มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค(มพบ.) ร่วมกับเครือข่ายผู้บริโภคใน 6 ภูมิภาคคือ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ ร่วมแถลงข่าว “รายงานสถานการณ์ความทุกข์ของผู้บริโภคประจำปี 2554” ประกาศย้ำองค์การอิสระผู้บริโภคคือคำตอบของประชาชน พร้อมทั้งฝากการบ้านกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับปรุง พัฒนากฎหมายให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน รวมทั้งการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง
วันนี้ (21 ธันวาคม 2554) ที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา หัวหน้าศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 6 ภูมิภาค ร่วมแถลงข่าว“รายงานสถานการณ์ความทุกข์ของผู้บริโภคประจำปี 2554”พร้อมยื่นข้อเสนอกับภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภคไทย
โดยนายอิฐบูรณ์กล่าวว่า จากการรับเรื่องร้องเรียนในช่วงปี 2554 ของมูลนิธิฯพบว่ามีเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 895 กรณี และมีการร้องเรียนผ่านเครือข่ายผู้บริโภคในส่วนภูมิภาคอีกจำนวนหนึ่ง สามารถแบ่งกลุ่มปัญหาของผู้บริโภคได้ 7 ด้าน
“ ด้านที่หนึ่ง คือด้านการเงินการธนาคาร ปัญหาที่พบเช่น ใบแจ้งหนี้ของบัตรเครดิตบางบริษัทมีรายละเอียดเป็นภาษาอังกฤษเท่านั้นและไม่แสดงรายละเอียดค่าใช้จ่ายที่จะสามารถตรวจสอบได้ ผู้บริโภคถูกเชิญชวนกึ่งบังคับให้ทำประกันแบบคุ้มครองหนี้สินแล้วไม่มีสินไหมตอบแทน การล่อหลอกให้ผ่อนชำระเงินหนี้บัตรเครดิตในอัตราขั้นต่ำทำให้ผู้บริโภคต้องแบกรับภาระค่าธรรมเนียมและดอกเบี้ยในอัตราที่สูงลิบลิ่ว การเชิญชวนให้ร่วมโครงการพักชำระหนี้ในช่วงอุทกภัยโดยที่ไม่มีการหยุดพักเงินต้นและดอกเบี้ยที่แท้จริง นอกจากนี้ยังพบปัญหาด้านอสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะการทำสัญญาจะซื้อจระขาย บ้านและที้ดินที่ล่อผู้บริโภคด้วยเงินดาวน์ต่ำแต่คุณภาพการก่อสร้างก็ต่ำด้วยเช่นกัน ”
นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสาน ได้กล่าวถึงปัญหาของผู้บริโภคด้านสินค้าและบริการว่า “พบการบ่ายเบี่ยง ประวิงเวลาของบริษัทประกันภัย ทั้งประกันภัยรถยนต์ ประกันชีวิต และประกันวินาศภัย และมีการปฏิเสธการจ่ายค่าสินไหมโดยอ้างว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นไม่เข้าเงื่อนไขการรับประกันภัย ทำให้ผู้บริโภคต้องใช้วิธีการฟ้องร้องแทน ซึ่งปัญหาในด้านประกันภัยนี้ทางเครือข่ายผู้บริโภคเห็นว่าจะเป็นปัญหาน่าจับตาเฝ้าระวังเพราะอาจเป็นมวลปัญหาก้อนใหญ่ที่ลุกลามต่อเนื่องไปถึงปี 2555 จากปัญหาไม่ชดเชยความเสียหายกรณีมหาอุทกภัย
รวมทั้งความเสียหายที่เกิดจากการซื้อหรือใช้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพ ชำรุดบกพร่อง อาทิ ซื้อรถใหม่ป้ายแดง แล้วเกิดความเสียหายบริษัทไม่ยอมเปลี่ยนสินค้าใหม่ให้ ใช้วิธีการซ่อมแซมไปเรื่อยๆ หากต้องการเรียกร้องค่าเสียหายก็ต้องใช้กระบวนการทางศาลในการต่อรอง”
นายพงษภัทร หงส์สุขสวัสดิ์ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ภาคตะวันตก กล่าวถึงปัญหาด้านสื่อและโทรคมนาคมว่า มีโฆษณาผิดกฎหมายจำนวนมากในสื่อต่างๆโดยเฉพาะโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพโดยใช้ช่องว่างของกฎหมายที่มีบทลงโทษที่ต่ำ ด้วยการโฆษณาโดยไม่ขออนุญาต มีการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงเป็นเท็จผ่านทางสื่อวิทยุ โทรทัศน์ อินเตอร์เน็ต เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม ป้ายโฆษณา และที่พบมากในขณะนี้คือ โฆษณาเครื่องดื่มผสมกาเฟอีนที่ใช้รูปแบบโฆษณาผิดกฎหมาย แถมพก ชิงโชคชิงรางวัล
“ในส่วนด้านโทรศัพท์มือถือที่พบมากคือ มีการยัดเยียดบริการเสริม และปฏิเสธการเลิกใช้บริการได้ยากทำให้ผู้บริโภคเสียค่าใช้จ่ายสูง และปัญหาใหญ่ที่ยังไม่ได้รับการแก้ไขคือการกำหนดวันหมดอายุของบัตรเติมเงิน” นายพงษภัทร กล่าว
นายสวัสดิ์ คำฟู ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค ภาคเหนือ กล่าวถึงปัญหาด้านบริการสุขภาพและสาธารณสุข ว่า ปัญหาการใช้บริการบัตรทองยังคงเป็นอันดับต้นๆของเรื่องร้องเรียนในกลุ่มนี้ เช่น เครือข่ายหน่วยบริการในระบบบัตรทองที่มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงพยาบาลเอกชนไม่ให้ความสำคัญต่อระบบหลักประกันสุขภาพด้วยการไม่กระจายเงินให้กับเครือข่ายหน่วยบริการของตนเองทำให้หน่วยบริการไม่เกิดประสิทธิภาพในการให้บริการ และมีการโยกย้ายสิทธิของผู้ใช้บริการโดยไม่แจ้งให้ทราบ ในขณะที่หน่วยบริการของรัฐมักพบปัญหาการวินิจฉัยและการตรวจรักษาที่ผิดพลาด
นายกำชัย น้อยบรรจง ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ภาคกลาง กล่าวถึงปัญหาด้านบริการสาธารณะว่า ในช่วงอุทกภัยที่ผ่านมายังมีความวิตกของประชาชนในเรื่องค่าน้ำค่าไฟ ที่สูงเกินจริง ตรวจสอบไม่ได้ ได้ได้พยายามทักท้วงแต่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที นอกจากนี้บริการรถโดยสารสาธารณะยังพบว่าเกิดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องทั้งปี โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของอุบัติเหตุมาจากพนักงานขับรถหลับใน ไม่ชำนาญเส้นทาง และจากคุณภาพของตัวรถโดยสารเอง
นางสาวบารีย๊ะ ยาดำ ตัวแทนเครือข่ายผู้บริโภค ภาคใต้ กล่าวถึง ปัญหาด้านการบริโภคผลิตภัณฑ์อาหารของประชาชน โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ พบว่ามีการจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารที่หมดอายุแล้วในห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ทั้งยังพบปัญหาความไม่ชัดเจนของการแสดงฉลากสินค้า เช่นวันที่ผลิต หมดอายุ อยู่ในตำแหน่งที่อ่านยาก เอกสารกำกับไม่เป็นภาษาไทย
นางสาวสวนีย์ ฉ่ำเฉลียว เจ้าหน้าที่ศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค กล่าวถึง การคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคด้วยการฟ้องเป็นคดีทั้งคดีแพ่งสามัญ คดีอาญา และคดีผู้บริโภคผ่านคดีอุบัติเหตุรถโดยสารโดยมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและศูนย์ทนายความอาสาได้ช่วยเหลือในการฟ้องคดีทั้งสิ้น 124 คดี ผลคดีสิ้นสุดแล้ว 108 คดี สามารถเรียกค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายได้ทั้งสิ้น 27,244,803.39 บาท
เพราะปัญหา ความทุกข์ ของผู้บริโภคที่มาแบบสูตรสำเร็จเช่นนี้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องอาจไม่สามารถคุ้มครองผู้บริโภคได้ทั้งหมด
จากปัญหาต่างๆที่พบ นายอิฐบูรณ์ ได้กล่าวถึงข้อเรียกร้องที่เครือข่ายผู้บริโภคเห็นพ้องร่วมกันต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังนี้
ประการที่ 1 ผู้บริโภคจะต้องมีข้อมูลให้เท่าทันกับสถานการณ์ เพื่อใช้รับมือ รวมทั้งเป็นเกราะป้องกันตัวจากการถูกเอารัดเอาเปรียบ คือองค์กรอิสระผู้บริโภคในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 61 คือหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการเผยแพร่ข้อมูล ให้ความเห็น รวมทั้งเสนอแนะแนวทางในการหาทางออกให้กับผู้บริโภคได้ หากเกิดองค์การอิสระก็จะเป็นคำตอบสำหรับผู้บริโภคได้
ประการที่ 2 กฎหมายและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคฉบับอื่นๆก็ต้องเกิดขึ้นด้วย ทั้งพรบ.คุ้มครองผู้เสียหาย และพ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ ตลอดจนการปรับปรุงพัฒนากฎหมายและนโยบายที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัญหาผู้บริโภคในปัจจุบัน เช่น กฎหมายที่เกี่ยวกับอาหารและยา ต้องเพิ่มบทลงโทษกับผู้กระทำความผิดให้หนักขึ้น กฎหมายประกันสังคมและนโยบายด้านสาธารณสุข เพื่อให้มีระบบสุขภาพมาตรฐานเดียว โดยไม่เก็บ ๓๐ บาทในระบบบัตรทอง / ให้กระทรวงสาธารณสุขกำหนดราคากลางบริการสุขภาพทั้ง ๓ กองทุน เป็นต้น
ประการที่ 3 ต้องบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่อย่างจริงจัง และให้เกิดประสิทธิภาพเช่น กฎหมายด้านจราจร ด้านขนส่งที่ควบคุมด้านการใช้ความเร็ว เข็มขัดนิรภัย การควบคุมพนักงานขับรถโดยสารเป็นต้น
{gallery}action/541221_action{/gallery}