30 พ.ค. 55 สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติจัดสัมมนา เรื่อง องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค
ตามรัฐธรรมนูญ 2540 และ รัฐธรรมนูญ 2550 และข้อเสนอเพื่อการบรรลุผล ในเวทีอภิปราย องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค จะก้าวต่อไปอย่างไร โดยมีนายสมเกียรติ ศรลัมพ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย และนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เข้าร่วมอภิปราย
สมเกียรติ ศรลัมพ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการตัดตั้งกฎหมายภาคประชาชนว่าองค์การอิสระเมื่อเกิดขึ้นแล้วก็จะสร้างระบบและสร้างโครงสร้างขององค์กรขึ้นมา ไม่ต่างจากระบบราชการที่ประชาชนเข้าถึงยาก การบริหารงานอยู่ในกลุ่มของตัวเอง หากจะจัดตั้งองค์การอิสระจริงๆ ควรจะให้อำนาจอยู่ที่ประชาชน
“ตามความเห็นของผมกรณีงบประมาณในการสนับสนุนจากรัฐ การเสนอ กม.ไม่ควรจะกำหนดว่าควรจะเป็นกี่บาท ควรจะตั้งไว้เพื่อแก้ด้วยเช่น ไม่ควรจะต่ำกว่า หรือ สูงกว่า เป็นต้น และจะเรื่องนี้กลับไปหารือกับที่ประชุม” ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
นายไพโรจน์ พลเพชร กรรมการปฏิรูปกฎหมาย กล่าวว่าองค์กรอิสระที่ไม่ค่อยเกิดนั้น เพราะว่ามีความวิตกกังวลกันเกินไป เกรงว่าจะตรวจสอบองค์กรอิสระไม่ได้ กลัวว่าจะมีการทุจริตการเงินเป็นต้น
“กฎหมายฉบับนี้เข้าไปอยู่ในขึ้นตอนสุดท้ายของการเสนอกฎหมายแล้ว รัฐบาลเปลี่ยนแต่กฎหมายยังคงอยู่ และอยู่ในรัฐสภา มีกฎหมายที่เร่งด่วนกว่าถูกหยิบมาพิจารณาก่อนเสมอ ทั้งที่กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้มีอภินิหารไปจัดการหรือบังคับให้หน่วยงานไหนต้องทำอะไร เพียงแต่กฎหมายนี้ไปเป็นผู้ช่วยให้กับประชาชน แต่ก็สงสัยว่าทำไมถึงไม่ยอมผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้ออกมา ก่อนปิดสมัยประชุมอยากเห็นการตั้งคณะกรรมการร่วมในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้” นายไพโรจน์ กล่าว
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่าในสมาคมอาเซียนมีการสนับสนุนให้เกิดร่างองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค อย่างประเทศอินโดนีเซีย สามารถเรียกคืนสินค้าที่ไม่มีคู่มือจากท้องตลาด ถือเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
“การผลักดันกฎหมายฉบับนี้ประชาชนมีการเข้าชื่อ 50,000 ชื่อ เสนอกฎหมายกันตั้งแต่ รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 จนมาถึงรัฐธรรมนูญปัจจุบัน เป็นการต่อสู้ที่ยาวนาน ซึ่งในสภาผู้แทนฯ เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2554 มีมติเห็นชอบด้วยเสียง 301 ต่อ 2 เสียง แต่กฎหมายก็ยังไม่ยอมผ่านร่างกฎหมาย เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคก็พยายามผลักดันกฎหมายโดยการยื่นหนังสือถึง สส.ในจังหวัดเพื่อให้เข้าไปช่วยผลักดันกฎหมาย แต่สุดท้ายขณะนี้รัฐสภาได้ขยายเวลาในการพิจารณากฎหมายออกไปอีก”
นอกจากนี้ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคยังเรียกร้องให้สภาที่ปรึกษาฯ เร่งทำความเห็นต่อรัฐบาล ให้เร่งรัดการดำเนินการผลักดันองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคตามรัฐธรรมนูญที่ล่าช้ามากว่า 14 ปี อีกทั้งสนับสนุนให้เกิดกลไกรับฟังความคิดเห็นในการกำหนดนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ทั้งเรื่องราคาก๊าซที่ ปตท.ขายแพง ระบบ 3G ที่ไม่มีคุณภาพ และสนับสนุนการปฏิบัติการจำลองขององค์กรผู้บริโภค
“เรายังไม่ถอย ในภาคประชนเองก็จะเดินหน้าสร้างระบบบริหารจัดการเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคในรูปแบบขององค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งจะเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้กับประชาชนเข้าใจถึงกฎหมายฉบับนี้ รวมทั้งจะทำจดหมายถึงผู้ตรวจการแผ่นดินให้ติดตามรัฐธรรมนูญของนายกรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฏร ถึงแม้การเดินทางจะอีกยาวไกลก็จะยังเดินหน้าองค์การอิสระฯ” นางสาวสารี กล่าว