โตโยต้าฯผิดจริง ศาลพิพากษาสั่งเปลี่ยนรถใหม่ให้ผู้บริโภค

ศาลแพ่งธนบุรีพิพากษาสั่ง โตโยต้าฯ เปลี่ยนรถอินโนว่าคันใหม่ให้ผู้บริโภคคิดเป็นมูลค่าความเสียหายเป็นเงิน 759,850 บาท หลังฟ้องศาลผู้บริโภค 1 ปี

วันนี้  (25 พ.ค.) เวลา 13.30 น.  ศาลแพ่งธนบุรีออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาในคดีผู้บริโภค ที่ นางสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล ที่ 1 กับพวกรวม 4 คน  ในฐานะผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการใช้สินค้าและบริการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง บริษัท โตโยต้า ธนบุรี จำกัด ที่ 1 , บริษัท โตโยต้า ทีบีเอ็น จำกัด ที่ 2 และ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย จำกัด ที่ 3 ในฐานะผู้ประกอบธุรกิจเป็นจำเลย เป็นคดีผู้บริโภค เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน 2553  เรียกค่าเสียหาย 5 ล้านบาท

จากกรณี ซื้อรถยนต์โตโยต้า รุ่นอินโนว่า รุ่นInnova เลขทะเบียน ศณ 6774  เมื่อปี 2548 เกิดปัญหาอากาศเสีย หรือควันรถยนต์ไหลย้อนกลับเข้าไปในห้องโดยสารรถ และนักวิชาการด้าน  วิศวกรรมคุ้มครองผู้บริโภค  ได้ตรวจพบมีกาซคาร์บอนมอนนอกไซด์ในห้องโดยสารสูงถึง 16 ppm

ศาลแพ่งธนบุรี พิเคราะห์พยานหลักฐานการนำสืบของโจทก์และจำเลยแล้ว เห็นว่า จำเลยไม่สามารถพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงและสาเหตุของปัญหาไอเสียเครื่องยนต์ที่รั่วเข้ามาในห้องโดยสารได้ตามคำให้การของจำเลยที่ให้การทำนองว่า เหตุของไอเสียเกิดจากสภาพการใช้งานของโจทก์ไม่ได้เกิดจากปัญหาการผลิต  ทำให้เชื่อได้ว่า รถยนต์คันพิพาทมีความชำรุดบกพร่องมาตั้งแต่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์ให้แก่โจทก์ และไม่ได้เกิดจากการใช้งานของโจทก์แต่อย่างใด ดังนั้นจำเลยที่ 1  ในฐานะผู้จำหน่าย และ จำเลยที่ 3 ในฐานะผู้ผลิต นำเข้า จึงต้องรับผิดต่อโจทก์ ในความชำรุดบกพร่องของสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐาน

พิพากษาให้ จำเลยที่ 1 คือบริษัท โตโยต้า ธนบุรี และ 3  คือบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศ ไทย เปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ รุ่นเดียวกับสุภาภรณ์ หรือไม่ก็ซื้อรถยนต์คันที่มีปัญหาคืน ในราคา 759,850 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี และให้บริษัทโตโยต้า จ่ายค่าเสียหายอีก 50,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 7.5 ต่อปี  นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2552

“รู้สึกพอใจกับคำพิพากษามากและรู้ว่าความยุติธรรมมีอยู่จริง ซึ่งกฎหมายผู้บริโภคเอื้อประโยชน์ให้กับผู้บริโภคให้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ จึงอยากฝากบอกกับผู้บริโภคที่มีปัญหาว่าให้ลุกขึ้นมาต่อสู้ตามกระบวนการทางกฎหมายเหมือนดิฉัน” นางสุภาภรณ์กล่าว


คำฟ้องคดีตัวอย่าง เรียกค่าเสียหายจากโตโยต้า5ล้าน ไอเสียเข้าในรถ"อินโนวา"อ้างกระทบสุขภาพร้ายแรง

เมื่อวันที่ 17 มิถุนายน นางสุภาภรณ์ ว่องวีรวัฒนกุล กับบุตร 3 คนเป็นโจทก์ยื่นฟ้องบริษัท โตโยต้า มอเตอร์(ประเทศไทย)จำกัดและพวกต่อศาลแพ่งธนบุรีเรียกค่าเสียหายเป็นเงินเกือบ 5 ล้านบาทจาก กรณีโจทก์ซื้อรถยนต์โตโยต้า รุ่นอินโนว่า แต่ปรากฏว่า มีไอเสียจากเครื่องยนต์รั่วเข้ามาในห้องโดยสารทำใหมีผลกระทบต่อสุขภาพของ โจทก์อย่างร้ายแรง


ทั้งนี้คำบรรยายฟ้องของโจทก์สรุปว่า  เมื่อประมาณเดือนธันวาคม  พ.ศ.2547  โจทก์ที่ไปเที่ยวงานมหกรรมรถยนต์ที่ศูนย์แสดงสินค้าเมืองทองธานี  ได้รับการเสนอหรือชักชวนจากพนักงานขายของจำเลยที่ 1 ให้ซื้อรถยนต์โตโยต้า  รุ่นอินโนว่า  ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซล จึงได้ซื้อไว้และชำระเงินตามสัญญาเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว และได้รับโอนกรรมสิทธิ์รถยนต์คันดังกล่าวมาเรียบร้อยแล้ว


ภายหลังจากโจทก์ได้รับรถยนต์คันดังกล่าวก็ได้ใช้งานตามปกติวิสัยรวม ทั้งรับส่งบุตรทั้งสามไป-กลับโรงเรียนเช้า-เย็นตั้งแต่จันทร์-ศุกร์ โดยโจทก์ทั้งสี่อยู่ในรถยนต์คันดังกล่าววันละประมาณ 5-6 ชั่วโมง


หลังจากไม่นาน โจทก์รู้สึกว่า มีกลิ่นคล้ายกลิ่นจากท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร  จึงได้แจ้งกับพนักงานขายของจำเลยที่ 1  ซึ่งแจ้งว่าเป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล  โจทก์ไม่เคยใช้รถยนต์ที่มีเครื่องยนต์ดีเซลจึงไม่ทราบมาก่อนว่าเป็นเรื่อง ปกติหรือไม่


ต่อมาเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน  พ.ศ.2549  โจทก์ใช้รถยนต์คันดังกล่าวครบระยะ  50,000  กิโลเมตร จึงได้นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์บริการซ่อมรถยนต์ของจำเลย โจทก์แจ้งกับพนักงานของจำเลยว่า มีกลิ่นควันคล้ายกลิ่นท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร  พนักงานของจำเลยแจ้งว่า เป็นเรื่องปกติของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซลและให้โจทก์ ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศ


แต่กลิ่นดังกล่าวก็ยังไม่หายไป และเริ่มมีคราบเขม่าเข้ามาในห้องโดยสาร  ดังนั้น เมื่อวันที่ 12  กันยายน พ.ศ.2550  โจทก์จึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์ฯ ของจำเลยโดยจำเลยแจ้งให้เจ้าหน้าที่เท็คนิคของบริษัทโตโยต้าฯ มาตรวจสอบโดยให้โจทก์ ทิ้งรถยนต์คันดังกล่าวไว้เป็นเวลา 5 วัน  เมื่อครบกำหนดโจทก์มารับรถ  พนักงานของจำเลยได้แก้ไขให้โดยเปลี่ยนช่องลมบังโคลน ซ้าย – ขวา  และแจ้งแก่โจทก์ที่ว่า สามารถนำรถไปใช้ได้อย่างสบายใจ


แต่กลิ่นและคราบเขม่าดังกล่าวก็ยังไม่หายไป ดังนั้น เมื่อวันที่ 27  ตุลาคม  พ.ศ2550  โจทก์จึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าตรวจเช็คกับศูนย์ฯ ของจำเลย อีกครั้งหนึ่ง  ภายหลังตรวจเช็คแล้ว  ผู้จัดการศูนย์ฯ ของจำเลยแจ้งโจทก์ว่า ไม่เป็นไร เป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล


โจทก์เชื่อตามที่ผู้จัดการศูนย์ฯ ของจำเลย บอกว่า กลิ่นควันคล้ายท่อไอเสียดังกล่าวเป็นธรรมดาของรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดีเซล จึงใช้รถยนต์คันดังกล่าวเรื่อยมา  ต่อมาเมื่อวันที่ 29 มีนาคม  พ.ศ.2551 โจทก์รู้สึกว่าแอร์ฯ ไม่เย็น ไม่มีลม จึงนำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าเช็คที่ศูนย์ของจำเลย ทางศูนย์ฯ ของจำเลยอ้างว่า  ตู้แอร์ตันไม่สามารถล้างได้จึงได้ทำการเปลี่ยนตู้แอร์ให้ เมื่อวันที่ 5  เมษายน  พ.ศ2551


ในวันที่ 5  กันยายน  พ.ศ.2551 โจทก์นำรถยนต์คันดังกล่าวเข้าเช็คระยะ 100,000  กิโลเมตร ทางพนักงานของจำเลยแจ้งโจทก์ว่าไส้กรองเครื่องฟอกอากาศอุดตัน จำเลยจึงได้เปลี่ยนไส้กรองให้เมื่อวันที่ 8 กันยายน  พ.ศ.2551


แต่กลิ่นและคราบเขม่า ก็ยังไม่หายไป และโจทก์ได้แจ้งพนักงานจำเลยทราบ พนักงานจำเลยจึงได้ทำการล้างแอร์โฟว์ให้ แต่กลิ่นและคราบเขม่าก็ยังไม่หายไป


ต่อมาในวันที่ 7  กันยายน  พ.ศ.2552 เริ่มมีคราบเขม่าสีดำเข้ามาในห้องโดยสารเป็นจำนวนมาก โจทก์จึงเข้าตรวจสอบที่ศูนย์ฯของจำเลยพบว่า มีคราบเขม่าสีดำเข้ามาในห้องโดยสารจำนวนมากจริง จึงได้ถ่ายรูปแล้วแล้วส่งเรื่องไปยังบริษัทโตโยต้า(จำเลยที่ 3)แต่ปกปิดสาเหตุไม่แจ้งให้โจทก์ทราบถึงสาเหตุว่า เกิดขึ้นเพราะอะไร


ต่อมาวันที่ 9  กันยายน  พ.ศ.2552 ทางบริษัทโตโยต้าฯด้นัดให้โจทก์มาเจรจาและขอให้โจทก์นั่งรถยนต์คันดังกล่าว เพื่อไปตรวจสอบค่ามลพิษในห้องโดยสารแต่โจทก์ป่วย จึงไม่สะดวกที่จะนั่งรถไปด้วย จึงขอให้รองผู้จัดการศูนย์ของจำเลยนั่งไปด้วย แต่เจ้าหน้าที่เทคนิคจากบริษัทโตโยต้า ไม่ไปตรวจสอบกับรองผู้จัดการศูนย์ฯ ของจำเลย โดยโดยเจ้าหน้าที่เทคนิคของบริษัทโตโยต้า ยืนยันจะให้โจทก์ทิ้งรถยนต์คันดังกล่าวไว้ 3-5  วัน โจทก์จึงไม่ตกลง


บริษทโตโยต้า จึงได้มีหนังสือฉบับลงวันที่ 16  กันยายน พ.ศ.2552  แจ้งมายังโจทก์มีใจความทำนองว่า  หากโจทก์ประสงค์จะให้บริษัทตรวจสอบรถยนต์คันดังกล่าวให้นัดหมายมา


ต่อมาวันที่ 5  ตุลาคม พ.ศ.2552  จึงได้มีการนัดตรวจรถยนต์คันดังกล่าว โดยฝ่ายจำเลยทั้งสามส่งเจ้าหน้าที่มา 4 คน ฝ่ายโจทก์มีตัวโจทก์และเจ้าหน้าที่ของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค 4 คน และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเก้าธนบุรี 2  คน โดยทำการตรวจวัดประมาณ 1  ชั่วโมง โดยขับรถยนต์รอบอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ  โดยตรวจสอบรถยนต์ 2  คันเปรียบเทียบพร้อมๆ  กันคือรถยนต์คันดังกล่าว กับ รถยนต์ยี่ห้อฮอนด้า ที่มีอายุการใช้งานมากกว่า ผลปรากฏว่า พบค่าก๊าซคาบอนมอนอกไซค์ในห้องโดยสารรถยนต์คันดังกล่าวสูงถึง 16 พีพีเอ็ม ส่วนรถยนต์ยี่ห้อฮอนด้าตรวจไม่พบก๊าซดังกล่าว


โจทก์ จึงเพิ่งทราบว่า  รถยนต์คันดังกล่าวมีก๊าซอันตรายและเขม่าจากไอท่อไอเสียเข้ามาในห้องโดยสาร ขณะขับขี่รถยนต์คันดังกล่าว และเป็นอันตรายต่อสุขภาพของโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ จึงหยุดใช้รถยนต์คันดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6  ตุลาคม  พ.ศ.2552


ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซค์(Carbon monoxide : CO) เป็นก๊าซที่ไม่มีสี รส และกลิ่น เบากว่า อากาศทั่วไปเล็กน้อย เมื่อหายใจเข้าไป ก๊าซนี้จะรวมตัวกับฮีโมโกลบิน(Haemoglobin)ในเม็ดเลือดแดงได้มากกว่า ออกซิเจน 200-250 เท่า เกิดเป็นคาร์บอกซีซีฮีโมโกลบิน(Carboxyhaemoglobin : CoHb) ซึ่งลดความสามารถของเลือดในการเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเหยื่อ ต่างๆ โดยทั่วไป  องค์ประกอบสำคัญที่ทำให้เกิด CoHb ในเลือดมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความเข้มข้นของก๊าซ  คาร์บอนมอนอกไซด์ในอากาศ ที่สูดหายใจเข้าไปและระยะเวลาที่อยู่ในสภาวะนั้นสำหรับอาการตอบสนองของ มนุษย์ขึ้นอยู่กับเปอร์เซ็นต์ CoHb และความรู้สึกของแต่ละบุคคลที่ไวต่อก๊าซชนิดนี้

นอกจากนั้นควันดำ เป็นผงเขม่าขนาดเล็กที่เหลือจากการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงจากรถยนต์ดีเซล เช่น รถปิกอัพดีเซล รถเมล์โดยสาร และรถขนาดใหญ่ทั่วๆ ไป อันตรายจากควันดำ เนื่องจากควันดำเป็นผงเขม่าขนาดเล็กที่สามารถเข้าไปสะสมที่ถุงลมในปอด  และควันดำยงประกอบไปด้วยสารที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปอด  นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความสกปรก  และบดบังการมองเห็นก่อให้เกิดอุบัติเหตุทางจราจรได้ง่าย


.ด้วยเหตุที่รถยนต์คันดังกล่าวมีความชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้มีก๊าซ พิษและเขม่าเข้ามาในห้องโดยสารได้  ดังนั้น  ตั้งแต่โจทก์ทั้งสี่ใช้รถยนต์คันดังกล่าวก็เกิดอาการผิดปกติของร่างกายคือ ในเรื่องระบบทางเดินหายใจ มีภาวะการหายใจลำบาก เยื่อบุโพรงจมูกอักเสบบ่อยครั้ง มึนศีรษะ  อ่อนเพลีย  เหนื่อยง่าย  ใจสั่น มีอาการคล้ายจะเป็นลม แสบตา  คันจมูก มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะ  โดยหาสาเหตุไม่ได้  โดยเฉพาะโจทก์ที่ 1 ได้เคยไปพบแพทย์บ่อยครั้ง  โดยไปพบแพทย์เฉพาะทาง โรคปอด จักษุแพทย์  แพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ  แพทย์เหล่านั้นก็รักษาไปตามอาการโดยไม่ทราบสาเหตุ เช่น คันตา แสบตาแพทย์ก็ให้ยาแก้แพ้มาหยอดตา หัวใจเต้นผิดจังหวะก็ให้ยามารักษาอาการหัวใจเต้นผิดปกติ ฯลฯ


การกระทำของจำเลยที่ประมาทเลินเล่อไม่ตรวจสอบสินค้าให้ดีว่ามีคุณภาพ ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด  แต่กลับนำผลิตภัณฑ์ที่ชำรุดบกพร่องมาจำหน่ายก่อให้ความเสียหายแก่โจทก์ทั้ง สี่  ส่วนจำเลยที่ 2 ทราบว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวชำรุดบกพร่องเป็นอันตรายต่อสุขภาพของโจทก์ทั้งสี่  แต่กลับปิดบังความจริงอันควรจะแจ้งให้โจทก์ทั้งสี่ทราบจึงต้องร่วมรับผิด ด้วย ในความเสียหาย ดังนี้


1.ค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยและทนทุกข์ทรมานจากการใช้รถยนต์คันดังกล่าวเป็นเวลากว่า 5 ปี เศษ โดยที่โจทก์ที่ 1 ปัจจุบันอายุ46  ปี จบการศึกษาพยาบาลศาสตร์ เคยเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ต่อมาลาออกมาเพื่อสมรส และเป็นแม่บ้าน  มีรายได้จากสามีเดือนละ 150,000  บาท


โจทก์ที่ 2  มีอายุ 21  ปี ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย


โจทก์ที่ 3 ปัจจุบันอายุ 18  ปี ปัจจุบันศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 2 คณะแพทย์ศาสตร์  มหาวิทยาลัยรังสิต


โจทก์ที่ 4 ปัจจุบันอายุ 13 ปี ปัจจุบันอยู่ชั้นมัธยมปีที่ 3 โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย


จทก์ทั้งสี่ขอคิดค่าเสื่อมสุขภาพอนามัยและทนทุกข์ทรมานจากการใช้รถ ยนต์คันดังกล่าววันละ 1,500  บาทต่อคน เป็นเวลากว่า 5  ปีเศษ แต่โจทก์ทั้งสี่ขอคิดเพียง 1  ปีก่อนฟ้อง คิดเป็นค่าเสียหายคนละ 547,500  บาท  รวมค่าเสียในส่วนนี้ของโจทก์ทั้งสี่เป็นเงิน 2,190,000  บาท


2.ค่าขาดประโยชน์ใช้สอยในรถยนต์คันดังกล่าว เนื่องจากการใช้รถยนต์คันดังกล่าวก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพโจทก์ทั้งสี่ โจทก์ที่ 1 จึงหยุดใช้รถยนต์คันดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 6 ตุลาคม พ.ศ.2552 และขึ้นรถยนต์แท็กซี่แทนเสียค่าใช้จ่ายวันละ1,500  บาท คิดถึงวันฟ้องเป็นเวลา  253  วัน เป็นเงิน 379,500 บาท  และเนื่องจากความชำรุดบกพร่องของรถยนต์คันดังกล่าวมีอยู่ในขณะส่งมอบสินค้า นั้นและไม่อาจแก้ไขให้กลับคืนสภาพที่ใช้งานได้ปกติหรือถึงแม้แก้ไขแล้วหากนำ ไปบริโภคอาจเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรืออนามัยของโจทก์ทั้งสี่ที่ใช้สินค้า นั้น โจทก์ที่ ๑ จึงขอให้ศาลพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันเปลี่ยนรถยนต์รุ่นเดียวกันให้ใหม่ และให้ใช้ค่าขาดประโยชน์ใช้สอยวันละ ๑,๕๐๐ บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะเปลี่ยนรถยนต์คันใหม่ให้แก่โจทก์ที่ 1


และหากจำเลยทั้งสามไม่สามารถหารถยนต์รุ่นดังกล่าวมาเปลี่ยนให้แก่ โจทก์ที่ได้ ก็ให้รับรถยนต์คันดังกล่าวไปแล้วใช้ราคาแทน  โดยโจทก์ที่ 1 ซื้อรถยนต์มาในราคา 1,169,000   บาทหักค่าเสื่อมราคาปีละ 7  เปอร์เซ็นต์ เป็นเวลา5  ปี คงเหลือเงิน 759,850   บาท


3.ค่าขาดโอกาสที่จะมีอายุยืนยาวและจะได้รับความสนุกสนานในชีวิต เนื่องควันและเขม่ามีสาร polycyclicaeromatichydrocarbon  อันเป็นสารก่อมะเร็งมายาวนานถึง 5 ปีเศษ มีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งและเสียชีวิตก่อนวัยอันสมควร  โจทก์ทั้งสี่ขอคิดค่าเสียหายในส่วนนี้เท่ากับค่าเบี้ยประกันภัยสุขภาพโรค มะเร็ง  คนละ 5,000 บาท ต่อปี เป็นเวลา20 ปี คิดเป็นค่าเสียหายคนละ 100,000 บาท รวมเป็นเงิน 400,000  บาท


4.ค่าเสียหายในความวิตกกังวล ทนทุกข์ทรมาน ว่าจะเป็นมะเร็งหรือไม่ คนละ 500,000 บาท เป็นเงิน 2,000,000  บาท


รวมเป็นเงินที่จะต้องชำระให้กับโจทก์ที่1  เป็นเงิน 1,527,000  บาท โจทก์ที่ 2 เป็นเงิน 1,147,500   บาท โจทก์ที่ ๓ เป็นเงิน 1,147,500  บาท โจทก์ที่4  เป็นเงิน  1,147,500  บาท รวม 4,969,500 บาท

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน