ผู้บริโภคเรียกร้องให้รัฐจัดการปัญหารถยนต์ ‘Mazda CX - 5’ เหมือนไต้หวัน ด้านหัวหน้าศูนย์พิทักษ์ฯ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ชี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรมีมาตรการที่เข้มงวดเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
จากการที่ทางการไต้หวันมีคำสั่งให้บริษัท มาสด้า ประเทศไต้หวัน ให้ความร่วมมือในการสืบสวนปัญหารถยนต์มาสด้า รุ่นซีเอ็กซ์ - 5 ดีเซล (Mazda CX - 5 Diesel) ที่ชำรุดบกพร่อง โดยมีการประกาศแผนการแก้ไขการเรียกคืนรถยนต์รุ่นดังกล่าว เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากกลุ่มผู้เสียหายและตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ เพื่อรับฟังและแลกเปลี่ยนประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น (อ่านข่าวเพิ่มเติม :: The latest development of Mazda diesel engine: Public hearing asked Taiwan Mazda to explain on 2 issues on April 26)
นายสารวัตร มีภู่ หนึ่งในผู้เสียหายจากการใช้รถยนต์รุ่นดังกล่าว กล่าวว่า ในไต้หวันเมื่อผู้บริโภคได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาให้ตามที่เห็นในข่าว ต่างจากในประเทศไทยที่ส่งเรื่องร้องเรียนเข้าไปยังบริษัท มาสด้า (เซลล์) ประเทศไทย จำกัด ให้ออกมาชี้แจง บริษัทฯ ก็อ้างว่าไม่สะดวกมาชี้แจง หรือร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่มีความคืบหน้า และสุดท้ายก็ไม่มีกฎหมายที่ไปบังคับให้บริษัทฯ มาเจรจาหรือมาแก้ไขปัญหา ทำให้ผู้บริโภคส่วนใหญ่กลับต้องไปฟ้องร้องด้วยตัวเองเมื่อคิดว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม ขณะเดียวกันหากบริษัทฯ มีการชี้แจงปัญหา บริษัทฯ กลับบอกต่อสาธารณะว่าได้แจ้งขยายระยะเวลาออกไปก่อนเนื่องจากติดปัญหาต่างๆ เหมือนการตอบแบบขอไปที ทั้งที่ในความเป็นจริง คือ บริษัทฯ อาจไม่ได้แก้ไขปัญหาให้กับผู้เสียหายเลย
“ผู้บริโภคที่ประสบปัญหาเดียวกันนี้ ส่วนมากก็จะคุยกันตลอด แต่คิดว่าคงไม่ค่อยมีแนวทางมากเท่าไร นอกเสียจากการฟ้องร้อง เนื่องจากที่บอกไปว่าถ้าต้องการเรียกมาสด้ามาเจรจา เขาก็จะไม่มาและไม่สนใจเลย ตอนนี้จึงฟ้องเป็นคดีแพ่งแบบกลุ่มไว้ โดยใช้ทนายชุดเดียวกับคดีรถยนต์ฟอร์ด เพื่อให้ศาลเบิกคำรับฟ้อง จากนั้นก็ให้เป็นไปตามกระบวนการของศาล หากไกล่เกลี่ยแล้วยังตกลงไม่ได้ก็ต้องสอบสวนไปตามเรื่อง หรืออีกแนวทางหนึ่งก็คงเป็นการพึ่งพากระแสของสื่อดังเช่นกับผู้เสียหายที่ไต้หวัน คือ ให้ผู้เสียหายรวมตัวกันประท้วงเพื่อให้เกิดกระแสเป็นข่าวขึ้นมา นอกจากนี้ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือหน่วยงานรัฐเข้ามาจัดการแก้ไขปัญหาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคเหมือนในไต้หวันที่ทางการสามารถออกคำสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้ามาช่วยเหลือผู้ที่ได้รับความเสียหาย” นายสารวัตรกล่าว
นายสารวัตร กล่าวอีกว่า เคยไปยื่นหนังสือให้กับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับ และเมื่อเดือนกรกฎาคม 2561 เคยเข้ายื่นหนังสือให้กับกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) มาแล้วหลังพบว่าเครื่องยนต์มีปัญหา (อ่านข่าวเพิ่มเติม :: ผู้ซื้อมาสด้า ซีเอ็กซ์ - 5 ดีเซล เข้าแจ้ง บก.ปคบ. หลังพบเครื่องยนต์มีปัญหา) ในวันนั้นทางหน่วยงานได้รับเรื่องไว้และบอกว่าจะดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงทั้งหมดก่อน แต่ขณะนี้ก็ยังไม่มีความคืบหน้าเกี่ยวกับการตรวจสอบดังกล่าว
ด้านนางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ผู้บริโภคควรจะได้รับการดูแลตั้งแต่มีการร้องเรียนเข้าไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือผู้ประกอบธุรกิจและควรจะมีมาตรการในการจัดการปัญหาให้กับผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายทุกรายที่ใช้สินค้ารุ่นเดียวกัน ซึ่งรัฐควรมีบทบาทในการสั่งการให้บริษัทฯ ดำเนินการดังเช่นในต่างประเทศ
นอกจากนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรออกมาตรการอย่างเข้มงวด โดยการให้ผู้ประกอบธุรกิจมีบทบาทในการจัดการปัญหาให้กับผู้บริโภค เพื่อที่จะไม่ให้กลายเป็นภาระของผู้บริโภคในการไปฟ้องร้องด้วยตนเอง ซึ่งตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 มาตรา 36 ที่ระบุว่า เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าสินค้าใดอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค คณะกรรมการมีอํานาจออกคําสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจดําเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้านั้น ถ้าผู้ประกอบธุรกิจไม่ดําเนินการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้าหรือดําเนินการล่าช้าโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรคณะกรรมการจะจัดให้มีการทดสอบหรือพิสูจน์โดยผู้ประกอบธุรกิจเป็นผู้เสียค่าใช้จ่ายก็ได้ในกรณีจําเป็นและเร่งด่วน คณะกรรมการอาจออกคําสั่งห้ามขายสินค้านั้นเป็นการชั่วคราวจนกว่าจะทราบผลการทดสอบหรือพิสูจน์สินค้านั้น อีกทั้งในกรณีที่ผลการทดสอบหรือพิสูจน์ปรากฏว่าสินค้านั้นอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคและไม่อาจป้องกันอันตรายที่จะเกิดจากสินค้านั้นได้ ให้คณะกรรมการมีอํานาจออกคําสั่งอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค