ข้อเสนอเครือข่ายบ้านไม่สมหวัง
(กรณีอสังหาริมทรัพย์และคอนโดมิเนียม)
มาตรการระยะสั้น
๑. ปรับปรุงตัวแทนในคณะกรรมการคุ้มครองให้มีองค์ประกอบจากตัวแทนผู้บริโภค ที่เดือดร้อน ถูกละเมิดสิทธิและรวมถึงตัวแทนองค์กรผู้บริโภค เพื่อให้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภคเชิงรุกมากขึ้น
๒. การสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลข่าวให้กับผู้บริโภค เพื่อให้มีความรู้พื้นฐานในการคุ้มครองตนเองที่รอบด้านโดยมีการวางเป้าหมายที่ชัดเจน
๓. ขอให้มีการลงโทษหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้ใช้กฎหมาย ที่ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ หรือร่วมมือกับเอกชนทุกจริตต่อหน้าที่ โดยต้องลงโทษที่เข้มงวดและเด็ดขาด เพราะปัญหาที่ผู้บริโภคประสบในปัจจุบันจะไม่เกิดขึ้นหรือไม่มีความทุกข์มากมายขนาดนี้ หากมีการดำเนินการลงโทษกับผู้ประกอบการที่กระทำละเมิดกับผู้บริโภคแต่รัฐกลับใช้อำนาจไปในทางที่ผิด เช่น ขัดขวางและไม่สนับสนุนผู้บริโภคที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ ใส่ร้ายป้ายสีและคุกคามผู้บริโภคที่ใช้สิทธิของตนเองตามกฎหมาย
๔. การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวด และหากไม่มีการบังคับใช้กฎหมาย ศาลปกครองสามารถดำเนินการได้โดยไม่ต้องให้ผู้บริโภคร้องเรียน เช่น ผู้จัดสรรที่ดินจะต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน กองทุนในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภค การปรับปรุงข้อสัญญาที่เป็นธรรมให้รวมถึงคุณภาพของวัสดุในการก่อสร้างด้วย
๕. การปรับปรุงมาตรการลงโทษและเปรียบเทียบปรับในการละเมิดสิทธิผู้บริโภคด้านอสังหาริมทรัพย์ให้เพิ่มสูงขึ้น
๖. การพัฒนาระบบข้อมูลให้สามารถเชื่อมโยงในหน่วยงานทั้งของรัฐที่เกี่ยวข้องและเอกชนในการทำงานคุ้มครองผู้บริโภค เช่น บริษัทที่ได้รับอนุญาตการจัดสรรที่ดิน เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภค
๗. การผลักดันให้เกิดกลไกการให้ความช่วยเหลือผู้บริโภคในชั้นศาล
๘. เพิ่มมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคในกระบวนการจัดสรรที่ดินและรวมถึงให้การเคหะแห่งชาติแจ้งคณะกรรมการจัดสรรที่ดินกลางเรื่องแผนผังการจัดสรร การแจ้งพื้นที่ส่วนกลางที่ชัดเจนและเปิดเผยให้กับผู้ซื้อของการเคหะแห่งชาติ
๙. พัฒนากลไกในการบังคับคดี เพื่อสนับสนุนให้ผู้บริโภคได้รับการชดใช้เยียวยาเมื่อชนะคดี
๑๐.การอบรมเรื่องนิติบุคคลอาคารชุดและบ้านจัดสรรให้กับส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้อยู่อาศัยได้มีส่วนร่วมกับการพัฒนาบ้านจัดสรรและอาคารชุดของตนเอง
มาตรการระยะยาว
๑. ให้มีการสร้างหลักประกันให้กับผู้ซื้อบ้านที่ไม่ได้บ้าน เช่น กลไกการประกันเงินดาวน์ รวมถึงกองทุนชดเชยความเสียหายให้กับผู้ซื้อบ้านที่ไม่ได้บ้านต้องได้รับเงินคืนพร้อมดอกเบี้ยโดยไม่มีการหักค่าใช้จ่ายและเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น โดยเงินอาจจะมาจากทั้งผู้ประกอบการและการนำเงินของผู้บริโภคบางส่วนที่จ่ายให้ผุ้ประกอบการในการดาวน์บ้านหรืออาจจะทำระบบการรับประกันการดาวน์ที่ชัดเจน
๒. ขอให้มีการออกกฎหมายที่ผู้บริโภคสามารถรวมตัวกันและร่วมมือกันในการฟ้องคดีได้อย่างถูกกฎหมายเพื่อพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค Class Action เพราะ ผู้บริโภคที่ซื้อบ้านไม่มีความสามารถในการฟ้องร้องเพื่อดำเนินคดีให้ได้เงินคืนกันทุกคน เพราะมิใช่คนร่ำรวยแต่ต้องการมีบ้าน จึงไม่ควรรับภาระในการฟ้องดำเนินคดีของแต่ละคน
๓. สนับสนุนและส่งเสริม รวมทั้งเรียกร้องให้ผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ทั้งรัฐและเอกชน มีความรับผิดชอบในการสร้างบ้านให้เสร็จตามสัญญา มีคุณภาพ มาตรฐาน สร้างสาธารณูปโภคตามที่ได้โฆษณาไว้ และต้องไม่นำพื้นที่ส่วนกลางไปหาผลประโยชน์ ผู้ประกอบการที่ดีต้องมีความรับผิดชอบเพื่อสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการจากต่างประเทศที่กำลังจะมีขึ้นมากมาย
๔. ขอให้มีการลงโทษหน่วยงานหรือเจ้าหน้าที่รัฐในฐานะผู้ใช้กฎหมายไม่ละเลยในการปฏิบัติหน้าที่ เพราะปัญหาที่ผู้บริโภคประสบในปัจจุบันจะไม่เกิดขึ้นหรือไม่มีความทุกข์มากมายถึงขนาดนี้หากมีการดำเนินการลงโทษกับผู้ประกอบการที่กระทำละเมิดกับผู้บริโภค แต่รัฐกลับใช้อำนาจไปในทางที่ผิด เช่น ขัดขวางและไม่สนับสนุนผู้บริโภคที่ออกมาเรียกร้องสิทธิ ใส่ร้ายป้ายสีและคุกคามผู้บริโภคที่ใช้สิทธิของตนเองตามกฎหมายทั้งที่คนเหล่านี้ไม่ได้ทำเพื่อตัวเองเท่านั้น แต่กำลังสร้างบรรทัดฐานให้กับการคุ้มครองผู้บริโภคในเมืองไทย
๕. การปรับปรุงกฎหมายให้เห็นความสำคัญของการคุ้มครองผู้บริโภค เช่น การแจ้งบัญชีงบดุลของนิติบุคคลอาคารชุดต่าง ๆ หนี้สินของผู้บริโภคจะต้องเป็นหนี้บุริมสิทธิเช่นเดียวกับสถาบันการเงิน พ.ร.บ.ล้มละลายหรือการปรับปรุงกฎหมายให้ผู้ประกอบการรายใหม่จะต้องรับผิดชอบกับผู้บริโภคทั้งทรัพย์สินและหนี้สินในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
๖. การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้รวดเร็วและมีความเชี่ยวชาญเรื่องคดีผู้บริโภคมากขึ้น เช่น คดีทรัพย์สินทางปัญญา
๗. พัฒนาจริยธรรมของส่วนต่าง ๆ ในการคุ้มครองผู้บริโภคของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข้อเสนอเชิงนโยบายต่ออาคารชุดและคอนโดมิเนียม
๑. ผลักดันให้มีการแก้ไขพรบ.อาคารชุดที่เป็นประโยชน์กับผู้อยู่อาศัย โดยยึดหลักการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้บริโภค (ฅนคอนโด) ในการเข้าร่วมพิจารณาหรือปรับปรุงกฎหมายฉบับนี้
- ปี พ.ศ. ๒๕๔๙ เครือข่ายคนคอนโดร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ผลักดันและเสนอให้มีการแก้ไขพ.ร.บ.อาคารชุดและบังคับใช้ในปัจจุบัน และมีบทบาทในการเข้าไปเป็นคณะกรรมการชุดต่างๆ เช่น การแก้ไขแบบสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด(อช. ๒๒) ภายใต้ พ.ร.บ.อาคารชุด พ.ศ. ๒๕๕๑
๒. จัดทำและเผยแพร่คู่มือการเลือกซื้อคอนโดมีเนียม,อาคารชุด สำหรับผู้บริโภค
๓. เผยแพร่การบริหารจัดการคอนโดมิเนียมที่มีประสิทธิภาพ โปร่งใส ตรวจสอบได้และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้อยู่อาศัย