เครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานตอนบน เตรียมยื่นหนังสือถึง สส..ในจังหวัดเพื่อขอให้สนับสนุนการออก กฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและยุบพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.๒๕๓๕
เมื่อวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๔๕ ณ โรงแรมนภาลัย อ.เมือง จ.อุดรธานี แกนนำเครือข่ายผู้บริโภคภาคอีสานตอนบน จำนวน ๕๐ คน จาก ๗ จังหวัด ประกอบด้วยจังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู ชัยภูมิ กาฬสินธุ์ สกลนคร และขอนแก่น จัดเวทีเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ…ที่ได้ผ่านการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรทั้ง ๓ วาระในการประชุมเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๔ และส่งต่อไปยังวุฒิสภา แต่รัฐบาลได้ประกาศยุบสภาเมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๕๔ ทำให้การพิจารณากฎหมายของวุฒิสภาต้องหยุดชะงักไป เมื่อมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ร่างกฎหมายฉบับนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลอีกครั้ง หนึ่งภายใน ๖๐ วัน หลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาล วุฒิสภาจึงจะสามารถพิจารณาร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคนี้ต่อไปได้ หลังจากที่รอคอยกันมานานถึง ๑๔ ปี ซึ่งทางแกนนำในแต่ละจังหวัดก็จะทำหนังสือถึงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในจังหวัดของตนเอง โดยเฉพาะพรรคเพื่อไทยที่เป็นรัฐบาลได้มีการสนับสนุนและพิจารณากฎหมายฉบับนี้ให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
นางประคำ ศรีสมชัย ผู้ประสานงานเครือข่ายผู้บริโภคจังหวัดกาฬสินธุ์ กล่าวว่าในส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์จะมีการยื่นหนังสือถึงท่าน สส.บุญรื่น ศรีธเรศ พรรคเพื่อไทยเพื่อให้ช่วยสนับสนุนการออกกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งเป็นกฎหมายที่เป็นประโยชน์กับประชาชน และให้ความสำคัญกับการทำงานด้านการคุ้มครองผู้บริโภค ในขณะนี้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ถูกละเมิดสิทธิอยู่ตลอดเวลา ถึงเวลาแล้วที่จะมีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในการทำหน้าที่ให้ความเห็น การพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตราและบังคับใช้กฎหมาย ดำเนินการและสนับสนุนการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นจริง หรือแจ้งหรือโฆษณาข่าวสารเกี่ยวกับสินค้าหรือบริการที่อาจก่อให้เกิดความเสียหาย เช่นการโฆษณาสินค้าเพื่อสุขภาพทางวิทยุชุมชนทำให้คนในชุมชนหลงเชื่อว่าเป็นยารักษาสารพัดโรค
นอกจากนี้ นายปฏิวัติ เฉลิมชาติ ผู้ประสานงานในงานจัดงานวันนี้ ยังกล่าวถึงเวทีในวันนี้ว่า แกนนำเครือข่ายผู้บริโภคยังพิจารณาถึงการขับเคลื่อน พ.ร.บ.กองทุนสินไหมทดแทนผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ…เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เครือข่ายผู้บริโภคขับเคลื่อนกันมาในระยะหนึ่งแต่ไม่ได้รับการพิจารณาจากรัฐบาล ซึ่งการรักษาพยาบาลจกกองทุนผู้ประสบภัยจากรถไม่มีความจำเป็นในปัจจุบันเพราะประชาชนทุกคนมีระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น สิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ดังนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ.๒๕๓๕ ควรที่จะยกเลิกไปตามสถานการณ์ทางสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติต่อไป และแกนนำเครือข่ายผู้บริโภคในแต่ละจังหวัดก็จะนำไปเป็นประเด็นขับเคลื่อนร่วมกับภาคีเครือข่ายในจังหวัดรวมถึงเสนอให้รัฐบาลชุดใหม่ได้พิจารณาอีกครั้ง ถ้าหากผู้บริโภคท่านใดสนใจหรือสนับสนุนการทำงานหรือร้องเรียนปัญหาจากหารใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบจากรถ พศ.๒๕๓๕ สามารถประสานงานได้ที่เบอร์โทรศัพท์มือถือ ๐๘๕-๑๐๐๒๗๗๗ ในวันเวลาราชการ