คปภ. อุดรูโหว่ พ.ร.บ. รถ ล้อมคอกมอเตอร์ไซค์ทำประกัน

570211_morคปภ.ชี้ผลการทำวิจัย พ.ร.บ.รถภาคบังคับ ยังมีช่องโหว่ วอนรัฐดูแลกลุ่มมอเตอร์ไซค์ มีจำนวนมาก แต่ทำประกันน้อย เตรียมเพิ่มโทษผู้ฝ่าฝืน เล็งเพิ่มเบี้ยประกันให้คุ้มทุนค่าสินไหม

นายประเวช องอาจสิทธิกุล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ (พ.ร.บ.รถ) ภาคบังคับ ที่ คปภ.ได้ให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษาวิจัย พบว่ายังมีช่องว่างที่ต้องปรับปรุง เช่น ความคุ้มครองในส่วนรถจักรยานยนต์ ที่ยังไม่ตรงกับตัวเลขที่แท้จริง

เนื่องจากปัจจุบันรถจักรยานยนต์มีอยู่ในระบบ 18-19 ล้านคัน แต่ตัวเลขที่มีการต่อ พ.ร.บ.และจดทะเบียน มีจำนวนน้อยกว่า ซึ่งหากเกิดอุบัติเหตุ อาจทำให้ประชาชนไม่สามารถได้รับความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่ต้องติดตามอย่างจริงจัง

“ปัจจุบันสัดส่วนรถไม่ทำประกันภัยเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะกลุ่มรถจักยานยนต์ ซึ่งจากสถิติพบว่า มีค่าเฉลี่ยในการทำประกันภัยเพียง 3 ปีแรกของรถจดทะเบียนเท่านั้น"นายประเวชกล่าว

โดย คปภ.เตรียมเสนอภาครัฐหามาตรการให้รถเข้าสู่ระบบทั้งหมด ทั้งการเพิ่มบทลงโทษแก่ผู้ไม่ทำประกันภัย จะเป็นข้อเสนอหนึ่งที่ควรต้องมีการทบทวน เพราะหากหลีกเลี่ยงไม่ทำประกันภัย นอกจากจะเป็นการทำผิดกฎหมายแล้ว ยังเป็นการสร้างปัญหาต่อสาธารณะและประชาชนที่ร่วมใช้รถใช้ถนน เพราะรถที่ไม่ทำประกันภัย เมื่อเกิดอุบัติเหตุจะได้รับเพียงค่าเสียหายเบื้องต้นจากกองทุนทดแทนผู้ ประสบภัยเท่านั้น

นอกจากนี้ ยังต้องปรับปรุงเกี่ยวกับการควบคุมอัตราเบี้ยประกันภัยรถภาคบังคับ จนทำให้กลไกด้านราคามีการบิดเบือน โดยเฉพาะรถจักรยานยนต์ที่มีการเกิดอุบัติเหตุสูง มีเบี้ยประกันภัยต่ำที่จ่ายประมาณปีละ 300 บาท เกินกว่าอัตราการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ทำให้การกำหนดเบี้ยประกันภัยไม่สะท้อนความเสี่ยงภัยที่แท้จริง

ขณะที่อัตราเบี้ยประกันภัยรถยนต์ มีอยู่ในระบบ 6-7 ล้านคัน มีเบี้ยประกันภัยที่จ่ายประมาณปีละ 600 บาท ส่งผลให้เกิดการเกื้อหนุนในระบบตลาดภาพรวม ทำให้ คปภ.และทีดีอาร์ไอต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบอีกครั้ง คาดว่าผลงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ จะแล้วเสร็จในเดือน ม.ค.2557

อย่างไรก็ตาม คปภ.ไม่ได้มีมุมมองแค่ภายในประเทศเท่านั้น แต่ยังได้เตรียมความพร้อมสำหรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 โดยเฉพาะการขับรถยนต์ผ่านข้ามพรมแดนที่ต้องมีการหารือเกี่ยวกับข้อตกลงของ การทำประกันภัยของแต่ละประเทศให้มีความครอบคลุมไปในทิศทางเดียวกัน.

ขอบคุณ ข้อมูล จาก ไทยโพสต์

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน