คอบช. สนับสนุนให้มีหน่วยงานอิสระ ‘ทดสอบเปรียบเทียบสินค้าและบริการ’ สร้างภูมิคุ้มกันผู้บริโภคจากภัยโฆษณาเกินจริง

dr paiboon web01

จากกรณีโฆษณาเกินจริงกระทะเทพยี่ห้อดัง ทำเอาผู้บริโภคจำนวนมากตกเป็นเหยื่อ ด้วยการควักกระเป๋าซื้อสินค้าที่ไม่ได้มีคุณสมบัติตรงตามคำพรรณาเลิศหรูในโฆษณา เป็นตลกร้ายจากโฆษณาเกินจริงที่เคียงคู่สังคมผู้บริโภคไทยมาอย่างยาวนาน ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยกลายเป็นผู้เสียหายจากการซื้อสินค้าหรือบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เป็นจริงตามโฆษณาหรือคำมั่นสัญญา ทิ้งคำถามไว้ให้ “ผู้บริโภคไทย” ต้องใช้ชีวิตอย่างไรให้รอดพ้นจากสิ่งเหล่านี้

          ดร.ไพบูลย์ ช่วงทอง ประธานอนุกรรมการด้านสินค้าและบริการทั่วไป คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) ให้ความเห็นถึงปัญหาดังกล่าวว่า คงเป็นการยากที่จะให้ผู้บริโภคทดสอบสินค้าด้วยตัวเอง เช่นกรณีกระทะดัง ผู้บริโภคอาจลองทำแบบตามโฆษณา เช่น เจียวไข่ ทอดไข่ (เพียงเป่าเบาๆ ไข่เจียวในกระทะก็กระพือได้) ซึ่งถ้าทำแล้วสินค้าไม่สามารถทำเหมือนในโฆษณาได้ ผู้บริโภคก็มีสิทธิขอคืนสินค้าและขอเงินคืนได้ แต่ในการทดสอบคุณภาพผลิตภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ผู้บริโภคจะทำได้เอง ต้องผ่ากระทะพิสูจน์องค์ประกอบทางเคมี ดูว่ามีการเคลือบผิวกระทะหนาแค่ไหน ซึ่งอาจจะต้องซื้อกระทะ 2-3 ใบ ใบหนึ่งทดสอบด้วยการทำลาย ใบอื่นใช้ทดสอบการทำอาหาร

          หากดูตัวเลขงบโฆษณาที่สูงมาก นับว่าเป็นความสูญเสียจำนวนไม่น้อย ซึ่งเงินเหล่านี้ส่วนหนึ่งมาจากเงินของผู้บริโภคที่ได้จ่ายซื้อสินค้า แทนที่จะได้รู้ข้อมูลสินค้าที่ถูกต้อง เป็นกลาง เชื่อถือได้ กลับกลายเป็นว่าเราจ่ายค่าโฆษณาไปโดยไม่เกิดประโยชน์ เงินเหล่านี้เอาไปทำประโยชน์อื่นได้อีกมาก ยกตัวอย่างเช่นเอาไปเป็นเงินทุนในการทดสอบเปรียบเทียบคุณภาพสินค้า หรือ Comparative Testing

          เราอยากเห็นองค์กรที่ทำหน้าที่หยิบสินค้าในท้องตลาดมาทดสอบเปรียบเทียบคุณภาพ (Comparative Testing)  และเผยแพร่ผลทดสอบให้ประชาชนได้รู้ข้อมูล ต้องทดสอบสินค้าหรือบริการจากผู้ผลิตและผู้ประกอบการหลายๆ ยี่ห้อ เพื่อให้ผู้บริโภคได้มีตัวเลือกในการตัดสินใจเพิ่มมากขึ้น

 

กลไกเปรียบเทียบราคาจริง

          ถ้าเกิดกลไกการทดสอบสินค้าจริง จะทำให้ผู้บริโภคสามารถนำข้อมูลการทดสอบไปใช้ในการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า ถ้าไม่มีข้อมูลให้เปรียบเทียบ คนก็จะซื้อสินค้าหรือบริการจากความชอบหรือความเชื่อ ความชอบก็คือ อาจจะชอบพรีเซ็นเตอร์ หรือ Brand Ambassador ส่วนความเชื่อก็อาจมาจากญาติพี่น้องที่เคยซื้อมาใช้แล้วแนะนำต่อ ซึ่งเมื่อใช้ความชอบและความเชื่อ ความมีเหตุมีผลก็จะหายไป

          การสุ่มตรวจคงเป็นไปได้ยากที่จะให้ผู้ประกอบการนำสินค้าทั่วไปมาให้ทดสอบ ส่วนใหญ่จะนำสินค้าที่เป็นพรีเมี่ยมมาให้ทดสอบ กรณีเครือข่ายนักวิชาการก็จะสามารถสนับสนุนได้เฉพาะข้อมูลทางวิชาการ เพราะไม่มีงบประมาณที่จะสนับสนุนซื้อสินค้าเพื่อนำมาทดสอบให้ครอบคลุมและเป็นธรรมได้

          ซึ่งบางครั้งการทดสอบที่ดำเนินการโดยเครือข่ายนักวิชาการมักเป็นงานที่ขอความอนุเคราะห์โดยไม่หวังผลกำไร หวังให้ผลการทดสอบเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์เป็นข้อมูลทีมีประโยชน์กับประชาชน และเป็นกลางที่สุด ดังนั้นรูปแบบกลไกการให้ข้อมูลทดสอบสินค้าแบบเปรียบเทียบรัฐควรให้การสนับสนุน และจัดสรรงบประมาณให้ด้วย งานลักษณะนี้ควรส่งเสริมให้ภาคประชาชนที่ทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ดำเนินการเพราะมีความคล่องตัวกว่า กรณีการทดสอบกระทะ ก็มีรุ่นใหม่ออกมาเรื่อยๆ ไม่ใช่ว่าทำการทดสอบครั้งเดียวแล้วจบ แต่ต้องมีการทดสอบเป็นระยะๆ ตามช่วงระยะเวลาที่เหมาะสม

 

การทดสอบผลิตภัณฑ์สินค้าและบริการในไทยและต่างประเทศ

          ในประเทศแถบยุโรป อเมริกา สิงคโปร์ ฮ่องกง จะมีการทดสอบผลิตภัณฑ์อย่างเข้มแข็ง ส่วนประเทศไทยก็มีนิตยสารฉลาดซื้อของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งก็เคยผ่ากระทะทดสอบมาก่อนหน้านี้แล้ว

          การให้ข้อมูลความรู้ ต้องมีการทดสอบเปรียบเทียบ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องใช้ทรัพยากรและทุนเยอะ ในอนาคตเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะจัดสรรกองทุนสำหรับการทดสอบสินค้าแล้วให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็น ยกตัวอย่างในประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นประเทศต้นแบบในการทดสอบเปรียบเทียบสินค้าและบริการ มีองค์กรหนึ่งซึ่งได้รับเงินทุนสนับสนุนจากรัฐ และทำหน้าที่หยิบสินค้าในตลาดมาทดสอบเปรียบเทียบและเปิดเผยข้อมูลสู่สาธารณะ ทำทุกเดือน ทั้งสินค้าและบริการ ยกตัวอย่างสนามฟุตบอลโลกปี 2006 ที่เคยจัดในเยอรมนีเอง องค์กรนี้ก็เข้าไปทดสอบดูความปลอดภัย แล้วก็พบว่า มีช่องโหว่ในเรื่องของความปลอดภัย ท้ายสุดก็นำไปสู่คำสั่งปรับปรุงสนามฟุตบอลตามที่องค์กรนี้ให้คำแนะนำ หรือกรณีการโฆษณาชวนเชื่อของครีมบำรุงผิวที่ ดาราที่สังคมชื่นชอบเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์ และโฆษณาเกินจริง องค์กรนี้ก็ทดสอบเปรียบเทียบครีมบำรุงผิวกับยี่ห้ออื่นๆ และได้ออกมาแจ้งเตือนผู้บริโภคไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ จนเป็นคดีความถึงศาลฎีกา และศาลฎีกาก็ได้พิพากษายืนยันการทำหน้าที่คุ้มครองผู้บริโภคขององค์กรนี้ ตามภาระหน้าที่ที่กฎหมายให้อำนาจไว้ องค์กรนี้ในเยอรมนีถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุค 60-70 ฉะนั้นจึงมีความเชี่ยวชาญในการทดสอบ ซึ่งส่งผลให้ผู้บริโภคได้ความรู้ และในมุมผู้ผลิตสินค้าเองก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะเป็นเสียงสะท้อนให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลไปปรับปรุงสินค้าหรือบริการ เหมือนที่เราเชื่อถือในสินค้าที่ made in Germany มันเป็นกระบวนการคุ้มครองผู้บริโภคที่ผู้ประกอบการก็ได้ประโยชน์เช่นกัน ดังนั้นการมีองค์กรที่ทำหน้าที่นี้ จึงมีความสำคัญ และจำเป็นเร่งด่วน         

 

มาตรฐานสินค้า กับ ราคาที่ผู้บริโภคจ่ายจริง

          ส่วนข้อมูลเรื่องราคาต้นทุนจริงนั้น ผู้ประกอบธุรกิจ ผู้ประกอบการเองก็คงไม่ยินดีที่จะบอกต้นทุนที่แท้จริงแต่ถ้ามีการทดสอบเปรียบเทียบ (Comparative Testing) จากหลายๆยี่ห้อ ราคาแต่ละเจ้าที่ขายในท้องตลาด เมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในยี่ห้ออื่นๆ  ก็จะเป็นตัวบ่งชี้บอกได้ทางหนึ่งว่า ต้นทุนที่ผู้ประกอบการบอกว่าแพงนั้น แพงเพราะอะไร กลไกการทดสอบจะช่วยผู้บริโภคในการเปรียบเทียบราคาและคุณภาพสินค้า สมมติว่าสินค้าชนิดเดียวกัน สินค้าชิ้นที่ 1 ราคา 2,000 บาท ทดสอบแล้วคุณภาพไม่ได้ต่างไปจากสินค้าชิ้นที่ 2 ซึ่งราคา 600 บาท ผู้บริโภคจะมีข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญประกอบการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้า อย่างสมเหตุสมผล มากกว่าซื้อเพราะความเชื่อและความชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่มักทำให้ผู้บริโภคตกเป็นเหยื่อจากการโฆษณาชวนเชื่อ

          ในอนาคตเห็นว่าควรต้องมีองค์กรที่ทำ Comparative Testing ที่เป็นอิสระจากรัฐ เป็นอิสระจากทุน ไม่รับโฆษณาเพื่อความเป็นกลางและเป็นมืออาชีพ ทำงานเชิงรุกเพื่อป้องกันความเสียหายจากการซื้อสินค้าและบริการไม่ให้เกิดกับผู้บริโภคได้อีกต่อไป

ลิงก์แนะนำ:
- นิตยสารฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ทำการทดสอบเปรียบเทียบคุณภาพสินค้า : www.chaladsue.com
- ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ประเภทอาหาร/สุขภาพ ฉบับที่ 104 กระทะเทฟลอน : https://goo.gl/877XWZ
- CHOICE Magazine ของประเทศออสเตรเลีย: www.choice.com.au

พิมพ์ อีเมล