ฉลากจีเอ็มโอในประเทศไทย มีมานานตั้งแต่ปีพ.ศ. 2545 ครอบคลุมอาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีจีเอ็มโอ เพียง 2 ชนิดคือถั่วเหลืองและข้าวโพดใน 22 รายการ และยอมรับให้มีการตกค้างของวัตถุดิบที่มีจีเอ็มโอ ร้อยละ 5 เนื่องจากในสมัยนั้นห้องทดลองของประเทศไทย สามารถตรวจสอบการตกค้างจีเอ็มโอได้เพียงร้อยละ 3 ทำให้เรายอมรับการตกค้างมากถึงร้อยละ 5
แต่ปัจจุบันอาหารและสินค้าที่มีในจีเอ็มโอ มีมากขึ้น นอกเหนือจากถั่วเหลืองและข้าวโพด ยังมีมะละกอ มันฝรั่ง และปลาเซลมอน อยู่ในประเทศไทย
ปัญหาฉลากจีเอ็มโอในอดีต ที่สำคัญ คือการมองไม่เห็นฉลาก และยอมรับให้มีการตกค้างมากเกินไป ควรลดปริมาณตกค้างลงมาเหลือร้อยละ 1 โดยมีข้อเสนอให้ใช้สัญญลักษณ์ที่มองเห็นได้ง่ายในฉลาก ไม่ใช่ต้องใช้แว่นขยายในการดูฉลากเหมือนฉลากในปัจจุบันและที่สำคัญต้องให้บริษัทผู้ผลิตอาหารมีนโยบายไม่ใช้วัตถุดิบที่มาจากจีเอ็ม โอเหมือนอย่างที่บริษัทเนสเล่ท์มีนโยบายเรื่องผลิตภัณฑ์ในสหภาพยุโรป(EU)
ประกาศของอย. เรื่องจีเอ็มโอ มีมานานตั้งแต่ปี 2545
(สำเนา)
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข
(ฉบับที่ 251) พ.ศ.2545
เรื่อง การแสดงฉลากอาหารที่ได้จากเทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม
เพื่อเป็นการให้ข้อมูลต่อผู้บริโภคสำหรับการแสดงฉลากอาหารที่ได้จาก เทคนิคการดัดแปรพันธุกรรมหรือพันธุวิศวกรรม อาศัยอำนาจตามมาตรา 5 และมาตรา 6(10) แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 อันเป็นพระราชบัญญัติที่มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและ เสรีภาพของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 35 มาตรา 48 และมาตรา 50 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยบัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบท บัญญัติแห่งกฎหมาย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ที่ได้จาก
เทคนิคการดัดแปรพันธุกรรม (Genetic modification) หรือพันธุวิศวกรรม (Genetic engineering) เป็นอาหารที่ต้องมีฉลาก
ข้อ 2 อาหารตามข้อ 1 หมายความว่า ถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง ข้าวโพดและผลิตภัณฑ์จากข้าวโพด ตามรายชื่อในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ที่มีสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) หรือโปรตีนที่เป็นผลจากการดัดแปรพันธุกรรมนั้นอยู่ตั้งแต่ร้อยละ 5 ของแต่ละส่วนประกอบที่เป็นส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรก และแต่ละส่วนประกอบดังกล่าวนั้นมีปริมาณตั้งแต่ร้อยละ 5 ของน้ำหนักผลิตภัณฑ์
ข้อ 3 การแสดงฉลากของอาหารตามข้อ 1 ให้ปฏิบัติ ดังนี้
3.1 ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องอาหารนั้น ๆ
3.2 ให้ปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 194) พ.ศ.2543 เรื่อง ฉลาก
ลงวันที่ 19 กันยายน พ.ศ.2543
ยกเว้นการปฏิบัติตามข้อ 3(1) และ (5) ของประกาศกระทรวงสาธารณสุข ดังกล่าว ให้ปฏิบัติดังนี้
(ก) ให้แสดงข้อความว่า “ดัดแปรพันธุกรรม” ประกอบชื่ออาหารตามข้อ 1 ที่มีส่วนประกอบสำคัญเพียงชนิดเดียว เช่น ข้อความว่า ”ข้าวโพดดัดแปรพันธุกรรม” “เต้าหู้แช่แข็งผลิตจาก ถั่วเหลืองดัดแปรพันธุกรรม” เป็นต้น
(ข) ให้แสดงข้อความว่า “ดัดแปรพันธุกรรม” ในส่วนประกอบหลัก 3 อันดับแรกที่ใช้อาหารตามข้อ 1 ไว้ท้ายหรือใต้ชื่อส่วนประกอบนั้น ๆ ตามแต่กรณี เช่น ข้อความว่า “แป้งข้าวโพด ดัดแปรพันธุกรรม” เป็นต้น
การแสดงข้อความดังกล่าวข้างต้นให้แสดงด้วยตัวอักษรที่อ่านได้ชัดเจน มีขนาดสัมพันธ์กับขนาดของพื้นที่ฉลาก ข้อ 4 ความในข้อ 3 ของประกาศนี้ ไม่ใช้บังคับกับผู้ผลิตรายย่อยที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคโดยตรง
“ผู้ผลิตรายย่อย” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ผู้ผลิตขนาดเล็กที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภค โดยตรงในวงแคบ และผู้ผลิตสามารถให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภคได้โดยตรงด้วย
ข้อ 5 เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริโภคเข้าใจผิดเกี่ยวกับการแสดงฉลากอาหารตามประกาศนี้
ห้ามใช้ข้อความว่า “ปลอดอาหารดัดแปรพันธุกรรม” หรือ “ไม่ใช่อาหารดัดแปรพันธุกรรม” หรือ “ไม่มีส่วนประกอบของอาหารดัดแปรพันธุกรรม” หรือ “มีการคัดหรือแยกส่วนประกอบที่มีการดัดแปรพันธุกรรมออก” หรือข้อความอื่นในทำนองเดียวกัน
ข้อ 6 ประกาศนี้ ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2545
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
(ราชกิจจานุเบกษาฉบับประกาศทั่วไป เล่ม 119 ตอนพิเศษ 42 ง. ลงวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2545)