มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และเครือข่ายนักวิชาการสารเคมีเผย ตรวจพบสารอันตรายในของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลในหลายประเทศ ชี้กระทบพัฒนาการทางสมองและระบบประสาท เตรียมผลักดันมาตรการคุมเข้ม
กรุงเทพฯ -19 เมษายน 2560: เครือข่ายนักวิชาการด้านสารเคมีเผยผลสำรวจในหลายประเทศ รวมทั้งในประเทศไทย พบมีการใช้พลาสติกรีไซเคิลที่มีส่วนผสมของสารหน่วงการติดไฟ (Flame Retardant) ที่ประกอบด้วยสารอันตรายมาใช้ผลิตของเล่นเด็ก เช่น ลูกบาศก์เรียงแถบสี หรือ “ลูกบิดรูบิก” หนึ่งในของเล่นยอดฮิต และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกมาก เตรียมผลักดันให้การประชุมอนุสัญญาสต็อกโฮล์มของรัฐบาลนานาชาติออกข้อบังคับและมาตรการเชิงป้องกันเพื่อคุมเข้มการใช้สารอันตรายกลุ่มนี้ในทั่วโลก พร้อมชี้รัฐบาลทุกประเทศควรมีมาตรการภายในประเทศเพื่อควบคุมเรื่องนี้ด้วย
“เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม” หรือไอเพน (IPEN) สมาคมอาร์นิก้า (Arnika) ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนของสาธารณรัฐเช็ก ได้ร่วมกับองค์กรอื่นๆ ใน 26 ประเทศ รวมถึงมูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ในประเทศไทย ทำการสำรวจตัวอย่างของเล่นและผลิตภัณฑ์สำหรับเด็กที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลซึ่งมีสารหน่วงการติดไฟชนิดที่มีสารโบรมีน (Brominated Flame Retardants หรือ BFRs) ประกอบด้วยลูกบิดรูบิกจำนวน 95 ตัวอย่าง และผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกจำนวน 16 ตัวอย่าง ได้แก่ แก้วใส่น้ำร้อน กิ๊บหนีบผม หวี ที่คาดผม และของเล่นเด็กอื่นๆ เพื่อวิเคราะห์หาการเจือปนของสาร Octabromodiphenyl ether (OctaBDE), สาร Decabromodiphenyl either (DecaBDE) และ สาร Hexabromocyclododecane (HBCD) ซึ่งเป็นส่วนผสมของสารหน่วงการติดไฟชนิดที่มีองค์ประกอบของโบรมีน (BFRs) ในของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลอื่นๆ
ผลวิเคราะห์พบว่า มีของเล่นเด็กและผลิตภัณฑ์พลาสติกหลายชนิดที่มีสารกลุ่มนี้ปนเปื้อนสูงกว่า 50 ppm (ส่วนในล้านส่วน) ซึ่งเป็นระดับที่ก่ออันตรายต่อร่างกายได้ โดยพบว่า ร้อยละ 90 ของตัวอย่างทั้งหมดที่นำมาตรวจวิเคราะห์ หรือจำนวน 100 ตัวอย่าง มีสาร OctaBDE เข้มข้นตั้งแต่ระดับ 1 - 1,174 ppm, ร้อยละ 41 หรือจำนวน 45 ตัวอย่าง มีสาร HBCD เข้มข้นอยู่ในระหว่าง 1 - 1,586 ppm, และร้อยละ 91 หรือจำนวน 101 ตัวอย่าง มีสาร DecaBDE เข้มข้นอยู่ในระหว่าง 1 - 672 ppm
สำหรับประเทศไทย มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) ได้สุ่มตรวจตัวอย่างลูกบิดรูบิกจำนวน 9 ตัวอย่าง และพบว่า 2 ตัวอย่างมีสาร OctaBDE และ DecaBDE ปนเปื้อนในระดับสูง และ 1 ตัวอย่างมีสาร HBCD ปนเปื้อนในปริมาณสูง
โดยสารเคมีทั้งสามชนิดดังกล่าวเป็นอันตรายต่อพัฒนาการทางสมอง สามารถทำลายระบบประสาท และส่งผลกระทบต่อพัฒนาการทางเชาว์ปัญญาหรือไอคิว (IQ) ของเด็ก อีกทั้งยังก่อให้เกิดมะเร็งในตับได้
OctaBDE เป็นสารเคมีที่ทั่วโลกห้ามใช้ตามข้อบังคับของอนุสัญญาสต็อกโฮล์ม โดยทั่วไปจะใช้ในการผลิตเทอร์โมพลาสติก ซึ่งเป็นพลาสติกชนิดที่อ่อนตัวเมื่อโดนความร้อน ส่วน HBCD เป็นสารเคมีที่ใช้ในการผลิตโฟมที่เป็นฉนวนกันความร้อนภายในอาคาร ซึ่งทั่วโลกห้ามใช้ตามอนุสัญญาสต็อกโฮล์มเช่นกัน และ DecaBDE เป็นสารเคมีที่กำลังมีการเสนอให้ทั่วโลกห้ามใช้ตามอนุสัญญาสต็อกโฮล์ม
โดยทั่วไป สารกลุ่มนี้จะถูกใช้ในการผลิตพลาสติกจำพวกแผงวงจรไฟฟ้า กล่องหรือฝาครอบเครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ เช่น จอเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือชิ้นส่วนรถยนต์ เป็นต้น เมื่อผลิตภัณฑ์เหล่านั้นหมดอายุการใช้งาน และถูกนำไปรีไซเคิลโดยไม่มีการกำจัดสารอันตรายกลุ่มนี้ออกเสียก่อน ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากพลาสติกรีไซเคิลนี้ก็จะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ สารกลุ่มนี้ยังสามารถสะสมอยู่ในสิ่งแวดล้อม พืช และสัตว์ และยังสามารถเข้าสู่ร่างกายคนได้จากการหายใจ การสัมผัส และการรับประทานอาหารที่มีสารเหล่านี้สะสมอยู่
“เครือข่ายระหว่างประเทศว่าด้วยการกำจัดสารพิษตกค้างยาวนานในสิ่งแวดล้อม” หรือไอเพน (IPEN) เป็นเครือข่ายที่ประกอบด้วยนักวิชาการสาขาต่างๆ และองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจาก 100 กว่าประเทศ มีวัตถุประสงค์เพื่อขับเคลื่อนให้องค์การสหประชาชาติและรัฐบาลต่างๆ มีนโยบายและมาตรการที่มุ่งลดและขจัดสารเคมีที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพคนและสิ่งแวดล้อม และสมาคมอาร์นิก้า ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนจากสาธารณรัฐเช็ก ที่เป็นผู้ดำเนินโครงการสำรวจและวิเคราะห์สารอันตรายของโครงการนี้
"สารเคมีอันตรายกลุ่มนี้มักเจือปนอยู่ในขยะพลาสติก เป็นสิ่งอันตรายมากโดยเฉพาะต่อพัฒนาการทางสมองและระบบประสาทของเด็ก จึงไม่ควรนำมาผลิตของเล่นเด็กโดยเด็ดขาด และควรมีมาตรการกำจัดผลิตภัณฑ์ที่อันตรายต่อเด็กออกจากท้องตลาดด้วย" อัครพล ตีบไธสง นักวิชาการมูลนิธิบูรณะนิเวศ ผู้ร่วมการศึกษาในโครงการนี้กล่าว
ดร. โจ ดิกันจิ ผู้เชี่ยวชาญด้านสารอันตรายของไอเพน จากสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า "นอกจากการรีไซเคิลวัสดุที่มีสารพิษขึ้นเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ จะเป็นวัฏจักรที่ทำให้ปนเปื้อนสารพิษในสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาไม่รู้จบแล้ว ยังทำลายความน่าเชื่อถือของการรีไซเคิลวัสดุอีกด้วย รัฐบาลของแต่ละประเทศจึงควรหาทางยุติปัญหานี้และควรมีมาตรการเชิงป้องกันระยะยาว"
“ประเทศต่างๆ จะต้องมีการกำหนดระดับความเข้มข้นของสารอันตรายเหล่านี้เพื่อเป็นมาตรการเชิงป้องกัน" ยิตก้า สตราโควา ผู้เชี่ยวชาญสารเคมีจากสมาคมอาร์นิก้า (ARNIKA) สาธารณรัฐเช็ก และหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญของโครงการกล่าว พร้อมกับให้ข้อมูลว่า “พลาสติกจากการรีไซเคิลที่มีการปนเปื้อนของสารพิษเกิดจากความไม่เคร่งครัดในการควบคุมสารอันตราย ปัญหาเหล่านี้มักเกิดในประเทศกำลังพัฒนา หรือกลุ่มประเทศที่ประชากรมีรายได้ต่ำถึงรายได้ปานกลาง ประชาชนในประเทศเหล่านี้จึงมีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูง นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์รีไซเคิลดังกล่าวยังเป็นช่องทางของการแพร่กระจายสารพิษไปยังประเทศอื่นๆ อีกด้วย”
ปัจจุบัน ปัญหาดังกล่าวได้ทำให้นักวิชาการและนักสิ่งแวดล้อมในหลายประเทศเห็นพ้องที่จะร่วมกันผลักดันเรื่องนี้ ในการประชุมครั้งที่ 8 ของผู้แทนรัฐบาลที่เป็นรัฐภาคี (8th Conference of the Parties: COP8) ของอนุสัญญาสตอกโฮล์มว่าด้วยสารมลพิษตกค้างยาวนาน (Stockholm Convention on Persistent Organic Pollutants) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 20 เมษายน 2560 ณ กรุงเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยจะเสนอให้เพิ่มสาร DecaBDE ไว้ใน “ภาคผนวกเอ” ของอนุสัญญาเช่นเดียวกับสาร OctaBDE และ HBCD คือเป็นสารที่ “ห้ามผลิต” และ “ห้ามใช้”
ภาพประกอบจาก https://pixabay.com