เปิด (ร่าง) กฎเหล็กสื่อ "โซเชียล มีเดีย"

ก่อนหน้านี้ มีคนพูดถึงมารยาทของการใช้อินเทอร์เน็ต หลายสถาบัน หลายความเห็น ต่างบัญญัติกฎเหล็ก รวมไปถึงมารยาทการใช้ที่เหมือนจะตีกรอบใช้งาน ที่ไม่ไปกระทบสิทธิของผู้อื่น ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เมื่อ "สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุโทรทัศน์ไทย และชมรมนักข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีพีซี)" ได้ร่วมระดมสมองบัญญัติกฎเกณฑ์การใช้ "โซเชียล เน็ตเวิร์ค" โดยเฉพาะ "ทวิตเตอร์" และ "เฟซบุ๊ค" รวมถึงสื่อสังคมออนไลน์ ที่กำลังมีอิทธิพลต่อความเชื่อของคนในสังคม "มากกว่า" สื่อกระแสหลัก

นั่นอาจเป็นเพราะวันนี้บนโลกของโซเชียล มีเดีย มีทั้งสื่อ "ตัวจริง" และ "ตัวปลอม" เข้าไปใช้เครื่องมือที่ว่า สื่อสารข้อมูลไปยังสาธารณะกันมากขึ้น ข่าวลือ ข่าวปล่อย ข่าวที่สร้างความเสียหายจึงเริ่มมีให้เห็น เป็นที่มาให้องค์กรวิชาชีพด้านสื่อจำเป็นต้องลุกขึ้นมาร่างแนวทางปฏิบัติ เพื่อการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของบรรดา "สื่อตัวจริง" ให้ดูมีน้ำหนัก และเป็นมืออาชีพมากขึ้น

"แนวปฏิบัติ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย เรื่อง การใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน พ.ศ. 2553"

เนื่องด้วยในสถานการณ์ปัจจุบัน สื่อมวลชนแขนงต่างๆ ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และเว็บไซต์ข่าวสารต่างๆ ได้เข้าไปใช้ประโยชน์จากการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) ทั้งในด้านการรวบรวมข้อมูลข่าวสาร การนำเสนอ และการแสดงความคิดเห็น หรือการเผยแพร่การทำงานขององค์กรข่าว ซึ่งมีทั้งการใช้ประโยชน์ในระดับองค์กร ตัวบุคคล และผสมผสานเป็นจำนวนมาก จึงควรมีแนวปฏิบัติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชนให้เป็นไปในทาง สร้างสรรค์

องค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนจึงมอบหมายให้ไอทีพีซี เป็นผู้ประสานการยกร่างแนวปฏิบัติ โดยมีตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ ได้แก่ สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ชมรมผู้ผลิตข่าวออนไลน์ ชมรมไอทีพีซี นักวิชาการด้านนิเทศศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายและเทคโนโลยีสารสนเทศ ร่วมกันยกร่างและรับฟังความคิดเห็นจากผู้เกี่ยวข้อง จึงกำหนดเป็นแนวปฏิบัติในการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของสื่อมวลชน ณ ที่นี้ ขอนำบางส่วนของร่างมาให้พิจารณา แบ่งตามหมวดที่จัดไว้

บททั่วไป

ตามหมวด 1 กำหนดแนวปฏิบัติว่า ‘สื่อสังคมออนไลน์’ หมายถึง ช่องทางในการสื่อสารผ่านเว็บไซต์ที่เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถสร้างสรรค์ เนื้อหาได้ด้วยตนเอง อาทิเช่น twitter.com, facebook.com, youtube.com และ weblog ต่างๆ เป็นต้น

‘องค์กรสื่อมวลชน’ หมายถึง องค์กรสมาชิกสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และองค์กรสมาชิกสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ‘ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน’ หมายถึง ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ตามธรรมนูญสภาการหนังสือแห่งชาติ พ.ศ. 2540 ผู้ประกอบวิชาชีพข่าว และผู้ปฏิบัติงานข่าววิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ตามธรรมนูญ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย พ.ศ. 2552

แนวปฏิบัติการใช้สื่อสังคม

การใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ขององค์กร สื่อมวลชนในการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและการแสดงความคิดเห็นพึงยึดมั่นกรอบ จริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทยอย่างเคร่งครัด

การนำเสนอข่าวโดยการใช้สื่อสังคมออนไลน์ของ องค์กรสื่อมวลชน ควรมีหลักในการอ้างอิงถึงองค์กรสื่อมวลชน คือ ชื่อองค์กรสื่อมวลชนที่เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร รายละเอียด สัญลักษณ์ หรือชื่อย่อ ที่แสดงถึงองค์กรสื่อมวลชนมาตรการทางเทคนิคที่ยืนยันถึงสถานะและความมีตัวตน ขององค์กรสื่อมวลชน ชื่อตัวแทนองค์กรสื่อมวลชนที่นำเสนอข่าวสาร (ถ้ามี)

การนำเสนอข้อมูลข่าวสารขององค์กรสื่อมวลชนผ่าน สื่อสังคมออนไลน์ ควรเป็นไปตามข้อบังคับจริยธรรม หลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติขององค์กรที่กำกับดูแลตามที่ระบุไว้ในหมวดหนึ่ง และต้องไม่เป็นการสร้างความเกลียดชังระหว่างคนในชาติ จนอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและเสียหายรุนแรงขึ้นในสังคม

องค์กรสื่อมวลชนต้องให้ความเคารพและยอมรับ ข้อมูลข่าวสารหรือภาพข่าวที่ผลิตโดยบุคคลอื่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์การคัดลอก เลียน ข้อความใดๆ จากสื่อสังคมออนไลน์พึงได้รับการอนุญาตจากเจ้าของข้อความนั้นๆ ตามแต่กรณี

รายงานด้วยความระมัดระวัง

การนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน อาจแบ่งได้เป็น

กรณีใช้ชื่อบัญชีผู้ใช้งาน (useraccount) ที่ระบุถึงต้นสังกัด ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนพึงใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติตามข้อบังคับ จริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะความถูกต้อง สมดุล และการใช้ภาษาที่เหมาะสม

กรณีใช้ชื่อบัญชีผู้ใช้งานที่ระบุถึงตัวตนอัน อาจทำให้ผู้ติดตาม (followers) หรือเพื่อนในเครือข่าย (friends) เข้าใจได้ว่าเป็นผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ผู้ใช้งานพึงระมัดระวังการนำเสนอข้อมูลข่าวและการแสดงความคิดเห็นที่อาจนำไป สู่การละเมิดจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเช่นเดียวกัน

การรายงานข้อมูลข่าวสารบนสื่อสังคมออนไลน์ ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนพึงแยก ‘ข่าว’ กับ ‘ความเห็น’ ออกจากกันอย่างชัดเจน และพึงระวังการย่อความที่ทำให้ข้อความนั้นบิดเบือนไปจากข้อเท็จจริง

ผู้ประกอบวิชาชาชีพสื่อมวลชนพึงตระหนักว่า พื้นที่บนสื่อสังคมออนไลน์เป็นพื้นที่สาธารณะ ข้อมูลที่รายงานจะถูกบันทึกไว้และมีผลทางกฎหมายได้ การรวบรวมข้อมูลข่าวสาร การนำเสนอ และการแสดงความคิดเห็น ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน พึงระวังการละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

หากการนำเสนอข้อมูลข่าวสารหรือการแสดงความคิด เห็นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเกิดความผิดพลาด จนก่อให้เกิดความเสียหายต่อบุคคล หรือองค์กรอื่น ต้องแก้ไขข้อความที่มีปัญหาโดยทันที พร้อมทั้งแสดงถ้อยคำขอโทษต่อบุคคล หรือองค์กรที่ได้รับความเสียหาย และต้องให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายมีโอกาสชี้แจงข้อมูลข่าวสารในด้านของตน ด้วย

หลังจากเปิดรับฟังจากบรรดาสื่อด้วยกันเอง และคนในสื่อสังคมออนไลน์ ร่างดังกล่าวนี้กำลังเรียบเรียงใหม่อีกครั้ง จากนั้นสภาวิชาชีพจะกระจายร่างนี้ไปยังองค์กรสื่อต่างๆ หากไม่มีใครคัดค้าน ก็คาดว่า อีกไม่นาน สื่อมวลชนไทยจะได้มีแนวทางในการใช้โซเชียล มีเดีย ที่เหมาะสม และเป็นมืออาชีพมากขึ้น

ข้อมูลจาก นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 20/10/53

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน