จี้เร่งบรรจุความปลอดภัยทางถนนในหลักสูตรการศึกษา ลดเจ็บตายบนถนน


dsc 0909 resize
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2560 ที่ จ.นครสวรรค์ - นายประทีป ศิลปเทศ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ กล่าวว่า สถิติอุบัติเหตุทางถนนจังหวัดนครสวรรค์ พบมีผู้เสียชีวิตเฉลี่ยเดือนละ 30 คน หรือเฉลี่ยวันละ 1 คน รถจักรยานยนต์มากที่สุด สาเหตุจากขับรถเร็ว ความประมาทของผู้ขับขี่ ทั้งนี้ นโยบายและแนวทางการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนได้กำหนดให้การสวมหมวกนิรภัย 100% เป็นวาระของจังหวัด โดยให้ทุกภาคส่วนรณรงค์สวมหมวกนิรภัยให้มากขึ้น เน้นตรวจจับ การสวมหมวกนิรภัย และประเมินอัตราการสวมหมวกนิรภัยทุกอำเภอ

นอกจากนี้ยังกำหนดและควบคุมความเร็วในชุมชนที่เหมาะสม จำนวน 2 สายทาง คือ ทางหลวงหมายเลข 117 และ สายเอเชีย รวมระยะทาง 12 กม. เพื่อลดความเร็ว ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางถนน ส่วนการขับเคลื่อนในระดับพื้นที่จัดให้มีการตั้งทีมสืบสวนอุบัติเหตุทางถนนลงไปตรวจสอบ case ที่สำคัญและนำข้อมูลแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปแก้ไขดำเนินการ หรือมี case ที่น่าสนใจควรเฝ้าระวังเป็นพิเศษจะให้ผู้นำชุมชนนำไปประชาสัมพันธ์เสียงตามสายเป็นลักษณะเล่าเรื่องให้เห็นถึงผลกระทบที่ตามมา พร้อมให้ชุมชนกำหนดมาตรการหรือบทบัญญัติของชุมชนกรณีมีผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร

นายพรหมมินทร์ กัณธิยะ ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) กล่าวว่า จากรายงานอุบัติเหตุทางถนนของประเทศไทยปี 2559 มีผู้เสียชีวิต 22,356 คน ช่วงวัยที่เสียชีวิตสูงสุด คือวัยรุ่นและวัยทำงานอายุ15-29 ปี อีกทั้งองค์การอนามัยโลก ยังระบุให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่เกิดอุบัติเหตุเป็นอันดับ 2 ของโลกรองจากประเทศลิเบีย ซึ่งสถานการณ์อุบัติเหตุของไทยปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่ากังวลและอยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งกลุ่มเสี่ยงสุดคือ เด็กและเยาวชน เราจึงต้องเร่งปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกความปลอดภัยทางถนนให้กับกลุ่มเสี่ยงโดยเร็ว ดังนั้นภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการหรือสถาบันการศึกษาต้องตื่นตัวได้แล้ว ที่ต้องเร่งบรรจุเรื่องความปลอดภัยทางถนนลงในหลักสูตรการศึกษามากกว่าเป็นเพียงแค่ชั่วโมงทางเลือกอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้ เพราะไม่เช่นนั้นอัตราการเสียชีวิตในเด็กและเยาวชนก็จะเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อด้านอื่นๆ อีกมาก

นายไพฑูรย์ ไวธัญกิจ อาจารย์โรงเรียนพระบางวิทยา อ.เมือง จ.นครสวรรค์ กล่าวว่า โรงเรียนพระบางวิทยา สอนตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 633 คน ถนนหน้าโรงเรียนเป็นถนนสายหลัก(พหลโยธิน) มีการจราจรหนาแน่น รถขับด้วยความเร็วสูงเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้นโรงเรียนจึงรณรงค์เรื่องความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนนให้แก่นักเรียนอย่างต่อเนื่อง และได้สมัครเข้าร่วมโครงการ “ชมรมถนนปลอดภัยในสถานศึกษา” ของบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ตั้งแต่ปี พ.ศ.2554 พื่อให้กลุ่มเยาวชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัย เน้นให้นักเรียนเป็นผู้นำในการรณรงค์ มีจิตสำนึกป้องกันตนเองและมีความรู้ หาแนวทางการป้องกันอุบัติเหตึทางถนนร่วมกัน

234 resize

untitled resize

ซึ่งในปี 2560 ที่ผ่านมา มีนักเรียนขับขี่รถจักรยานยนต์มาโรงเรียน 206 คน คิดเป็นร้อยละ 32.54 และจากการดำเนินกิจกรรมชมรม RSC มีนักเรียนสวมหมวกนิรภัยเพิ่มมากขึ้น การสูญเสียชีวิตและความรุนแรงของอุบัติเหตุลดลงตามลำดับ

นายนิมิตร ลำสกุล รองผู้อำนวยการแขวงทางหลวงนครสวรรค์ที่ 1 กล่าวว่า จากสภาพปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของจังหวัดนครสวรรค์ที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง คือ บริเวณแยกมณีวงศ์ ที่เป็นเส้นทางหลักสายเอเชียมุ่งหน้าสู่ภาคเหนือมีปริมาณรถสัญจรมากเฉลี่ย 48,925 คันต่อวัน รถบรรทุกมักใช้กลับรถและเป็นแยกที่ประชาชนตลอดจนนักศึกษาใช้เดินทางมากที่สุดเพราะอยู่ใกล้สถาบันการศึกษา จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุในรอบ 2 ปี นับแต่ปี 2559 เกิดอุบัติเหตุ 8 ครั้ง เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บ 6 ราย และปี 2560 เกิดอุบัติเหตุ 10 ครั้ง เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บ 9 ราย โดยจังหวัดนครสวรรค์และแขวงการทางฯ จึงได้จัดทำโครงการแก้ไขจุดเสี่ยงแยกวัดมณีวงศ์ขึ้น

ทั้งนี้ก่อนได้รับการแก้ไขบริเวณดังกล่าวยังไม่มีการติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ป้ายเตือน หรือการตีเส้นถนนจึงทำให้มีความเสี่ยงสูง ซึ่งล่าสุดจังหวัดนครสวรรค์และแขวงการทางนครสวรรค์ที่ 1 ได้ทำแผนงบประมาณปี 2561 อนุมัติงบประมาณวงเงินกว่า 1,327,000 บาท เพื่อติดตั้งสัญญาณไฟจราจร ตีเส้นจราจร ติดตั้งป้าย ตีเส้นเสริมทั้งขาขึ้นและขาล่อง พร้อมตีเส้นลูกคลื่นชะลอความเร็วบริเวณทางแยกมณีวงศ์ระหว่างบ้านหางน้ำหนองแขมถึงบ้านหว้า ต.ย่านมัทรี อ.พะยุหะคีรี จ.นครสวรรค์ คาดว่าจะช่วยลดอุบัติเหตุได้ถึงร้อยละ 50 ส่วนในอนาคตจะมีแผนโครงการออกแบบก่อสร้างสะพานกลับรถ (สะพานเกือกม้า) โดยสำนักสำรวจและออกแบบ กรมทางหลวง บริเวณหน้ามหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์ วิทยาเขตย่านมัทรี เพื่อป้องกันอุบัติเหตุทางถนนต่อไป

 

อ่านข้อมูลเพิ่มเติม สำนักข่าว Hfocus เจาะลึกระบบสุขภาพ

พิมพ์ อีเมล