ คปภ.ในการเร่งให้ความช่วยเหลือการจ่ายค่าชดเชยเยียวยาความเสียหาย ในส่วนของกองทุนช่วยเหลืออุบัติเหตุจากรถโดยสารธารณะเป็นเรื่องที่น่าสนใจ และน่าที่จะมีการมีการผลักดันร่วมกันต่อไป

ด้าน นายกฤษฎา มะลิซ้อน ขนส่งจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่า พฤติกรรมคนขับไม่สามารถควบคุมได้ แต่มีกฎหมายกำหนดกำหนดโทษ ซึ่งต้องให้ผู้บริโภคช่วยแจ้งข้อมูลเข้ามาที่ 1584 สามารถโทรได้ตลอดเวลา หากโทรจังหวัดไหนก็จะเข้าจังหวัดนั้น สามารถเช็คข้อมูลรถได้ แจ้งชื่อคนขับเพื่อตรวจสอบได้

ด้าน นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้จัดการสมาคมผู้บริโภคขอนแก่น กล่าวว่า จากการแลกเปลี่ยนกับผู้เสียหายได้จัดทำข้อเสนอว่า

  1. ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลให้ผู้บริโภคทราบ เช่น ข้อมูลการจดทะเบียนของผู้ประกอบการ ข้อมูลรถ การตรวจสภาพ ทดสอบลาดเอียง สถิติการถูกร้องเรียน อุบัติเหตุ และเปิดเผยข้อมูลผ่านเว็บไซต์ ภายในสิ้นปี 2561 
  2. กำหนดเส้นทางเสี่ยงอันตรายสำหรับรถสองชั้น โดยพิจารณาจากสภาพถนน ทางโค้งลาดชัน จำนวนการเกิดอุบัติเหตุ และระยะทางไกลของรถขนาดใหญ่ พร้อมกำหนดบทลงโทษ หากมีการฝ่าฝืนมาตรการความปลอดภัย / พัฒนาระบบ GPS ให้สอดคล้องกับสภาพถนน
  3. เพิ่มวงเงินประกันภัย คือ ภาคบังคับ กรณีเสียชีวิตจาก 3 แสนบาท เป็น 1 ล้านบาทต่อราย โดยให้แยกเงินชดเชยกรณีเสียชีวิต กรณีทุพพลภาพออกจากค่ารักษาพยาบาลจาก 8 หมื่นบาท เป็น 1.5 แสนบาทต่อราย ภาคสมัครใจเฉพาะการชดเชยเยียวยาผู้ประสบเหตุ จาก 10 ล้านบาทเป็น 30 ล้านบาทต่อครั้ง และให้แยกค่ารักษาพยาบาลออกจากค่าซ่อมรถด้วย
  4. ให้มีกองทุนชดเชยเยียวยาผู้ประสบภัยจากรถโดยสารสาธารณะ ภายในปี 2562 โดยมีที่มาของเงินกองทุน: ค่าปรับจราจรทางบก / กองทุนเลขสวย เป็นต้น
  5. มีตัวแทนผู้บริโภคเข้าไปเป็นคณะกรรมการควบคุมขนส่งทางบกประจำจังหวัด และศูนย์อำนวยการความปลอดภัยระดับจังหวัด (ดูความพร้อมจังหวัด บทบาทคณะกรรมการมีบทบาทแต่กต่างกัน)
  6. ยกระดับคนขับรถโดยสารสาธารณะขนาดใหญ่ (คุณภาพชีวิตคนขับ / ศักดิ์ศรีในการประกอบการอาชีพคนขับ / มีสวัสดิการ / เงินเดือนที่เหมาะสม / อายุคนขับที่เหมาะสม / ผ่านการอบรม-พัฒนาทักษะ)

อย่างไรก็ตาม การคุ้มครองผู้บริโภคนั้นผู้บริโภคต้องให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัย หากพบความเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงนั้น เช่น ไม่ขึ้นรถคันนั้น หรือ โทรแจ้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ 1584 ให้มีการสกัดจับ เป็นต้น

Tags: รถตู้,, รถโดยสารสองชั้น , มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค, ฟ้องคดีแบบกลุ่ม, คดีผู้บริโภค, ผู้ริโภค, ทนายความ, บังคับคดี, รถตู้โดยสารสาธารณะ

พิมพ์ อีเมล