‘ตัวแทนผู้เสียหายทัวร์ ELC’ เสนอหลักเกณฑ์และขอให้มีการแก้ไขทบทวนกฎหมาย ปัญหาทัวร์ผิดกฎหมาย ด้านรองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว รับข้อเสนอทั้งหมด ชี้จะนำไปพิจารณาปรับใช้กับ พ.รบ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ ที่กำลังจะมีการปรับแก้
จากการกระทำของบริษัท อีแอลซี กรุ๊ป จํากัด บริษัททัวร์ที่เคยเป็นข่าวว่ามีการโฆษณาขายโปรแกรมการท่องเที่ยวโดยไม่ได้แจ้งรายละเอียดโปรแกรมทัวร์ก่อนมีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า ซึ่งการโฆษณาโปรแกรมนั้นอาจมีความผิดตาม พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 มาตรา 26 และ มาตรา 27 อีกทั้งบริษัทฯ ทราบดีอยู่แล้วว่าการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้านั้นไม่สามารถดำเนินการได้ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่อาจจะเข้าข่ายฉ้อโกงประชาชน ประกอบกับขั้นตอนและระยะเวลาที่กำหนดในกฎหมายอาจล่าช้า ไม่สามารถตรวจสอบและดำเนินการและแก้ไขปัญหาได้ทัน จึงทำให้นักท่องเที่ยวได้รับผลกระทบเป็นจำนวนมากนั้น
ล่าสุด บุคลากรที่เป็นคณะกรรมการฯ และเจ้าหน้าที่ของบริษัทดังกล่าว เมื่อเกิดปัญหาแล้วกลับไม่ต้องรับโทษ ขณะที่ประชาชนที่เป็นสมาชิกนั้น หากได้รับความเสียหายจะต้องไปร้องเรียนที่หน่วยงานอื่น หรือต้องดำเนินการฟ้องคดีเอง ซึ่งเป็นการสร้างภาระให้กับผู้เสียหาย และอาจไม่สามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้หากผู้กระทำผิดหลบหนีด้วย
วันนี้ (16 สิงหาคม 2562) เวลา 13.30 น. ที่กรมการท่องเที่ยว (กทท.) เขตปทุมวัน ตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อโปรแกรมทัวร์เพื่อเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ กับ บริษัท อีแอลซี กรุ๊ป จำกัด และนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) เข้ายื่นหนังสือขอให้พิจารณาทบทวนกฎหมายและหลักเกณฑ์การอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว ต่อนางสาววันทนา แจ้งประจักษ์ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว
เพื่อเป็นแนวทางให้กรมการท่องเที่ยว ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล นำไปพิจารณาทบทวนและแก้ไขกฎหมาย เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนเป็นส่วนรวม อีกทั้งเพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาในลักษณะเช่นนี้ซ้ำอีก และให้ผู้ประกอบธุรกิจดำเนินการด้วยความสุจริต โดยมีข้อเสนอ ดังนี้
1. ขอให้กรมการท่องเที่ยวมีนโยบายและมาตรการคุ้มครองนักท่องเที่ยวที่ซื้อโปรแกรมหรือใช้บริการธุรกิจนำเที่ยวให้ได้รับการคุ้มครอง เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้รับการเยียวยา กรณีได้รับความเสียหายจากผู้ประกอบธุรกิจทันที โดยไม่ต้องรอให้มีการสั่งพักหรือเพิกถอนใบอนุญาต หรือต้องไปดำเนินการร้องเรียนต่อหน่วยงานอื่น หรือต้องฟ้องคดีเอง
2. ขอให้เพิ่มหลักเกณฑ์ในการขอใบอนุญาตที่ต้องมีรายละเอียดการประกอบธุรกิจนำเที่ยวและดำเนินการจัดนำเที่ยวประกอบในการขอใบอนุญาตประกอบธุรกิจนำเที่ยว เช่น การจัดโปรแกรมทัวร์การท่องเที่ยว การโฆษณาประชาสัมพันธ์ ช่องทางการติดต่อของบริษัท เป็นต้น และขอเสนอให้มีการตรวจสอบวิธีการดำเนินว่าเป็นไปตามที่ขออนุญาตหรือไม่ มีข้อร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวและแก้ไขปัญหาหรือไม่ และเสนอให้เป็นมาตรการในการต่อใบอนุญาตการประกอบธุรกิจด้วย
3. ขอให้มีการเพิ่มหลักเกณฑ์การวางหลักประกัน โดยพิจารณาจาก ข้อ 2 เนื่องจากการจัดนำเที่ยวเป็นธุรกิจที่มีการเรียกเก็บเงินล่วงหน้า ซึ่งปัญหาที่พบจากบริษัท อี แอล ซี กรุ๊ป จำกัด คือ การนำเงินหลักประกันมาชดเชยเยียวยาผู้เสียหายแต่ไม่เพียงพอ จึงทำให้ผู้เสียหายบางรายไม่ได้รับการเยียวยา และหากกำหนดให้ใช้หลักประกันเพื่อเยียวยาความเสียหาย ขอเสนอให้มีการเรียกเก็บเงินสบทบจากผู้ประกอบธุรกิจเพิ่ม
4. ขอให้มีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารของกรมการท่องเที่ยวออกสู่สาธารณะ กรณี เรื่องร้องเรียนธุรกิจท่องเที่ยว ผู้นำเที่ยว มัคคุเทศก์ และการถูกพักใบอนุญาตและถูกเพิกถอนใบอนุญาตทั้งหมด เพื่อให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบผู้ประกอบธุรกิจและเป็นข้อมูลประกอบก่อนมีการตัดสินใจซื้อโปรแกรมการท่องเที่ยว และขอให้มีระบบการตรวจสอบข้อมูลที่เข้าถึงและอ่านง่าย
และ 5. ขอให้มีภาคประชาชนผู้เสียหายหรือองค์กรผู้บริโภคเข้าไปมีส่วนร่วมในการออกกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์มาตรฐานการประกอบธุรกิจนำเที่ยว และมาตรฐานการปฏิบัติหน้าที่ของมัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำแบบเดิม
หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อโปรแกรมทัวร์เพื่อเดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศ กับ บริษัท อีแอลซี กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า สาเหตุที่มาในวันนี้ เนื่องจากตัวเองก็เป็นผู้เสียหายด้วยเช่นเดียวกัน ประกอบกับเห็นว่ามูลนิธิฯ และกลุ่มผู้เสียหายจะมายื่นหนังสือขอให้มีการปรับเปลี่ยนในเรื่องกฎหมาย หรือ พ.ร.บ. ที่มีช่องโหว่ เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคด้านการท่องเที่ยว
“เคสดังกล่าวผู้ประกอบธุรกิจพยายามหาช่องโหว่ในการกระทำผิดกับผู้บริโภค เลยมองว่าหากสามารถอุดรอยรั่วได้ หรือสามารถกำหนดหลักเกณฑ์ที่เข้มงวดกับผู้ประกอบธุรกิจได้ ก็ควรจะมีการปรับปรุง แต่หากไม่มีใครมาเรียกร้องให้ปรับแก้ ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาซ้ำๆ ขึ้นตามมาอีกได้ ดังนั้น จึงเป็นเหตุที่มาช่วยสนับสนุนในวันนี้” หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหายกล่าว
หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหาย กล่าวอีกว่า เท่าที่ทราบในตอนนี้ พบว่า ปัญหาที่เกิดบานปลายขึ้น เนื่องจากอาจจะไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างลงลึกสักเท่าไร ยกตัวอย่างเช่น ช่วงนี้จะมีคนที่อ้างว่าเป็นตัวแทนผู้เสียหายหลายราย มีการบันทึกเป็นวิดีโอ และได้มาพูดคุยกับ กทท. แล้ว จากนั้นจึงนำไปลงในกลุ่ม ใจความประมาณว่า ‘ได้มาปรึกษาที่ กทท. และให้ผู้เสียหายลงชื่อตามฟอร์มที่ส่งมาตามแนบ’ โดยเฉพาะในข้อความที่ระบุว่า ‘หากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นข้าพเจ้ายินยอมที่จะชำระค่าใช้จ่ายเพิ่ม’ รวมทั้งยังบอกว่าเงินที่ขอเพิ่มเข้าบัญชีของบริษัท โดยส่วนตัวมองว่าเหมือนเป็นการผูกมัดตัวเองของผู้เสียหาย และทำไมเรื่องแบบนี้ถึงไม่ถูกตรวจสอบ ซึ่งจากข้อมูลของ กทท. ก็กล่าวว่าการให้นักท่องเที่ยวจ่ายเงินเพิ่มมันผิด หมายถึง ไม่สามารถทำได้นั่นเอง แต่หากผู้เสียหายเต็มใจจ่าย ลงชื่อในเอกสาร และยินยอมไปด้วยตัวเอง จะต้องเข้าสู่กระบวนการการดำเนินดคีทางแพ่ง
“ปัญหาดังกล่าว มองว่าควรมีการตรวจสอบไปถึงรายละเอียด ไม่ใช่มองแค่มุมที่หน่วยงานมอง คือ ถือกฎหมายเพียงเท่านี้ มี พ.ร.บ. เท่านี้ จึงทำงานได้เพียงเท่านี้ ซึ่งแบบนี้มันไม่ใช่แล้วหรือเปล่า สิ่งนี้อาจเป็นช่องว่างให้บริษัทไปเก็บเงินเพิ่มกับนักท่องเที่ยวได้ เมื่อใดก็ตามที่คุณยอมเซ็นต์ให้เขาก็เป็นเรื่องของคุณเอง แต่ในความเป็นแล้วหน่วยงานสามารถเข้ามาควบคุมได้หากบริษัทต้องการจะเก็บเงินเพิ่ม นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรจะดูแล คอยอุดรอยรั่วเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค มากกว่าการทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าหน่วยงานไม่ได้กำลังจะสนับสนุนคนทำผิดอยู่” หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหายกล่าว
อย่างไรก็ตาม กรมการท่องเที่ยวควรปรับระบบการทำงานให้ทันสมัยมากขึ้น ควรมีการประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง และไม่ควรยึดติดกับแบบเดิม เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เช่น เวลามาสอบถามความคืบหน้าของกรณีที่เคยมาร้องเรียน กลับไม่มีสื่อประชาสัมพันธ์ให้กับผู้เสียหายได้ทราบเลย จนทำให้ผู้เสียหายต้องแจ้งข่าวสารให้กันและกันด้วยตัวเองแทนที่จะเป็นการประชาสัมพันธ์จากหน่วยงานที่ดูแล
ด้านนางสาววันทนา แจ้งประจักษ์ รองอธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอที่เสนอมานั้น อาจต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ แต่จะรับข้อมูลที่เสนอมาทั้งหมดเพื่อนำมาผลักดันต่อไป ส่วนข้อมูลที่ผู้เสียหายได้แจ้งมาที่ กทท. เกี่ยวกับผู้ประกอบธุรกิจรายดังกล่าว เช่น เอกสารที่ได้นำมาให้กับผู้ที่ซื้อโปรแกรมท่องเที่ยวลงลายมือชื่อหลังจากที่ธุรกิจของตัวเองถูกพักใบอนุญาต ซึ่งมีการดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ หรือแอพลิเคชัน จะถูกกำกับด้วย พ.ร.บ. ธุรกิจนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ พ.ศ. 2551 ที่อยู่ในกำกับของ กทท. ซึ่งก็ให้เป็นไปตาม พ.ร.บ. ฉบับนี้ แต่หากมีการแก้ไขปรับปรุงหรือมีการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. เมื่อไร คิดว่ากรณีที่เกิดขึ้นนี้จะลดลงและไม่เกิดขึ้นอีกอย่างแน่นอน
นางสาววันทนา กล่าวอีกว่า ในข้อเสนอเรื่องการประชาสัมพันธ์ มีการทำข้อมูลเชิงรุกออกมาหลายเรื่อง แต่ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำข้อมูลออกมาเพื่อเผยแพร่ ซึ่ง กทท. มีการให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เป็นการเร่งด่วนเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค โดยที่ผู้บริโภคสามารถตรวจสอบรายละเอียดข้อมูลของผู้ประกอบธุรกิจ หรือควรระมัดระวังเรื่องใดบ้าง เป็นต้น
ทั้งนี้ พ.ร.บ. ฉบับดังกล่าวเกิดขึ้นมาก่อนที่ กทท. ยังไม่ถูกจัดตั้งขึ้นมา จึงพบข้อบกพร่องในหลายเรื่อง ซึ่งเป็นจังหวะเวลาที่ดีมากในการที่มูลนิธิฯ และกลุ่มผู้เสียหายเข้ามายื่นข้อเสนอ เนื่องจากตอนนี้กำลังจะมีการปรับแก้ไข พ.ร.บ. นี้ เพื่อให้สามารถคุ้มครองนักท่องเที่ยวได้ดียิ่งขึ้น และจะมีการนำข้อเสนอที่เสนอมาพิจารณาปรับใช้ให้มากที่สุด รวมทั้งจะมีการจัดทำประชาพิจารณ์ จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความร่วมมือจากมูลนิธิฯ และผู้บริโภคที่จะเข้ามาแสดงความคิดเห็นหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎหมายได้