สคบ. จัดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้องต่อร่างกฎหมายผู้บริโภค

601206 news1
วันที่ 6 ธ.ค.60  พลเอก สุชาติ หนองบัว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นประธานในพิธี และพลตำรวจตรี ประสิทธิ์ เฉลิมวุฒิศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นผู้กล่าวรายงาน ในโครงการสัมมนารับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระ อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภคและการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ตามมาตรา 46 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” (ครั้งที่4) ณ โรงแรมรามา การ์เด้นส์ ถนนวิภาวดีรังสิต กรุงเทพมหานคร

คลิกอ่านอ่านกฎหมาย https://goo.gl/nTTFvx

สืบเนื่องจากรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๖๐ มาตรา ๔๖ ได้บัญญัติว่า “สิทธิของผู้บริโภคย่อมได้รับความคุ้มครอง บุคคลย่อมมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค

องค์กรของผู้บริโภคตามวรรคสอง มีสิทธิรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคโดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้ง อำนาจในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภคและการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ให้เป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติ”

คณะรัฐมนตรีจึงได้มีมติมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดทำร่างกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระ อำนาจ ในการเป็นตัวแทนของผู้บริโภค และการสนับสนุนด้านการเงินจากรัฐ ตามมาตรา ๔๖ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ซึ่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณาศึกษาและจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว โดยคณะอนุกรรมการฯ ได้มีการประชุมและพิจารณายกร่าง จำนวน ๑๐ ครั้ง และมีมติกำหนดให้ สคบ. จัดรับฟังความคิดเห็น รวม ๔ ครั้ง ได้แก่ ครั้งที่ ๑ จังหวัดอุดรธานี ครั้งที่ ๒ จังหวัดสงขลา ครั้งที่ ๓ จังหวัดเชียงใหม่ และครั้งที่ ๔ กรุงเทพมหานคร ซึ่งเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชน เปิดโอกาสให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน ได้แก่ สมาคม มูลนิธิ ที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค เครือข่ายภาคเอกชน เครือข่ายภาคประชาชน ผู้ประกอบธุรกิจ เครือข่ายภาครัฐ ครู อาจารย์ นักเรียน นักศึกษา ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ในการจัดทำร่างกฎหมายดังกล่าว

การมีกฎหมายดังกล่าวจะมีผลให้ บุคคลซึ่งเป็นผู้บริโภคมีสิทธิรวมกันจัดตั้งองค์กรของผู้บริโภค เพื่อคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค และองค์กรเหล่านี้สามารถรวมกันจัดตั้งเป็นองค์กรใหญ่เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองผู้บริโภคได้ โดยองค์กรดังกล่าวจะมีการจัดตั้งเป็นองค์กรที่มีความเป็นอิสระ เพื่อให้เกิดพลังในการคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภค โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐ

เมื่อ สคบ. ได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องอย่างครบถ้วนแล้ว สคบ. จะดำเนินการนำความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วมสัมมนา เสนอคณะอนุกรรมการฯ เพื่อดำเนินการพิจารณา แก้ไข ปรับปรุง ร่างกฎหมายดังกล่าวให้เกิดความครบถ้วนสมบูรณ์ เพื่อนำเสนอคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค และคณะรัฐมนตรี พิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนการเสนอกฎหมายต่อไป

 

601206 news3

โดยในการรับฟังความคิดเห็นมีกำหนดการ ดังนี้
เวลา ๐๙.๓๐ – ๑๒.๐๐ น. อภิปรายหัวข้อหลักการและเหตุผลในการจัดทำ “ร่างกฎหมาย

ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการ จัดตั้งองค์กรที่มีความเป็นอิสระฯ” ครั้งที่ ๔ โดยวิทยากร พลเอก สุชาติ หนองบัว สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ พลเอก เสรี วงศ์ประจิตร ผู้ชำนาญการสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
นางรัศมี วิศทเวทย์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นางชูเนตร ศรีเสาวชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นายประพันธ์ บุณยเกียรติ อนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาฯ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายวิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร และนางสาวทรงศิริ จุมพล ผู้อำนวยการกองกฎหมายและคดี

เวลา ๑๓.๐๐ – ๑๕.๐๐ น. เปิดรับฟังความคิดเห็นต่อ “ร่างกฎหมายว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดตั้งองค์กร ที่มีความเป็นอิสระฯ” โดยวิทยากร นางชูเนตร ศรีเสาวชาติ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค นายประพันธ์ บุณยเกียรติ อนุกรรมาธิการในคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาฯ นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายวิทยา แจ่มกระจ่าง ประธานสมาพันธ์ชมรมคุ้มครองผู้บริโภคกรุงเทพมหานคร นางสาวทรงศิริ จุมพล ผู้อำนวยการกองกฎหมายและคดี และนายพัสกร ทัพมงคล นิติกรชำนาญการพิเศษ
​​​

นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กม.นี้ผลักดันกันมาถึง 20 ปี ผ่านไปถึง 3 รัฐบาล ซึ่งมุมมองว่า
“อยากให้องค์กรนี้เป็นอิสระจากการเมือง จากทุน จากรัฐบาล แต่ยังคงร่วมมือกับภาครัฐอย่างเข้มข้นเหมือนเดิม จากการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นในภาคต่างๆชื่อ กฎหมายนี้ขอสนับสนุนสภาองค์กรผู้บริโภคแห่งชาติ อีกประเด็นที่สำคัญก็คือนิยามความเป็นผู้บริโภค ต้องชัดเจนและตีความให้ชัด”

พร้อมให้ความคิดเห็นต่อประเด็นเรื่องคณะกรรมการว่า สัดส่วนของคณะกรรมการที่มีจากเขตควรจะมีมากกว่าคณะกรรมผู้เชี่ยวชาญ เพราะถือว่ามีความสำคัญมาก อยากให้ตระหนักถึงวิธีการเลือกสรรคณะกรรมการที่จะทำให้คณะกรรมการทำงานคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างจริงจัง ซึ่งหวังอย่างมากว่ากฎหมายที่กำลังจะเกิดขึ้นต้องทำให้ผู้บริโภคเข้มแข็งและเป็นกฎหมายที่เอื้อประโยชน์ให้ผู้บริโภคในอนาคตด้วย

พิมพ์ อีเมล