นายศิริธัญญ์ ไพโรจน์บริบูรณ์ ผู้อำนวยการองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) ร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค/สวทช.) จัดทำโครงการส่งเสริมการใช้ "คาร์บอนฟุตพรินต์" (Carbon Footprint) บนผลิตภัณฑ์ โดยเฟ้นหาบริษัทเอกชน 20 แห่งนำร่องพัฒนามาตรฐานคาร์บอนฟุตพรินต์
คาร์บอนฟุตพรินต์ หมายถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจก ที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละชนิด ตลอดวัฏจักรชีวิต โดยคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ฉะนั้น ฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ จึงแสดงข้อมูลปริมาณการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาของวัตถุดิบ กระบวนการผลิต ขนส่ง ใช้งาน จนถึงขั้นตอนกำจัดซาก โดยวิเคราะห์ออกมาเป็นตัวเลขติดอยู่บนสินค้า เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค
อบก.เปิดรับสมัครบริษัทเอกชน ที่สนใจและมีความพร้อมด้านข้อมูลพื้นฐานวัตถุดิบพอสมควร จำนวน 20 บริษัท ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.นี้ คาดว่าจะสามารถติดฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ให้กับสินค้าจาก 20 บริษัทนำร่องได้ในเดือนพ.ย.2552
ประเทศที่พัฒนาแล้วเริ่มให้ความสำคัญกับฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ โดยติดแสดงบนชั้นวางสินค้าในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ ซึ่งก่อนหน้านี้ อบก.ได้สนับสนุนให้มี "ฉลากคาร์บอน" สำหรับสินค้าที่สามารถลดปริมาณการปลดปล่อยคาร์บอน 10% ซึ่งเป็นเพียงส่วนย่อยของคาร์บอนฟุตพรินต์ แม้ไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่มีความหวังที่จะพัฒนามาตรฐานคาร์บอนฟุตพรินต์ของไทยให้เป็นที่ยอมรับระดับสากล
รศ.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผู้อำนวยการเอ็มเทค กล่าวว่า หัวใจของฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ คือการประเมินวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ ทางเอ็มเทคได้รวบรวมฐานข้อมูลวัสดุพื้นฐานและพลังงานของประเทศไทยมาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อให้ครอบคลุมแหล่งวัตถุดิบตลอดจนแหล่งที่มาของพลังงานอย่างครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า ปิโตรเลียม เหล็ก ยาง และซีเมนต์ เป็นต้น
ข้อมูลทั้งหมดจะใช้ในการวิเคราะห์หาวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ จากภาคเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ เช่น ผลิตภัณฑ์กระดาษจะเริ่มต้นคำนวณตั้งแต่ นำไฟเบอร์จากไม้มาผ่านกระบวนการต้มเยื่อโดยใช้พลังงานไฟฟ้า และสารเคมีก่อให้เกิดน้ำเสีย มลพิษทางอากาศ ด้านการขนส่ง ใช้งาน รีไซเคิล ใช้เชื้อเพลิงในปริมาณเท่าใด ด้วยการคำนวณออกมาเป็นตัวเลข ติดบนฉลากคาร์บอนฟุตพรินต์ของสินค้าชนิดนั้นๆ
นางจันทิมา นียะพันธ์ ผู้จัดการงานธุรกิจสัมพันธ์ บริษัท เอสซีจี เปเปอร์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทเป็น 1 ในบริษัทนำร่องในโครงการคาร์บอนฟุตพรินต์ ที่จะสร้างการยอมรับในตลาดโลก ที่ผ่านมาได้ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะขั้นตอนการบำบัดของเสีย พยายามลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ปีละ 0.5%