คุมมาตรฐานความปลอดภัยผู้ใช้คอนแท็กต์เลนส์ หรือเลนส์สัมผัส ให้ผู้ผลิตหรือนำเข้าต้องได้รับใบอนุญาต และต้องพิมพ์ฉลากภาษาไทยอ่านได้ชัดเจน มีคำแนะนำ คำเตือน ข้อห้ามใช้ และผู้ที่ไม่ควรใช้
คอนเทคเลนซ์ กำลังเป็นที่นิยมของวัยรุ่นไทย และเสี่ยงอันตรายต่อตา หากใช้ไม่ถูกวิธี หรือใช้ในทางที่ผิด ในการป้องกันปัญหาดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ควบคุมมาตรฐานคอนแท็กต์เลนส์ (contact lens) หรือเลนส์สัมผัส เพื่อให้มีความปลอดภัยต่อผู้ใช้เลนส์ชนิดนี้
นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ได้ออกมาให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าประกาศดังกล่าวนั้น กำหนดให้คอนแท็กต์เลนส์เป็นเครื่องมือแพทย์ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าต้องได้รับใบอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยจะต้องจัดให้มีฉลากบนภาชนะบรรจุ หรือหีบห่อบรรจุคอนแท็กต์เลนส์ หรือมีไว้เพื่อขาย โดยต้องแสดงข้อความภาษาไทยที่อ่านได้ชัดเจน ทั้งนี้จะมีภาษาอื่นด้วยก็ได้ แต่ความหมายต้องตรงกับข้อความภาษาไทย และในแต่ละรายการจะต้องแสดงชื่อคอนแท็กต์เลนส์ และวัสดุที่ใช้ทำ บอกคุณสมบัติของเลนส์เช่นกำลังหักเห รัศมีความโค้ง บอกชื่อของสารละลายที่ใช้แช่เลนส์ ระยะเวลาการใช้งาน ให้แสดงด้วยอักษรความสูงไม่น้อยกว่า 2 มิลลิเมตร ยกเว้นคอนแท็กต์เลนส์ ที่ไม่กำหนดระยะเวลาการใช้งาน มีเดือนปีที่หมดอายุ เลขที่ใบอนุญาตเครื่องมือแพทย์ ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้นำเข้า ในกรณีที่นำเข้าให้แสดงชื่อผู้ผลิต เมืองและประเทศผู้ผลิตเครื่องมือแพทย์นั้นด้วย
โดยต้องระบุชนิดของเลนส์ให้ชัดเจนว่า เป็นเลนส์ชนิดใช้งานพียงครั้งเดียว หรือชนิดใส่และถอดทุกวัน พิมพ์ด้วยอักษรสีแดง เพื่อให้ผู้ใช้เห็นชัดเจน รวมถึงข้อความว่า โปรดอ่านเอกสารกำกับเครื่องมือแพทย์ก่อนใช้ และพิมพ์ข้อความว่า การใช้คอนแท็กต์เลนส์ ควรได้รับการสั่งใช้และตรวจติดตามทุกปีโดยจักษุแพทย์หรือผู้ประกอบโรคศิลปะ
ที่สำคัญก็คือ ตามประกาศนี้ได้กำหนดการพิมพ์คำแนะนำ คำเตือน ข้อห้ามใช้และข้อควรระวังในการใช้เลนส์ดังกล่าวดังนี้ โดยคำเตือนกำหนดให้มีคำว่า การใช้คอนแท็กต์เลนส์โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้ที่ผิดวิธี มีความเสี่ยงต่อการอักเสบ หรือการติดเชื้อของดวงตา อาจรุนแรงถึงขั้นสูญเสียสายตาอย่างถาวรได้ โดยให้แสดงข้อความการห้ามใช้ดังนี้คือ 1.ห้ามใส่คอนแท็กต์เลนส์นานเกินระยะเวลาที่กำหนด 2.ห้ามใช้ร่วมกับบุคคลอื่น 3.ห้ามใส่คอนแท้กต์เลนส์ทุกชนิดเวลานอน ถึงแม้ว่าจะเป็นชนิดใส่นอนได้ก็ตาม ควรถอดล้างทำความสะอาดทุกวัน
และกำหนดให้พิมพ์ข้อความควรระวัง ผู้ที่ไม่ควรใช้คอนแท้กต์เลนส์ดังนี้ คือ ผู้ที่มีสภาวะของดวงตาผิดปกติ เช่น เป็นต้อเนื้อ ต้อลม ตาแดง กระจกตาไวต่อความรู้สึกลดลง ตาแห้ง หรือกะพริบตาไม่เต็มที่ และให้ใช้น้ำยาล้างเลนส์ที่ใหม่ และเปลี่ยนน้ำยาฆ่าเชื้อทุกครั้งที่แช่เลนส์ ควรเปลี่ยนตลับใส่คอนแท็กต์เลนส์ทุก 3 เดือน ไม่ควรใส่คอนแท็กต์เลนส์ขณะว่ายน้ำ เนื่องจากอาจทำให้เกิดการติดเชื้อที่ตาได้ โดยผู้ใช้ต้องล้างมือฟอกสบู่ให้สะอาดทุกครั้งก่อนสัมผัสเลนส์ และหากมีอาการผิดปกติ เช่น เจ็บหรือปวดตาอย่างมากร่วมกับอาการแพ้แสง ตามัว น้ำตาไหลมาก หรือตาแดง ให้หยุดใช้คอนแท็กต์เลนส์ทันทีและรีบพบจักษุแพทย์โดยเร็ว
แต่ประกาศยังไม่มีผลบังคับใช้ทันที จะมีผลใช้บังคับนับตั้งแต่ถัดจากวันประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป โดยผู้จดทะเบียนสถานประกอบการที่ได้ยื่นขออนุญาตผลิตหรือนำเข้าคอนแท็ก ต์เลนส์ อยู่ก่อนวันที่ประกาศนี้ใช้บังคับและยังไม่ได้รับอนุญาต ให้ถือว่าเป็นผู้ยื่นคำขอผลิตหรือนำเข้าคอนแท็กต์เลนส์ โดยต้องมาแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการในคำขอให้มีรายละเอียดถูกต้องตามประกาศฉบับ นี้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้ใช้บังคับ ส่วนผู้ที่ได้รับอนุญาตผลิตหรือนำเข้าคอนแท็กต์เลนส์อยู่ก่อนวันที่ประกาศ ฉบับนี้ใช้บังคับ จะต้องยื่นขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการตามประกาศภายใน 30 วัน และผ่อนผันให้ใช้ฉลากเดิมได้เป็นเวลา 180 วัน นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายการ
ข้อมูลอ้างอิงจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ 4 กันยายน 2553