จากกรณีคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน มีมติให้ต่อทะเบียน "พาราควอต" สารเคมีเกษตรไปอีก 6 ปี สามารถใช้ในภาคการเกษตรได้ต่อ เนื่องจากยังไม่มีผลการวิเคราะห์หรือตีความออกมาว่าเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งมี 5 กระทรวงหลัก นำโดยกระทรวงสาธารณสุขเข้าร่วม มีมติและเสนอเป็นนโยบายให้ยุติการใช้สารเคมีทั้ง 2 ตัว คือ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ในวันที่ 1 ธ.ค.2562 โดยระบุว่า พาราควอตจัดเป็นยาพิษที่มีความรุนแรง และ 47 ประเทศประกาศยกเลิกการใช้แล้ว ระหว่างนี้จะไม่อนุญาตให้มีการต่ออายุ
เมื่อวันที่ 21 พ.ย. ภกญ.อมรรัตน์ ลีนะนิธิกุล เภสัชกรชำนาญการพิเศษ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในฐานะฝ่ายเลขาฯ คณะกรรมการขับเคลื่อนปัญหาการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง กล่าวว่า คณะกรรมการขับเคลื่อนฯ ที่ประกอบด้วย 5 กระทรวงหลัก นำโดยกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้มีการหารือรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพจากสารพาราควอตดังกล่าวส่งไปยังกระทรวงอุตสาหกรรม ซึ่งทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาฯ ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย เพื่อเสนอไปยังที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายที่คาดว่าจะมีการประชุมประมาณกลางเดือน ธ.ค. เพราะพาราควอตเป็นสารเคมีที่มีผลในเรื่องของสุขภาพ ส่งผลให้เกิดโรคพาร์กินสันหรือโรคทางสมอง หากไม่มีผลกระทบต่อสุขภาพ 40-50 ประเทศทั่วโลกคงไม่มีการประกาศให้หยุดใช้
"อย่างไรก็ตาม อำนาจต่อทะเบียนสารพาราควอตดังกล่าวเป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ส่วนการที่จะยกเลิกการต่อทะเบียนเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ตาม พ.ร.บ.วัตถุอันตราย มาตรา 18 ไม่ใช่หน้าที่ของ สธ. เรามีหน้าที่เสนอนโยบาย หากออกเป็นนโยบายให้หยุดใช้ไปเลยไม่ได้ แต่การจำกัดการใช้ให้ค่อยๆ หมดไปก็มีกระบวนการหลายรูปแบบ สธ.จะดำเนินการตามกลไกที่มีอยู่ เช่น การรณรงค์อาหารปลอดภัยใน รพ.สังกัด สธ. ทั้งผักออร์แกนิก ผักปลอดสารพิษต่างๆ" ภกญ.อมรรัตน์กล่าว
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai-PAN กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังกับการตัดสินใจต่ออายุพาราควอตของคณะกรรมการควบคุมสารเคมีที่เป็นการเพิกเฉยต่อข้อมูลด้านสุขภาพที่ สธ.ได้ทำออกมา หากไม่มีผลทางสุขภาพ ประเทศใหญ่ๆ ทั้งอังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ หรือแม้กระทั่งประเทศจีน ก็มีข้อมูลว่าประกาศยกเลิกการใช้สารดังกล่าว เพราะเป็นต้นตอปัญหาสุขภาพทั้งนั้น ตนจึงไม่ทราบว่าหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจต้องการข้อมูลขนาดไหนอีก ซึ่งทางเครือข่ายประมาณ 50 จังหวัดอาจจะมีการรวมตัวฟ้องร้องให้เพิกถอนการต่อทะเบียนสารดังกล่าว ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือเพื่อหาข้อสรุปว่าจะมีการเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป
อนึ่งเมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา ตัวแทนเครือข่ายต้านสารพิษ 53 องค์กร ยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อให้กรมวิชาการยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส และจำกัดการใช้ไกลโฟเซต รวมถึงหลายจังหวัดมีการเคลื่อนไหวเพื่อแสดงจุดยืนแบนสารพิษเหล่านี้เช่นกัน
ข้อมูลจาก http://www.thaipost.net และ ประชาชาชาติธุรกิจ
ภาพจาก ประชาชาติธุรกิจ