บุญยืน เล่าว่า เมื่อเดือนพฤษภาคม 2550 ได้ซื้อประกันภัยชั้น1 จากบริษัทสัมพันธ์ประกันภัย หลังจากที่ได้มีการสอบถามข้อมูลต่างๆ เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อ โดยเฉพาะสถานะทางการเงินของบริษัทกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการ ประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่งได้รับการยืนยันถึงความมั่นคงทางการเงินของบริษัทนี้ จึงได้ตัดสินใจซื้อประกันภัยกับบริษัทดังกล่าว
หลังจากที่ซื้อประกันภัยมาได้เพียง 1 เดือน บริษัทสัมพันธ์ประกันภัยก็ถูกทาง คปภ.สั่งให้หยุดรับประกันภัยชั่วคราว และให้หาผู้ร่วมทุนรายใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาการขาดสภาพคล่องด้านการเงิน แต่จนถึงวันนี้เป็นเวลาร่วมปีเศษ บริษัทสัมพันธ์ฯก็ยังไม่สามารถหาผู้ร่วมลงทุนรายใหม่ได้ มีแต่การปล่อยข่าวออกมาเป็นระยะๆ จนบางรายคดีได้ขาดอายุความที่จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหาย
" เมื่อผู้บริโภคมีช่องทางตามกฎหมายที่จะรักษาสิทธิ์แล้ว ก็น่าจะใช้สิทธิ์ตามกฎหมาย โดยกฎหมายนี้ ไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใดๆ และการพิจารณาคดีใช้เวลาไม่นาน ขณะที่เมื่อฟ้องคดีแล้วจะเป็นภาระของฝ่ายผู้ประกอบการที่จะต้องนำสืบพยาน หลักฐาน โดยการนำสืบนั้นศาลยังสามารถที่จะเรียกพยานมาไต่สวนได้เองด้วย ดังนั้นกฎหมายนี้จึงสร้างความสะดวกและเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคอย่างยิ่ง"
ดังนั้น ในวันที่ 5 กันยายน 2551 จึงได้เดินทางไปที่ศาลแพ่ง ถนนรัชดาภิเษก โดยไปพร้อมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และกลุ่มผู้บริโภคประมาณ 40 ราย ซึ่งเป็นผู้เสียหายจากการผิดสัญญาประกันภัย เพื่อยื่นฟ้องบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด และคณะผู้บริหาร เป็นจำเลย เรื่องผิดสัญญาการชำระค่าสินไหมทดแทน เรียกค่าเสียหายเป็นเงินรวม 6 ล้านบาทเศษ จากกรณีที่ บริษัทสัมพันธ์ประกันภัย ไม่จ่ายค่าสินค้าไหมทดแทน หลังจากที่บริษัทขาดสภาพคล่องด้านการเงิน และถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) สั่งให้บริษัทหยุดรับประกันภัยชั่วคราว โดยศาลแพ่ง นัดไต่สวนนัดแรกเดือนมีนาคมนี้
ด้าน สารี อ่องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิคุ้มครองเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า นับตั้งแต่กลางปี 2550 เป็นต้นมา มูลนิธิฯ ได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากการที่บริษัท สัมพันธ์ประกันภัย ไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้จำนวนกว่า 100 ราย ดังนั้นเพื่อให้ผู้บริโภคได้รับการชดใช้ความเสียหายที่เกิดขึ้น เมื่อมีกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งทำให้ผู้บริโภคสามารถฟ้องผู้ประกอบธุรกิจที่เอารัดเอาเปรียบทำผิดสัญญา ได้โดยไม่ต้องเสียค่าฤชาธรรมเนียมและไม่ต้องใช้ทนายความ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และทนายความอาสาของมูลนิธิฯ จึงได้ช่วยกันเขียนคำฟ้องให้ผู้เดือดร้อนและรวมตัวกันมายื่นฟ้องต่อศาล
สำหรับความวิตกกังวลของผู้เอาประกันภัยที่ว่า เมื่อยื่นฟ้องไปแล้วจะได้รับเงินคืนมากน้อยแค่ไหนนั้น สารี กล่าวว่า การฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคตามกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค หากข้อเท็จจริงปรากฏว่า บริษัทสัมพันธ์ประกันภัยฯ ถูกจัดตั้งขึ้นหรือดำเนินการโดยไม่สุจริต หรือมีการฉ้อฉลหลอกลวงผู้บริโภค หรือมีการยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินของบริษัทไปเป็นประโยชน์ของบุคคลใดบุคคล หนึ่ง และทรัพย์สินของบริษัทไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้ตามฟ้อง หากผู้บริโภคที่ยื่นฟ้องร้องขอต่อศาลหรือศาลเห็นสมควร ศาลมีอำนาจเรียกหุ้นส่วน ผู้ถือหุ้นหรือคณะกรรมการบริหารของบริษัทหรือผู้รับมอบทรัพย์สินจากบริษัทฯ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม และศาลมีอำนาจพิพากษาให้บุคคลเหล่านี้ร่วมรับผิดชอบในหนี้ที่ผู้บริโภคร้อง ขอได้
ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ วันจันทร์ที่ 09 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552
ฟ้องสัมพันธ์ประกันภัย เป็นคดีผู้บริโภค
บุญยืน ศิริธรรม เป็นอีกหนึ่งผู้บริโภค ที่ยื่นฟ้องบริษัท สัมพันธ์ประกันภัย จำกัด และคณะผู้บริหาร ฐานผิดสัญญาไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทน เป็นคดีผู้บริโภคเรียกค่าเสียหายด้วยตนเอง ตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค