รัฐคุมเข้มสกัดรถจดประกอบ

สรรพสามิตจุกอก ผู้ประกอบการรถจดประกอบแสดงราคาต้นทุนต่ำกว่าราคาจริงถึง 50% ยันไม่ปล่อยผีรถขยะต่างชาติหลังกฎกระทรวงกรมการขนส่งฯมีผลบังคับใช้ คาดโทษปรับ 2-10 เท่าของภาษี- แนะแยกชิ้นส่วนขาย-ยอมเสียภาษีแล้วขาย

 

ความคืบหน้ากฎกระทรวงงดจดทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2554 ให้กรมการขนส่งทางบก(ขบ.) กระทรวงคมนาคมดำเนินการออกกฎกระทรวงดังกล่าว ล่าสุด กฤษฎีกาอยู่ระหว่างส่งหนังสือเป็นทางการถึง 3 กระทรวงหลักคือ กระทรวงคมนาคม กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการคลังเพื่อให้ 3 กระทรวงยืนยันร่างกฎกระทรวงและตอบกลับยังกฤษฎีกานั้น


แหล่งข่าวเปิดเผย "ฐานเศรษฐกิจ"ว่า ขั้นตอนออกกฎกระทรวงดังกล่าว ที่ผ่านมา 3กระทรวงหลักได้ส่งตัวแทนร่วมประชุมกับกฤษฎีกาและให้ความเห็นทางวาจาเกี่ยว กับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวแล้ว  ขณะนี้ทราบว่ากฤษฎีกาเตรียมส่งหนังสือเพื่อให้ 3 กระทรวงหลักยืนยันและตอบกลับร่างกฎกระทรวงอย่างเป็นทางการ  จากนั้นคาดว่าจะใช้เวลาไม่เกินเดือนมีนาคมก็จะออกกฎกระทรวงบังคับใช้ในทาง ปฏิบัติได้


สำหรับราคาที่ผู้ประกอบรถจดประกอบเสนอราคาต้นทุน เพื่อประเมินเสียภาษีต่ำกว่าราคาต้นทุนแท้จริงมาก เฉลี่ยต่ำกว่า 50% ของราคาต้นทุนแท้จริง  จึงไม่สามารถรับประเมินภาษีได้  ตัวอย่างเช่น รถยี่ห้อเบนซ์ ราคาต้นทุนที่กรมกำหนดอยู่ที่ 2 ล้านบาทต่อคัน แต่ราคาที่ผู้ประกอบการเสนอต่ำสุดที่ 5 แสนบาทต่อคัน และราคาสูงสุดที่ 7.8 -8 แสนบาทต่อคัน

ในช่วงที่ผ่านมาเมื่อเดือน กันยายน 2554  มีผู้ประกอบการรถจดประกอบจำนวน 1,200 คัน มายื่นขอเสียภาษีในราคาต้นทุนที่ต้องการ ซึ่งขณะนั้นกรมสรรพสามิตเปิดให้มายื่นได้เพียง 1 สัปดาห์แต่พบว่า มีผู้มายื่นขอเสียภาษีเพิ่มถึง 3,000 คัน  ซึ่งคาดว่าจะมีอีกเป็นจำนวน มาก      
                                              
หลังจากได้แจ้งไปยังสรรพสามิตพื้นที่ให้ทำหนังสือตอบผู้ประกอบการที่ได้ ยื่นอุทธรณ์ หากไม่พอใจที่จะเสียภาษีตามที่กรมกำหนดไว้แล้ว ซึ่งมีวิธีคิดโดยนำราคาระบบทดสอบของระบบราคาแกตมาอ้างอิง ล่าสุด ได้รับรายงานมาว่า มีผู้ประกอบการที่จังหวัดปราจีนบุรี  1 ราย ฟ้องศาลปกครอง เรียกค่าเสียหาย 50 ล้านบาท กรณีกรมสรรพสามิตไม่รับเสียภาษีตามราคาที่ผู้ประกอบการต้องการแล้ว

อย่างไรก็ดี ยังพบปัญหากรณีอื่นๆ ตามมา เช่น เมื่อเจ้าหน้าที่สรรพสามิต เข้าไปตรวจสอบที่โรงงานของผู้ประกอบการรถจดประกอบ กลับไม่พบรถภายในโรงงาน และอ้างว่าไม่มีที่จอด ต้องไปจอดที่อื่นๆ ดังนั้น ยอดคงค้างรถจดประกอบที่ต้องเสียภาษีจริงๆ แล้วเท่าไหร่ ขณะนี้จึงไม่มีจำนวนแน่ชัด

นอกจากนี้การแสดงราคาต้นทุนของผู้ประกอบการ จะแสดงราคารวม ไม่ได้แยกราคาชิ้นส่วนอะไหล่ต่างๆ ให้ครบถ้วน เช่น ไฟหน้า  ไฟท้าย แชสซีส์ ตัวถัง และเบาะ หากตรวจสอบจะพบว่า แสดงราคาต่ำกว่าต้นทุนจริงมาก เช่น ไฟหน้าเบนซ์ แสดงราคาเพียง 1,000 บาท อ้างมาจากเชียงกง แต่ราคาแท้จริงมากกว่า 10,000 บาท

"โครงสร้างภาษีของรถจดประกอบแต่ละรุ่น แต่ละโรงงาน ขึ้นอยู่ว่าผู้ประกอบการนำเข้ามาจากประเทศอะไร ส่วนใหญ่จะเป็นประเทศอังกฤษและญี่ปุ่น ราคาต้นทุนจะขึ้นอยู่กับค่าเงินอีกด้วย นอกจากนี้ก็ยังมีอะไหล่ในประเทศจากตลาดเชียงกง ยิ่งมีราคาต้นทุนที่ต่ำมาก"

อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวกล่าวว่า  สุดท้ายเมื่อกรมการขนส่งฯออกประกาศกฎกระทรวง มารองรับแล้ว ทุกฝ่ายต้องเข้มงวด หากนำรถออกจากหน้าโรงงาน ก็ต้องเสียภาษีสรรพสามิตตามที่กฎหมายกำหนด แต่กรมการขนส่งฯ ก็ไม่รับจดทะเบียนรถจดประกอบ  ล่าสุด กรมสรรพสามิต ติดตามภาษีรถจดประกอบจากชิ้นส่วนเก่าใช้แล้วระหว่างปีงบประมาณ 2552 -2556  รวมทั้งสิ้น 15,612 คัน ภาษี 2,322.28 ล้านบาท(ดูตารางประกอบ)
สำหรับข้อแนะนำต่อผู้ประกอบการรถจดประกอบทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ จากนี้  เห็นว่า ผู้ประกอบการต้องเลือกว่า รถจดประกอบที่ตกค้างอยู่ที่โรงงานนั้นมีจำนวนเท่าไหร่ จะแยกชิ้นส่วนอะไหล่ขายหรือจะยอมเสียภาษีสรรพสามิต แล้วขายขาดทุน เพราะผู้ซื้อรถไม่สามารถนำมาขับบนถนนหลวงได้

"เช่นเดียวกับก่อนหน้านี้ที่ กรมการขนส่งฯ ไม่รับจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ เครื่องต่ำกว่า 80 ซีซี หรือรถป๊อป ก็จะยังพบเห็นรถจักรยานยนต์เหล่านี้วิ่งตามหมู่บ้าน แต่หากกรมสรรพสามิต ตรวจสอบแล้วว่า ยังไม่เสียภาษีสรรพสามิตตามกฎหมาย ผู้ประกอบการก็จะโดนโทษปรับตามมาตรา 161, 162 และ 163 ขณะที่ผู้ซื้อรถของกลาง จะต้องจ่ายตามมูลค่ารถของกลาง คือ ราคารถรวมภาษี 3 เท่า"

ทั้งนี้ บทลงโทษผู้ประกอบการรถจดประกอบ กรณีไม่เสียภาษีตามกฎหมายสรรพสามิต  มาตรา 161 และ162 จะมีโทษปรับ 2-10 เท่าของภาษีที่ต้องจ่าย  เช่น ราคารถ 1 ล้านบาท เสียภาษี 50% คือ 500,000 บาท โดนโทษปรับ 2 เท่าของภาษี คือ  1 ล้านบาท จากนั้นจะมีความผิดตามมาตรา 163 จะมีโทษปรับอีก 1 เท่าของมาตรา 161 และ162 คือ 500,000 บาท รวมโทษปรับทั้ง 3 มาตรา คือ 1.5 ล้านบาท  ถือเป็นโทษที่สูง  ขณะที่โทษจำคุกผู้ประกอบการที่นำรถออกมาจากโรงงานโดยไม่เสียภาษี จะมีความผิดตามมาตรา 19 ซึ่งจะมีกำหนดโทษทางอาญา คือจำคุก ร่วมด้วย

สำหรับผู้ประกอบการรถจดประกอบที่เป็นปัญหาขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลาง ไม่ได้มีโรงเก็บรถ และประกอบรถขนาดใหญ่ 3000 ซีซีขึ้นไป ส่วนมากเป็นรถหรูราคาแพงและซูเปอร์คาร์ ยี่ห้อที่นิยมของคนระดับกลาง-สูง ที่ไม่ต้องการซื้อรถป้ายแดงราคาแพง ได้แก่ ยี่ห้อเบนซ์ บีเอ็มดับเบิลยู มินิคูเปอร์ เฟอร์รารี่ รวมถึงรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์  เช่น รถเบนซ์ ราคาขายป้ายแดงอยู่ที่ 3 ล้านบาท แต่รถจดประกอบราคาขายอยู่ที่ 1.5 ล้านบาท

“รถจดประกอบแสดงราคาต้นทุน 1 ล้านบาท เสียภาษี 35% ของราคารถหรือจ่ายภาษี 350,000 บาท  หรือบางรุ่นเสียภาษี 45-50% ดังนั้นราคาขายที่ 2 ล้านบาท ผู้ประกอบการก็ยังมีกำไร แต่เมื่อเทียบกับรถป้ายแดงรุ่นเดียวกัน ราคาต้นทุนแท้จริง 3 ล้านบาท เสียภาษี 35% เท่ากันจ่ายภาษีสูงถึง 1.05 ล้านบาท ราคารถสูงถึง 4-5 ล้านบาท ดังนั้นที่ผ่านมารถจดประกอบจึงเป็นที่นิยมในเมืองไทย"

สำหรับร่างกฎกระทรวงดังกล่าวนั้น ครอบคลุมรถที่จะงดรับจดทะเบียน 4 ประเภท ประกอบด้วย 1. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน (รถเก๋ง) 2. รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน (รถตู้) 3. รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล (รถปิกอัพ) 4. รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล (มอเตอร์ไซค์)

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 33 ฉบับที่ 2,829  วันที่  24- 27  มีนาคม พ.ศ. 2556

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน