ผู้บริโภคยื่น 12,000 รายชื่อ เสนอ กม.องค์การอิสระผู้บริโภคต่อประธานรัฐสภา

เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคฟันธง...ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของรัฐบาลไม่อิสระจริง เดินหน้า ยื่น 12,000 รายชื่อเสนอกฎหมายฉบับของประชาชนต่อประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีที่กำกับดูแลสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อนำไปพิจารณาผลักดันให้เป็นกฎหมายของประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง

วันนี้(19 ก.พ.2552) เวลาประมาณ 10.00 น. ที่บริเวณโถงชั้นล่าง อาคารรัฐสภา 1 นางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค พร้อมตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค จากภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก เครือข่ายผู้เสียหายทางการแพทย์ กลุ่มคนคอนโด ชมรมเพื่อนโรคไต ชมรมหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล เครือข่ายผู้เดือดร้อนจากปัญหาที่อยู่อาศัย มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสหพันธ์องค์กรผู้บริโภค รวมจำนวน 120 คน ได้เดินทางมาเข้าพบนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา และ นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นรายชื่อของประชาชนจำนวน 12,208 รายชื่อเพื่อเสนอ(ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระผู้บริโภค พ.ศ.....ฉบับของภาคประชาชน

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า จากการที่รัฐธรรมนูญของราชอาณาจักรไทยตั้งแต่ฉบับปี 2540 จนถึงฉบับปัจจุบันในมาตรา 61 ที่ได้บัญญัติให้มีองค์การคุ้มครองผู้บริโภคที่เป็นอิสระจากหน่วยงานของรัฐซึ่งประกอบด้วยตัวแทนผู้บริโภค ทำหน้าที่ให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาของหน่วยงานของรัฐในการตรา และการบังคับใช้กฎหมายและกฎ และให้ความเห็นในการกำหนดมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ทั้งนี้ ให้รัฐสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการขององค์การอิสระนี้ด้วย ซึ่งขณะนี้มี (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคของรัฐบาลอยู่อีก 1 ฉบับ ซึ่งนำเสนอโดยสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค(สคบ.) และอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคได้จัดประชุมพิจารณาสาระกฎหมายของรัฐบาลเปรียบเทียบกับร่างฉบับประชาชนไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีหลายประเด็นที่แตกต่างกัน เช่น ร่างกฎหมายของรัฐบาลไม่ได้ให้คณะกรรมการองค์การอิสระทำงานอย่างเต็มที่เต็มเวลา แต่เน้นความสำคัญไปที่ผู้อำนวยการสำนักงานที่จะเป็นผู้ชงเรื่องส่งขึ้นไปให้คณะกรรมการพิจารณา ซึ่งรูปแบบเช่นนี้ไม่ต่างจากโครงสร้างการทำงานของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคกับสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ที่ยังไม่สามารถทำงานเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคในปัญหาที่หลากหลายได้อย่างเต็มที่มีประสิทธิภาพเท่าใดนัก ในขณะที่ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของภาคประชาชนนั้นจะให้ความสำคัญกับคณะกรรมการองค์การอิสระฯ โดยให้ทำงานในลักษณะเต็มเวลา และให้มีเลขาธิการสำนักงาน ทำหน้าที่เป็นเพียงเลขานุการของคณะกรรมการและบริหารกิจการในสำนักงานเท่านั้น ส่วนอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการในฉบับของภาคประชาชนนั้นจะเขียนอย่างชัดเจนที่จะให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดองค์กรผู้บริโภคขึ้นอย่างน้อยในทุกจังหวัด และที่สำคัญคือการสนับสนุนการใช้มาตรการทางกฎหมายเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค รวมทั้งการฟ้องแทนผู้บริโภคเพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งร่างของรัฐบาลไม่มีในส่วนนี้หรือการไม่ไม่ได้เขียนอย่างชัดเจนว่างบที่รัฐบาลจะส่งเสริมสนับสนุนเพื่อการดำเนินการขององค์การอิสระนั้นจะเป็นจำนวนเท่าไหร่ ปล่อยให้เป็นดุลยพินิจของรัฐบาล ซึ่งตรงนี้อาจจะเป็นจุดหนึ่งที่จะทำให้องค์การอิสระผู้บริโภคไม่อิสระอย่างแท้จริงเพราะถูกควบคุมกำกับด้วยงบประมาณ ในขณะที่ร่างกฎหมายของประชาชนนั้นจะกำหนดชัดเจนว่ารัฐจะต้องจัดสรรงบประมาณไม่น้อยกว่า 5 บาทต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศต่อปี หรือตกปีละ 300-400 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นงบประมาณที่ไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับการกระจายงบของรัฐบาลตามโครงการต่าง ๆ ในปัจจุบัน

 


น.ส.สารี อ๋องสมหวัง มอบรายชื่อ 12,208 รายชื่อ ต่อ นายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา

 

นอกจากนั้นนางสาวสารี คาดหวังว่า กฎหมายฉบับนี้ จะช่วยให้ประชาชนผู้บริโภคมีที่ปรึกษา เป็นจุดให้บริการแบบเบ็ดเสร็จสำหรับผู้บริโภค ทำงานเชิงรุกไม่ตามแก้ปัญหา เป็นกระบอกเสียงให้กับผู้บริโภคในการให้ความเห็นต่อการดำเนินการทั้งที่เป็นประโยชน์และเกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค เช่น การออกประกาศวัตถุอันตราย ที่เป็นสมุนไพร ๑๓ รายการ การออกกฎกระทรวงยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ที่ผลิตและใช้โดยผู้ประกอบวิชาชีพไม่เป็นสินค้าที่ไม่ปลอดภัย ตามพระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. ๒๕๕๑ โดยไม่มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้บริโภคว่าคิดเห็นอย่างไรไม่น่าจะกระทำได้

“พวกเราเล็งเห็นว่าหากปล่อยให้ร่างกฎหมายองค์การอิสระผู้บริโภคของรัฐบาลถูกนำมาบังคับใช้ในอนาคต เราก็อาจเห็นคณะกรรมการองค์การอิสระผู้บริโภค เป็นเพียงแค่คณะอนุกรรมการชุดหนึ่งเท่านั้นของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคที่ดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์ที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไว้ เครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจึงได้ช่วยกันรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายที่เป็นร่างของประชาชน โดยสามารถรวบรวมรายชื่อได้ทั้งหมด 12,208 รายชื่อ ซึ่งได้ยื่นให้ท่านประธานรัฐสภาและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกที่ดูแลรับผิดชอบงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคได้นำไปเข้าสู่กระบวนการพิจารณากฎหมายต่อไป และหวังว่าร่างกฎหมายองค์การอิสระของภาคประชาชนจะถูกบังคับใช้ในรัฐบาลสมัยนี้” นางสาวสารีกล่าว

สนใจข้อมูลเพิ่มเติม
สารี อ๋องสมหวัง ๐๘๑-๖๖๘๕๒๔๐

ภาพบรรยากาศ






พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน