กฎหมายผู้บริโภค เร่งผู้ผลิตยกระดับสินค้า-บริการ


:นาวสาว เดือนเพ็ญ ศิลาเกษ นำรถป้ายแดงซึ่งซื้อมาแล้วพบปัญหา ต้องส่งซ่อมบ่อยครั้ง และร้องเรียนไปยังบริษัทเจ้าของสินค้าแล้วแต่ไม่ได้รับการดูแลจึงมาร้องเรียนกับสื่อมวลชน และนำค้อนปอนด์มาทุบบริเวณกระจกหน้าและกระโปรงหน้ารถ (เหตุการณ์เมื่อเดือนมกราคม 2005)

ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ ก็ยังมีข่าวดีอยู่บ้างสำหรับผู้บริโภค หรืออาจกล่าวว่าเป็นปีทองของผู้บริโภคก็คงไม่ผิด หลังจากเมืองไทยจะมีกฎหมายใหม่ๆ หลายฉบับ ในการคุ้มครองและเพิ่มสิทธิผู้บริโภคออกมาบังคับใช้

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : เพื่อลดการถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบการและผู้ขาย ซึ่งได้รับผลกระทบจากการซื้อสินค้าและบริการที่ไม่ปลอดภัย ไม่เป็นไปตามการโฆษณา ไม่ว่าจะเป็น รถยนต์ บ้าน เครื่องมือ อุปกรณ์ อาหาร รวมถึงการฉ้อโกงการสมัครสมาชิกของสถานที่ออกกำลังกาย เป็นต้น

หลังจากพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ได้มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา กฎหมายฉบับดังกล่าว ถือเป็นการยกระดับการแก้ปัญหาความไม่เป็นธรรมในกระบวนการพิจารณาคดีผู้บริโภคตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งได้เป็นอย่างดี และถือเป็นกฎหมายใกล้ตัวที่ผู้บริโภคสามารถหยิบใช้ได้ง่ายกว่าเดิม ไม่ต้องรู้สึกเหมือนกำลังกิน "ยาขม" เมื่อต้องเดินเข้าสู่กระบวนการศาลเช่นในอดีต

ต้นสายปลายเหตุที่ต้องตรา “กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค” มาจากปัญหาผู้ซื้อสินค้าถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ขายอยู่เป็นประจำ ก่อนที่จะมีกฎหมายฉบับดังกล่าว เมื่อเกิดปัญหาขึ้นแล้ว การเรียกร้องค่าเสียหายใช้เวลานานและยุ่งยาก เนื่องจากผู้บริโภคต้องรับภาระพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่างๆ อีกทั้งยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีสูง

นับต่อจากนี้เกิดความไม่เป็นธรรม เช่น รถยนต์ ที่ซื้อมาไม่ได้มาตรฐาน สามารถทำการฟ้องร้องที่ศาลในเขตท้องที่ได้ทันที โดยผู้ยื่นฟ้องสามารถฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ ฟ้องด้วยตนเองหรือแต่งตั้งทนายความ หรือขอให้คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค หรือสมาคมที่คณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภครับรอง ดำเนินการฟ้องร้องแทนให้ก็ได้โดยไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียม

ส่วนภาระการพิสูจน์ความผิดนั้น เป็นหน้าที่ของผู้ประกอบการที่จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์ เพราะว่าในกิจการหลายๆ อย่าง ผู้บริโภคไม่สามารถพิสูจน์ได้ เช่น ซื้อคอมพิวเตอร์ ซื้อรถยนต์ แล้วเกิดเสียหาย ผู้ประกอบการต้องพิสูจน์ต่อศาลให้ได้ว่าไม่ได้เป็นอย่างที่ถูกกล่าวหา

กฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค จึงเป็นกฎหมายที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค ขณะเดียวกันจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเห็นความสำคัญ และหันมาพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น เพราะหากยังคงใช้แนวคิดเดิมๆ ในการทำธุรกิจค้าขายสินค้าและบริการ ที่เอาเปรียบผู้บริโภคทุกวิถีทาง ก็จะพบกับการลงโทษทางกฎหมายอย่างรวดเร็ว

คดีแรกศาลผู้บริโภคฟ้องนกแอร์

หลังจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มีผลบังคับใช้แล้ว พบว่า ผู้บริโภคบางส่วนที่ถูกละเมิดได้เริ่มใช้สิทธิที่จะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายยื่นฟ้องร้องผู้ประกอบธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ประเดิมคดีแรกเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2551 นายเจิมศักดิ์ ปิ่นทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภากรุงเทพ  เป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด และกรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการสนามบินนครศรีธรรมราช เรื่องละเมิด ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาความผู้บริโภค พ.ศ.2551 กรณีที่ไม่ได้จัดให้มีเครื่องตรวจวัตถุระเบิดและโลหะหนัก เพื่อตรวจค้นตัวผู้โดยสารที่จะขึ้นเครื่องสนามบินจังหวัดนครศรีธรรมราช ในเที่ยวบินสายการบินนกแอร์ ที่ DD 7811 วันที่ 16 สิงหาคม 2551

และเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก มีคำพิพากษาคดี หมายเลขดำ ผบ.1/2551 ให้ กรมการขนส่งทางอากาศ (ขอ.) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการสนามบินนครศรีธรรมราช ชดใช้ค่าเสียหายต่อโจทย์ ที่ต้องเกิดความวิตกกังวลว่าจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงภัย เป็นเงิน 50,000 บาท ที่บกพร่องไม่นำเครื่องตรวจวัตถุระเบิดมาติดทันทีเมื่อได้รับคืนจาก ม.วลัยลักษณ์ ส่วนนกแอร์ยกฟ้องไม่ต้องร่วมรับผิด  คดีดังกล่าวใช้เวลาเพียง 4 เดือนเท่านั้น

ล่าสุด วันที่ 7 พฤศจิกายน 2551  ลูกค้าของห้างเทสโก้ โลตัส สาขาซีคอนสแควร์ ได้ยื่นฟ้องบริษัทเอก-ชัย ดีสทริบิวชั่น ซิสเทม และห้าง ดังกล่าวต่อศาลแพ่ง ในคดีเรื่องสินค้าประเภทอาหารไม่ปลอดภัย ตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค เรียกค่าเสียหายคิดเป็นจำนวนทุนทรัพย์ 5,244,000 บาท

คดีล้นศาล "บัตรเครดิต-ลิสซิ่ง" นำโด่ง

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า กรณีฟ้องร้องนกแอร์ ของ ดร.เจิมศักดิ์ สะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่ายขึ้น เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้ช่วยเอื้อและเร่งรัดการพิจารณาให้เร็วขึ้น แม้ว่าเป็นเพียงแค่การตัดสินของศาลชั้นต้น และยังต้องมีการยื่นอุทธรณ์อีก แต่เชื่อว่าจากนี้จะใช้เวลาไม่ถึงปี ดังนั้นอยากให้ผู้บริโภคสนใจและเข้าใจกฎหมายฉบับนี้มากขึ้น

สำหรับมูลนิธิฯ มีการช่วยเหลือผู้บริโภคโดยได้ยื่นฟ้องร้องตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ทั้งสิ้น 8 กรณี ทั้งการฟ้องในเรื่องประกันภัย มาตรฐานผลิตภัณฑ์ ความเสียหายทางการแพทย์ และการเช่าซื้อ ซึ่งในจำนวนนี้มีกรณีการฟ้องบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย ที่ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน มีผู้เสียหายที่ร่วมยื่นฟ้องร้อง 30 ราย โดยขอร้องให้กรรมการบริหารบริษัทสัมพันธ์ประกันภัยเข้ารับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

ตั้งแต่ พ.ร.บ.พิจารณาคดีผู้บริโภค มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 18 ธันวาคม 2551 มีคดีผู้บริโภครับฟ้องทั้งหมด 1,547 คดี พิจารณาแล้วเสร็จ 656 คดี เหลือคดีคงค้างอีก 891 คดี ส่วนใหญ่เป็นคดีเช่าซื้อรถยนต์ คดีบัตรเครดิต คดีการกู้ยืมเงินจากธนาคารและสถาบันการเงินต่างๆ รวมทั้งบริษัทสินเชื่อ

สำนักข่าวเนชั่น 5 ม.ค. 2552

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน