วันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๕ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ ร่วมกันกดดันบริษัทผลิตสินค้าที่มีส่วนประกอบแร่ใยหินให้หยุดคุกคาม ข่มขู่นักวิชาการที่ดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะและสุขภาพผู้บริโภค พร้อมเรียกร้องให้บริษัทหยุดการนำเข้าวัตถุดิบ สินค้า และใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิตสินค้า ตามข้อเสนอขององค์กรผู้บริโภค นักวิชาการ และมติคณะรัฐมนตรี วันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๔
ตามที่สำนักงานกฎหมายฮันตันแอนส์วิลเลี่ยม และ ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ ได้ส่งจดหมายข่มขู่การทำหน้าที่นักวิชาการของ รศ.ดร. วิทยา กุลสมบูรณ์ อาจารย์คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และสำนักงานกฎหมายนี้ยังได้ทำจดหมายไปถึงคณบดีคณะเภสัชศาสตร์ ฯ และอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตลอดจนองค์กรและหน่วยงานต่างๆของรัฐ
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศเห็นว่า การดำเนินการดังกล่าว เป็นการกดดันข่มขู่ให้นักวิชาการ กลัว และหยุดการดำเนินการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะและสุขภาพของผู้บริโภค จึงขอเรียกร้องให้บริษัทหยุดการกระทำข่มขู่คุกคามผ่านตัวแทนของบริษัทไม่ว่า จะเป็นสำนักงานกฎหมาย ศูนย์ข้อมูลไครโซไทล์ รวมทั้งเรียกร้องให้บริษัทหยุดนำเข้าและใช้แร่ใยหินเป็นวัตถุดิบในการผลิต สินค้าตามข้อเสนอขององค์กรผู้บริโภคทั่วประเทศ เมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๒ และตามมติของสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ ๓ พ.ศ. ๒๕๕๓ และมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๑๒ เมษายน ๒๕๕๔ ที่มีมติเห็นชอบต่อมาตรการทำให้สังคมไทยไร้แร่ใยหิน คือ ห้ามนำเข้าแร่ใยหินและผลิตภัณฑ์เฉพาะกรณี และห้ามผลิต ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของแร่ใยหินที่ใช้วัตถุดิบอื่นหรือใช้ผลิตภัณฑ์ อื่นทดแทนได้ ในปี ๒๕๕๔ แต่กลับพบว่า มีการนำเข้าแร่ใยหินเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม
แร่ใยหินเป็นที่ยอมรับในแวดวงวิชาการและองค์กรระหว่างประเทศ ว่า เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งเยื่อหุ้มปอด และภาวะปอดอักเสบจากเอสเบสตอส เป็นต้น ประมาณการว่า มีประชากร ๑๒๕ ล้านคนทั่วโลกที่ได้รับสัมผัสแร่ใยหินจากการทำงาน ในจำนวนนี้กว่า ๑ แสนคนที่เสียชีวิตในแต่ละปีด้วยโรคที่เกิดจากการได้รับสัมผัสแร่ใยหิน และ ๑ ใน ๓ ของการเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งจากการทำงานมีสาเหตุมาจากแร่ใยหิน มาตรการการกำจัดโรคที่เกิดจากแร่ใยหินได้ปรากฏในมติขององค์การแรงงานระหว่าง ประเทศและสมัชชาองค์การอนามัยโลกหลายครั้ง เช่น ในการประชุมสมัชชาองค์การอนามัยโลก ครั้งที่ ๕๘ มติที่ ๕๘.๒๒ (WHA Resolution ๕๘.๒๒) ว่าด้วยเรื่องการป้องกันและควบคุมมะเร็ง และ ครั้งที่ ๖๐ (WHA Resolution ๖๐.๒๖) ซึ่งได้มีการรณรงค์ให้ประเทศสมาชิกทั่วโลกเลิกใช้แร่ใยหินทุกชนิดเพื่อควบ คุมและกำจัดโรคที่เกิดจากแร่ใยหินให้หมดไป ปัจจุบันมีประเทศที่ห้ามใช้แร่ใยหินแล้วจำนวน ๕๗ ประเทศ และกำลังมีเพิ่มขึ้นอีกหลายประเทศ