พาณิชย์งัด5มาตรการด่วน!ดูแลค่าครองชีพ

580910 vejatable
รายงานข่าวจากหนังสือพิมพ์แนวหน้าวันที่ 10 ก.ย. พาณิชย์แถลงแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 3 Big Boom เป้าหมายแรกคือดูแลค่าครองชีพ จัดการพวกเอาเปรียบชาวบ้าน แบ่งสายลงพื้นที่ตรวจราคาสินค้า ทุกวันตลอด 3 สัปดาห์ ทั้งในกทม.และต่างจังหวัด “อภิรดี” ยอมรับช่วงนี้พบสินค้าหลายประเภทแพงขึ้น เช่น ข้าวสาร ปลาทู ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผักผลไม้บางชนิด และอาหารเดลิเวอรี่

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่ากระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการตามแผนปฏิบัติการเร่งด่วน ใน 3 เรื่องหรือ 3 Big Boom ได้แก่ การดูแลค่าครองชีพ การสร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการและการผลักดันการส่งออก ซึ่งเป็นการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล

ทั้งนี้เรื่องที่จะดำเนินการเป็นลำดับแรกคือ การดูแลค่าครองชีพของประชาชน เพื่อดูแลราคาสินค้าและบริการ ให้มีความเหมาะสม เป็นธรรม และเป็นไปตามกลไกตลาด เน้นดูแลไม่ให้มีการผูกขาดการกักตุนสินค้า และให้ปริมาณสินค้าเพียงพอกับความต้องการในแต่ละช่วงเวลา โดยกระทรวงจะดำเนินการตาม 5 มาตรการ ได้แก่ 1.การกำกับดูแลราคาสินค้า 2.การบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน 3.การส่งเสริมให้มี Outlet ที่เพียงพอ 4.การเร่งสร้างผู้บริโภครุ่นใหม่ และ 5.การสร้างเครือข่ายเพื่อติดตามตรวจสอบ

ในส่วนของการกำกับดูแลราคาสินค้า กระทรวงได้มีการกำกับดูแลราคาสินค้าให้สอดคล้องกับต้นทุน และจะมีการวิเคราะห์ต้นทุนและราคาจำหน่ายให้เหมาะสมเป็นธรรม ซึ่งปัจจุบันมีการกำกับดูแลราคาสินค้า 205 รายการ ที่ครอบคลุมทุกหมวดสินค้า อีกทั้งตั้งแต่วันที่ 9-30 กันยายนนี้ทางผู้บริหารกระทรวงพาณิชย์ ทั้งตน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงฯ อธิบดีกรมการค้าภายใน ผู้ตรวจราชการฯ ที่ปรึกษาการพาณิชย์ ที่ปรึกษากฎหมาย จะแบ่งสายกันสุ่มลงตรวจสอบราคาสินค้า ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด โดยไม่มีการแจ้งให้เจ้าหน้าที่ในพื้นที่ทราบล่วงหน้า หากประชาชนพบว่ามีการจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินสมควร สามารถร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรมการค้าภายใน 1569 ตลอด 24 ชั่วโมง

ขณะที่การบรรเทาค่าครองชีพของประชาชน ก็มีการกระจายพื้นที่จัดงานธงฟ้าราคาประหยัดและธงฟ้าเคลื่อนที่ (โมบาย ยูนิต) โครงการร้านหนูณิชย์พาชิม ที่จำหน่ายอาหารในราคา 25-35 บาท ปัจจุบันมีอยู่ 3,245 ร้านและจะขยายเพิ่มมากขึ้นอีกในอนาคต การเพิ่มช่องทางจำหน่ายสินค้าจำเป็นในราคาถูก ซึ่งได้ร่วมกับผู้ผลิต และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) จำหน่ายสินค้าผ่านร้านสหกรณ์การเกษตรเพื่อการตลาดลูกค้า ธ.ก.ส.(สกต.) ใน 35 จังหวัด 257 ร้านค้า รวมถึงการร่วมมือกับเอกชน ในการทำตลาดกลาง ตลาดชุมชน ส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าวิสาหกิจชุมชน เพื่อจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรโดยตรง และจะขยายความร่วมมือกับผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่ ห้างสรรพสินค้า ร้านสะดวกซื้อ ในการจัดงานลดราคาจำหน่ายสินค้าในช่วงเทศกาลต่างๆ เช่น ตรุษจีน สงกรานต์ เปิดภาคเรียน เป็นต้น

ส่วนการส่งเสริมให้มี Outlet จะเป็นการสร้างความหลากหลายให้ผู้บริโภคสามารถเลือกซื้อสินค้าที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด สนับสนุนธุรกิจใหม่ๆ เช่น Farm Outlet ที่จะจำหน่ายสินค้าของเกษตรกรโดยตรง ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 24 แห่ง ใน 8 จังหวัด และจะขยายให้มากขึ้น รวมถึงการขยายระบบข้อมูลของถูกให้ประชาชนได้รับรู้ ผ่าน แอพพลิเคชั่น “ลายแทงของถูก” ซึ่งผู้บริโภคสามารถอัพโหลดแอพดังกล่าวนี้ได้แล้วผ่านสมาร์ทโฟน แท็บเลต ทั้งในระบบแอนดรอยด์ และไอโอเอส โดยจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในอีก 1-2 สัปดาห์ข้างหน้า

“จากการติดตามสำรวจราคาสินค้าพบว่าสินค้าหลายประเภทมีแนวโน้มสูงขึ้น เช่น ข้าวสารเหนียว ปลาทู ไข่ไก่ เนื้อสุกร ไก่สด ผักผลไม้บางชนิด และอาหารโทรสั่ง (เดลิเวอรี่) และมีบางชนิดที่ราคาลดลง เช่น น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง ปูนซีเมนต์ เหล็ก ปุ๋ย นมผงเด็ก และผงซักฟอก เป็นต้น ส่วนราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับลดลงมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ราคาสินค้าหลายๆ ชนิดที่เกี่ยวเนื่องกลับยังไม่ปรับลดราคาลงมากนัก ซึ่งในเรื่องนี้กระทรวงพาณิชย์จะเร่งดำเนินการตรวจสอบในเชิงลึกต่อไป” นางอภิรดีกล่าว

ขอบคุณข้อมูลจาก นสพแนวหน้าวันที่ 10 กันยายน 2558
ภาพประกอบจาก Internet

 

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน