ผู้บริโภคทวงถาม กฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค แจงไม่ซ้ำซ้อนกับ สคบ.

590218 actionnew2
เมื่อวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ คณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคกว่า ๑๕๐ คน มายื่นหนังสือคัดค้านมติการประชุมหารือการปฏิรูประบบการคุ้มครองผู้บริโภค และขอให้สนับสนุนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กับ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ โดยมี นายกมล สุขสมบูรณ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีสำนักนายกฯ เป็นผู้รับหนังสือแทน


590218 boonyern
นางสาวบุญยืน ศิริธรรม ประธานสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค ตัวแทนผู้มอบหนังสือ กล่าวว่า ประชาชนช่วยกันผลักดันกฎหมายองค์การอิสระฯ มา ๑๙ ปี ผ่านการทำงานร่วมกับเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มา ๓ คน ทั้งยังผ่านการกลั่นกรองจากสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาทุกขั้นตอนมาแล้ว กฎหมายฉบับนี้จึงไม่ใช่กฎหมายของภาคประชาชน การกล่าวอ้างว่านี่เป็นกฎหมายของภาคประชาชนจึงไม่ใช่เหตุผล

"เพราะ สคบ.เป็นตัวแทนประชาชนไม่ได้ เนื่องจากต้องทำตามนโยบายของรัฐ แต่องค์การอิสระฯ สามารถแสดงความคิดเห็นเพื่อให้กฎหมายต่างๆ เป็นธรรมกับผู้บริโภคทุกคน เราจึงมาทวงถามถึงกฎหมายองค์การอิสระฯ จากรัฐบาลชุดนี้" นางสาวบุญยืนกล่าวและว่า เครือข่ายฯ จะขอปรึกษากับ ม.ล.ปนัดดา โดยตรงอีกครั้ง ทั้งนี้ ขอให้ตัวแทนที่มารับหนังสือนัดหมายให้กับเครือข่ายผู้บริโภค โดยจะขอฟังคำตอบภายในวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์นี้ ไม่เช่นนั้นจะมาทวงถามอีกครั้ง"

590218 saree
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค
ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า องค์การอิสระฯ ไม่ใช่หน่วยงานของรัฐและไม่ซ้ำซ้อนกับ สคบ. เช่น บริษัทรับสร้างบ้านแล้วโฆษณาว่าจะมีสระว่ายน้ำในหมู่บ้าน แต่เมื่อสร้างเสร็จแล้วไม่มี สคบ.ก็ยังทำหน้าที่สั่งจับ ปรับ หรือบังคับใช้กฎหมายได้ แต่องค์การอิสระฯ ไม่ได้ใช้อำนาจรัฐ จึงไม่ซ้ำซ้อนกัน ส่วนเรื่องอำนาจการฟ้องคดีนั้น ผู้บริโภคสามารถฟ้องคดีได้อยู่แล้วโดยใช้พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๕๑ เนื่องจากการใช้สิทธิฟ้องคดีเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

"น่าแปลกใจว่า กฎหมายนี้ผ่านสภาตั้งแต่รัฐบาลอภิสิทธิ์ ในปี ๒๕๕๓ รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ก็เดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ โดยองค์การอิสระฯ ถูกบรรจุในรัฐธรรมนูญมาแล้วทั้ง ๒ ฉบับ คือปี ๒๕๔๐ และปี ๒๕๕๐ ดังนั้น รัฐบาลนี้จึงควรเดินหน้ากฎหมายฉบับนี้ ไม่ใช่จัดประชุมกันแล้วบอกให้ทุกภาคส่วนตัดสินใจ แต่ไม่มีตัวแทนผู้บริโภค เราจึงไม่เห็นด้วยกับมติที่ประชุม และยืนยันว่าต้องมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าว

590218 pongtong
นางสาวพวงทอง ว่องไว ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภคภาคเหนือ
ให้ความเห็นว่า ภาคประชาชนมาในวันนี้ เพื่อทำให้ทุกภาคส่วนรู้ข้อมูลอย่างแท้จริงว่ากฎหมายผู้บริโภคต้องมีตัวแทน จากผู้บริโภคในการผลักดันกฎหมาย เนื่องจากรัฐบาลมีข้อจำกัดในการแก้ไขปัญหา เช่น ฟ้องหน่วยงานรัฐด้วยกันไม่ได้ คือ ไม่มีหน่วยงานไหนให้ประชาชนมีสิทธิต่อรองได้ เพื่อจะไม่ทำให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ

"องค์การอิสระฯ จะเป็นที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานรัฐเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคอย่างแท้จริง และจะทำให้ประชาชนรู้เท่าทันข้อมูล เราอยากให้ ม.ล.ปนัดดาทบทวนและจัดเวทีอีกครั้ง โดยให้ผู้บริโภคมีส่วนร่วมและผลักดันร่าง พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ให้เป็นกฎหมายอย่างแท้จริง" นางสาวพวงทอง กล่าว


590218 actionnew1
ด้านนายกมล กล่าวว่า ยินดีที่ภาคประชาชนมีข้อเสนอแนะที่จะให้ภาครัฐ หรือรัฐบาลช่วยผลักดัน ซึ่งรัฐบาลชุดนี้ตั้งใจเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหา และเปิดใจกว้างอยู่แล้ว นี่เป็นโอกาสดีที่ได้มาเสนอแนะให้รัฐผลักดันงานให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน

"เราจะรีบดำเนินการให้ และจะรวบรวมความเห็นและนำเสนอไปตามข้อเสนอของท่าน" นายกมล กล่าว

590218 actionnew2

590218 actionnew4

พิมพ์ อีเมล