ผู้บริโภครวมตัวร้อง นายกฯ เร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อลดปัญหาผู้บริโภค
กลุ่มผู้บริโภครวมพลสะท้อนปัญหาและเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีเร่งออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ค้างอยู่ในชั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) และเรียกร้องให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคอยู่ในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปด้วย
วันนี้ (21 มิ.ย. 2558) กลุ่มผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายจากการซื้อใช้สินค้าและบริการ ร่วมกับคณะกรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชน (คอบช.) ได้จัดเวทีสาธารณะในหัวข้อ "สถานการณ์องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค" เพื่อสะท้อนปัญหาผู้บริโภคที่เกิดขึ้นกับผู้บริโภค โดยยกกรณีตัวอย่าง 9 กลุ่มปัญหาที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากระบบการคุ้มครองผู้บริโภคของภาครัฐที่มีอยู่ในปัจจุบัน ได้แก่ 1.กลุ่มผู้เสียหายจากการใช้บริการฟิตเนส กรณีแคลิฟอร์เนียร์ฟิตเนสว้าว 2.กลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อรถยนต์ใหม่แต่มีความชำรุดบกพร่อง กรณีรถยนต์เชฟโรเรตและ 3.กรณีรถยนต์ฟอร์ด 4.กลุ่มผู้เสียหายจาก บริการรถโดยสารสาธารณะไม่ปลอดภัย 5.กลุ่มผู้เสียหายจากบริการทางการแพทย์ 6.กลุ่มผู้เสียหายจากหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล 7.กลุ่มผู้เสียหายจากหนี้นอกระบบ 8.กลุ่มผู้เสียหายจากการเช่าพื้นที่ขายสินค้า กรณีสวนทวดจีบ และ 9.กลุ่มผู้เสียหายจากการซื้อที่ดินเพื่อทำเกษตร กรณีซีพีแลนด์
นางสุมาลี โรจนวานิช หนึ่งในตัวแทนผู้เสียหายจากการใช้บริการฟิตเนส กรณี บริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียน จำกัด (มหาชน) ถูกฟ้องล้มละลายและปิดกิจการไปเมื่อปี 2555 ได้เปิดเผยว่า มีผู้เสียหายกว่า 639 ราย และมีความเสียหายไม่น้อย 30 ล้านบาท ได้รวมตัวกันเรียกร้องให้บริษัทคืนเงินสมาชิก ทั้งการยื่นหนังสือต่อหน่วยงานต่างๆและเข้าแจ้งความต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) รวมเวลาถึงตอนนี้ 2 ปี 10 เดือนแล้วแต่ก็ยังไม่ได้รับเงินคืนแต่อย่างใด
"ดิฉันและลูกสาวต้องจ่ายเงินค่าสมาชิกรวมกันไปกว่า 500,000 บาท ต้องผ่อนจ่ายบัตรเครดิตขอยกเลิกก็ไม่ได้ เพระไม่สามารถติดต่อบอกเลิกสัญญากับบริการฟิตเนสได้ ถูกบริษัทปิดประตูไม่ให้เราเข้าไปอีก
ดิฉันต้องร้องเรียนไปหลายๆหน่วยงานเหนื่อยและเสียเวลามาก ถ้ามีองค์การอิสระผู้บริโภค มาช่วยเหลือในการรับเรื่องร้องเรียนและดำเนินการอย่างครบวงจร เชื่อว่าจะทำให้แก้ไขปัญหาผู้บริโภคได้เร็วขึ้น" นางสุมาลี กล่าว
นายอัธยา คำภาบุญ ตัวแทนผู้เสียหายที่ซื้อรถยนต์ใหม่แต่มีความชำรุดบกพร่อง กล่าวว่า ตนซื้อรถใหม่มาในราคา 830,000 บาท เมื่อปี 2556 ใช้รถได้ 1 ปี 2 เดือน ระยะทางวิ่ง 35,000 กิโลเมตร รถมีปัญหาเกียร์กระตุก ต้องส่งรถเข้าศูนย์ซ่อม ซ่อมแล้วก็ไม่ปลอดภัยต่อการขับขี่ จึงรวมกลุ่มกับผู้เสียหายรายอื่นไปยื่นเรื่องร้องเรียนต่อสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) เพื่อขอให้ทดสอบรถและผลทดสอบออกมาว่ารถมีปัญหาจริง
"หลังทราบผลการทดสอบ การเจรจาผ่าน สคบ. บริษัทรถจะจ่ายค่าเสียหายให้ แต่ขอหักค่าเสื่อมราคา สูงถึง 40 % ผมเห็นว่าไม่คุ้มเพราะผมจ่ายไป 500,000 บาท แล้วและรถก็ไม่สามารถใช้งานได้ จึงต้องตัดสินใจยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภค แถมมีประวัติติดแบล็กลิสต์ไปแล้วด้วย ผมอยากให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายองค์การอิสระมาคุ้มครองผู้บริโภคอย่างจริงจังเสียที" นายอัธยากล่าว
นางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา กรรมการองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภาคประชาชน (คอบช.) กล่าวว่า การผลักดันให้เกิดองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนั้น มีความพยายามมา 18 ปี ผ่านมาหลายรัฐบาล มีการพิจารณา ร่าง พรบ.องค์การอิสระผู้บริโภค อย่างเข้มข้นมาแล้วในรัฐสภา ที่มีทั้ง สส. และ สว.ที่ได้พิจารณากันอย่างครอบคลุมและผ่านข้อถกเถียงทางวิชาการและข้อเท็จจริงมาแล้ว บัดนี้ แม้แต่สภาประชาชนเพื่อการปฏิรูป(สปช.) ก็มีมติเห็นชอบให้เร่งดำเนินการให้เกิดองค์การอิสระ ที่เป็นอิสระจากหน่วยงานรัฐ และจากระบบทุน
จึงขอเรียกร้อง นายกรัฐมนตรี พิจารณาให้ออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคที่ค้างอยู่ในขั้นการพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)โดยเร็ว และขอเรียกร้องไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้คงมาตรา 60 ว่าด้วยองค์การอิสระผู้บริโภคไว้ดังเดิม ซึ่งจะสะท้อนให้เห็นว่าเป็นการส่งเสริมสิทธิพลเมืองและผู้บริโภคอย่างมาก
ทั้งนี้ในวันที่ 23 มิถุนายน เวลา 09.30 น.กลุ่มผู้บริโภคจะเดินทางไปยื่นหนังสือร้องเรียนถึงนายกรัฐมนตรี ที่ศูนย์บริการประชาชนรับเรื่องร้องเรียน สำนักงานข้าราชการพลเรือน (กพร.) เพื่อขอให้เร่งรัด การออกกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคต่อไป
สำหรับประชาชนทั่วไปสามารถร่วมลงชื่อสนับสนุนให้เกิดกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคได้ที่ www.indyconsumers.org