แรงงาน ร้องขอความปลอดภัยในการทำงาน เสนอตั้ง “สถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อม” ยกเลิกใช้แร่ใยหินทันที พร้อมเดินหน้าหาข้อพิสูจน์ทางการแพทย์ ช่วยแรงงานที่ได้รับผลกระทบ แฉบริษัทแร่ใยหินยักษ์ใหญ่ พาสื่อดูงานต่างประเทศ บิดเบือนข้อมูลสวนทางข้อมูลวิชาการทั่วโลก
วันนี้ (10 พ.ค.) สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย ร่วมกับ เครือข่ายสังคมไทยไร้แร่ใยหิน (T-BAN) และแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดแถลง “19 ปี เคเดอร์ แรงงานปลอดภัย ไร้แร่ใยหิน”
โดย นางสมบุญ สีคำดอกแค สภาเครือข่ายกลุ่มผู้ป่วยจากการทำงานและสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์ไฟไหม้โรงงานเคเดอร์ เมื่อปี 2536 ทำให้มีแรงงานเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้กำหนดให้วันที่ 10 พ.ค.ของทุกปี เป็นวันความปลอดภัยในการทำงานแห่งชาติ จนถึงปัจจุบัน 19 ปีผ่านมา พบว่า ไทยมีนโยบาย โครงสร้างกฎหมายเกี่ยวกับความปลอดภัยในการทำงานของแรงงาน แต่ยังไม่มีการสนับสนุนจากภาครัฐให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย ที่สำคัญ ยังขาดงบประมาณ และบุคลากร รวมทั้งจำนวนแพทย์ พยาบาลด้านชีวอนามัย และวิศวกรเพื่อความปลอดภัยในการทำงาน เจ้าหน้าที่ภาครัฐยังมีอยู่จำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับโรงงาน 170,000 แห่ง มีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเพียง 600 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้เชี่ยวชาญจริงๆ ไม่ถึง 40 คน ทำให้การตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของโรงงานมีเพียงรายงานในกระดาษ แต่ไม่มีการลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบได้ทั่วถึง
“ปัจจุบัน ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ทำให้โรงงานแต่ละแห่งเร่งกำลังการผลิต ส่งผลต่อแรงงานต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้ผลผลิตมากขึ้น ทำให้มีความเสี่ยงเกิดอันตรายต่อสุขภาพ และสารพิษ โดยขาดการปฏิบัติตามกฎหมายอย่างจริงจัง และไม่มีเครือข่ายอาชีวอนามัยเพื่อแรงงาน จึงอยากเรียกร้องให้กระทรวงแรงงาน จัดตั้งสถาบันส่งเสริมความปลอดภัยอาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงานขึ้น เพื่อให้มีคณะทำงาน นำไปสู่การตั้งศูนย์ร้องเรียน และบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวกับความปลอดภัย เช่น การยกเลิกการใช้แร่ใยหินตามมติ ครม.เป็นต้น” นางสมบุญ กล่าว
นพ.อดุลย์ บัณฑุกุล สมา พันธ์อาชีวอนามัยและความปลอดภัยในการทำงาน กล่าวว่า ปัจจุบันมีอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แร่ใยหินเป็นส่วนประกอบกว่า 100 ประเภท และยังมีแร่ใยหินที่จะได้รับจากการรื้อถอนสิ่งก่อสร้างอีกมาก ซึ่งสมาพันธ์อาชีวอนามัยฯ จะประสานความร่วมมือแพทย์ พยาบาล ทุกระดับ และพยาธิแพทย์ เพื่อเก็บข้อมูล ค้นหาผู้ป่วยจากแร่ใยหิน โดยการซักประวัติผู้ป่วยมะเร็งเยื่อหุ้มปอด ว่า มีประวัติการทำงานอะไร ให้นำไปสู่การรวบรวมข้อเท็จจริง เป็นหลักฐานทางการแพทย์ เพื่อนำไปสู่การขับเคลื่อนการดำเนินนโยบายที่ชัดเจนต่อไป
นายพุทธิ เนติประวัติ สหพันธ์แรงงานก่อสร้างและคนทำไม้แห่งประเทศไทย กล่าวว่า แม้ ครม.มีมติเห็นชอบ ห้ามนำเข้าแร่ใยหินไครโซไทล์ แต่ปัจจุบันมีผู้ผลิตกระเบื้องรายใหญ่เพียง 2 รายเท่านั้น ที่ประกาศเลิกใช้แร่ใยหิน ซึ่งกลุ่มคนงานก่อสร้างถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเจ็บป่วยจากแร่ใยหิน แต่ในประเทศไทยการพิสูจน์โรค ว่า เกิดจากการทำงานทำได้ยาก เนื่องจากไทยมีแพทย์ด้านอาชีวเวชศาสตร์น้อยมาก หากเจ็บป่วยแพทย์ก็จะลงความเห็นเพียงว่าเป็นมะเร็งปอด โดยไม่มีการพิสูจน์ต่อ ทำให้แรงงานเหล่านี้ต้องเจ็บป่วยโดยที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือใดๆ เพราะผู้ประกอบมักอ้างว่าไม่สามารถพิสูจน์ได้จริงว่าเกิดจากการทำงานในช่วง ที่เป็นลูกจ้างของตน เนื่องจากกว่าจะเกิดโรคแรงงานส่วนใหญ่จะมีการย้ายการทำงานไปแล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นต้องจริงจังในการแก้ปัญหานี้
น.ส.บุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค กล่าวว่า เมื่อ เร็วๆ นี้ มีบริษัทผู้ผลิตรายใหญ่พาสื่อไทยไปดูงานอุตสาหกรรมแร่ใยหินในต่างประเทศ และให้ข้อมูลตรงข้ามกับข้อมูลทางวิชาการทั่วโลก ว่า แร่ใยหินมีความปลอดภัย ประเทศดังกล่าวมีการส่งออกแร่ใยหินเป็นลำดับต้นๆ ของโลก ย่อมจะต้องปกป้องผลประโยชน์ทางการค้าของตน จึงต้องตั้งคำถาม ว่า จะเชื่อถือข้อมูลจากผู้ขาย ซึ่งให้ข้อมูลสวนกับข้อมูลทางวิชาการทั่วโลกได้อย่างไร ปัจจุบันมีประเทศที่ยกเลิกการใช้แร่ใยหินแล้วประมาณ 53 ประเทศ แม้กระทั่งประเทศที่มีเหมืองแร่ใยหิน ดังนั้น รัฐบาลต้องมีความจริงจังในการดำเนินมาตรการดังกล่าวเพื่อคุ้มครองสุขภาพ ประชาชน และแรงงานทั่วประเทศให้ปลอดภัยจากแร่ใยหินได้จริง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 10 พฤษภาคม 2555