ทำไม ‘โทลล์เวย์’ ถึงไม่ควรขึ้นราคา?
เขียนโดย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค วันที่ . จำนวนผู้ชม: 14783
ทำไม ‘โทลล์เวย์’ ถึงไม่ควรขึ้นราคา? มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคอยากชวนทุกคนมาดูลำดับเหตุการณ์และเส้นทางราคาของทางยกระดับนี้กัน
----------
? ปี 2532 - บริษัทดอนเมืองโทลล์เวย์ (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน)) ได้สัมปทานสร้างทางยกระดับ ดินแดง - ดอนเมือง สัมปทานมีอายุ 25 ปี คือตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2532 - 20 สิงหาคม 2557 และเก็บอัตราค่าบริการเป็นขั้นบันไดตามระยะทาง โดยใน 8 ปีแรก เก็บค่าผ่านทางรถสี่ล้อ 10 - 20 บาท ส่วนรถหกล้อขึ้นไปต้องเสีย 20 - 30 บาท สำหรับปีที่ 9 - 13 ให้เพิ่มขึ้นคันละ 5 บาท และหลังจากปีที่ 4 จนสิ้นสุดสัญญาให้เพิ่มขึ้นอีก 5 บาท
? ปี 2538 - กรมทางหลวง และบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ได้จัดทำบันทึกแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีสาระสำคัญว่า บริษัทฯ จะไม่ขอปรับอัตรา หรือขออนุญาตขึ้นค่าผ่านทางตามที่ระบุไว้ในสัญญาสัมปาทานทางหลวงปี 32 ยกเว้นจะมีการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ /นั่นแปลว่า ประชาชนจะได้ใช้ทางยกระดับดินแดง - ดอนเมืองในราคา 20 บาท จนถึงปี 2557
? ปี 2539 - มีโครงการสร้างทางยกระดับส่วนต่อขยาย ดอนเมือง - อนุสรณ์สถาน เพื่อแก้ปัญหาการจราจรบริเวณหน้าสนามบินดอนเมือง ซึ่งบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ได้สัมปทานทั้งที่ไม่มีการประมูล /มีการผนวกรวมสัญญา รวมทั้งขยายอายุสัมปทานและส่วนต่อขยายไปอีก 25 ปี (ตั้งแต่ วันที่ 29 พฤศจิกายน 2539 - 28 พฤศจิกายน 2564) โดยระบุให้ใช้อัตราค่าผ่านทางดินแดง - ดอนเมือง ตามสัมปทานเดิม ส่วนช่วงดอนเมือง - อนุสรณ์สถาน ให้เก็บค่าผ่านทาง 15 บาทสำหรับ รถ 4 ล้อ และ 25 บาท สำหรับรถหกล้อขึ้นไป โดยให้ปรับอัตราค่าผ่านทางเพิ่มขึ้นอีก 10 บาท ทุกๆ 5 ปี
? ปลายปี 2541 - มีการสร้างถนน Local Road จากถนนพระรามที่ 6 ช่วงบริเวณหลังกรมทางหลวง พญาไท ถึงบริเวณสถานีรถไฟรังสิต โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อระบายการจราจร เนื่องจากกรุงเทพฯ ได้เป็นเข้าภาพ Asian game ครั้งที่ 3 จัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต
? ปี 2542 - บริษัทฯ ยื่นหนังสือต่อกรมทางหลวง ระบุว่าบริษัทฯ ขาดทุน เนื่องจากการสร้าง Local road ทำให้คนใช้โทลล์เวย์ลดลง ถือว่ารัฐบาลทำผิดสัญญากับเอกชน จะดำเนินการฟ้องร้อง
|
ระหว่างนี้ บริษัทฯ กรมทางหลวง และรัฐบาล ได้มีการส่งหนังสือ ประชุม และเจรจากันอยู่เรื่อยๆ
|
? ปี 2549 - 11 เมษายน ครม. มีมติ รับทราบข้อตกลงในการแก้ไขปัญหาการขาดทุนของบริษัททางยกระดับฯ และมอบกระทรวงคมนาคมไปเจรจา เพื่อนำเสนอ ครม. ชุดใหม่พิจารณา
? ปี 2550
- 10 เมษายน ครม. มีมติเห็นชอบร่างบันทึกข้อตกลง ให้ต่ออายุสัมปทานอีก 27 ปี (หากเป็นไปตามสัญญาเดิม เมื่อสิ้นสุดสัมปทาน ปี 2557 เอกชนจะต้องยกทางยกระดับทั้งหมดให้แก่รัฐทันที และกรมทางหลวงสามารถบริหารจัดการ โดยอาจจัดเก็บค่าผ่านทางบ้างเพื่อบำรุงรักษาเส้นทาง หรือไม่เก็บค่าผ่านทางเลยก็ได้)
- 12 กันยายน กรมทางหลวง และบริษัทฯ จัดทำบันทึกแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมีสาระสำคัญ 2 ข้อ คือ
* ขยายอายุสัมปทาน 27 ปี ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2550 - 11 กันยายน 2577
* กำหนดอัตราค่าผ่านทางที่เรียกเก็บจากยานพาหนะ ช่วงดินแดง - ดอนเมือง - อนุสรณ์สถาน ลงในกฎหมาย และมีผลบังคับใช้ทันที โดยไม่ต้องขออนุญาตกรมทางหลวงอีก ซึ่งถือเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ว่าด้วย พ.ร.บ. วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 และมีการเปลี่ยนวิธีการเก็บค่าผ่านทาง จากแบบขั้นบันไดเป็นราคาเดียวกันทั้งหมด และปรับอัตราค่าผ่านทาง รถสี่ล้อจาก 30 บาท เป็น 55 บาท และรถ 6 ล้อขึ้นไป จาก 70 บาท เป็น 95 บาท (คิดระยะทางจากดินแดง - อนุสรณ์สถาน)
? ปี 2552 - บริษัทฯ ประกาศขึ้นอัตราค่าบริการรถสี่ล้อจาก 55 บาท เป็น 85 บาท และรถ 6 ล้อขึ้นจาก 95 บาท เป็น 125 บาท (คิดระยะทางจากดินแดง - อนุสรณ์สถาน)
? ปี 2553 - มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน และประชาชนที่ได้รับความเสียหาย ฟ้องร้องต่อศาล เกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งขอให้ศาล มีคำสั่งยกเลิกเพิกถอนมติ ครม. เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2549 และ มติ ครม. วันที่ 10 เมษายน 2550 ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสัมปทานทางยกระดับด้วย
? ปี 2557 - บริษัทฯ ประกาศขึ้นอัตราค่าบริการรถสี่ล้อจาก 85 บาท เป็น 100 บาท และรถ 6 ล้อขึ้นไป จาก 125 บาท เป็น 140 บาท (คิดระยะทางจากดินแดง - อนุสรณ์สถาน)
? ปี 2558 - ศาลปกครองกลางวินิจฉัยว่า ให้เพิกถอนมติ ครม. กรณีขึ้นค่าบริการใช้ทางยกระดับ และขยายอายุสัมปทาน เนื่องจากเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนเกินสมควร /และในปีเดียวกันผู้ถูกฟ้องคดีได้ยื่นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุด
? ปัจจุบัน - คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ดังนั้น บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) จึงไม่ควรประกาศขึ้นอัตราค่าผ่านทาง โดยอ้างบันทึกข้อตกลงแก้ไขเปลี่ยนแปลงสัญญาสัมปทานทางหลวง ฉบับที่ 3/2550 ลงวันที่ 12 กันยายน 2550
Tags: โทลล์เวย์ขึ้นราคา, โทลล์เวย์, ทางยกระดับอุตราภิมุข, ดินแดง, ดอนเมือง, อนุสรณ์สถาน, มูลนิธิเพื่อผู้โภค
พิมพ์
อีเมล