นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า ตนได้นำ พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าที่ไม่ปลอดภัย เข้าหารือในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีถึงกระทบที่อาจเกิดขึ้นภายหลังกฎหมายบังคับใช้ โดยขอให้มีการออกประกาศกฎกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ยกเว้นกรณีการใช้ยาและเวชภัณฑ์โดยแพทย์และพยาบาล เนื่องจากจะก่อให้เกิดปัญหาการให้บริการทางการแพทย์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการได้
เนื่องจากแพทย์และพยาบาลจำเป็นต้องผสมยาเพื่อฉีดให้กับผู้ป่วย ตลอดจนการสั่งจ่ายยาเพื่อรักษาโรคและความเจ็บป่วย หากคำว่าสินค้าครอบคลุมการบริการของแพทย์ พยาบาล อาจทำให้แพทย์พยาบาลไม่กล้าฉีดหรือสั่งจ่ายยา เพราะเกรงถูกฟ้องร้องดำเนินคดีภายหลังได้
นายวิทยา กล่าวว่า จากเนื้อหากฎหมายดังกล่าว ทางกลุ่มวิชาชีพแพทย์เชื่อว่า จะเป็นการเพิ่มปัญหาความขัดแย้งระหว่างแพทย์และผู้ป่วยมากขึ้น เนื่องจากต่างฝ่ายจะเกิดความระแวง ส่งผลให้มีการฟ้องร้องมากขึ้น หากเป็นเช่นนั้นจะสวนทางกับนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่มีเป้าหมายในการสร้างสัมพันธ์อันดีระหว่างแพทย์และผู้ป่วย และการลดความขัดแย้งจากการรักษา
นอกจากนี้การควบคุมการใช้ยา หรือผลกระทบที่เกิดจากยา ไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายนี้ควบคุม เนื่องจากเรามีกฎหมายที่ควบคุมเฉพาะในเรื่องของยาอยู่แล้ว ที่เป็นการคุ้มครองผู้บริโภค
“การหารือใน ครม.เกี่ยวกับกฎหมายฉบับนี้ ทุกคนในที่ประชุมต่างเห็นด้วย ในการออกประกาศยกเว้น ไม่มีใครคัดค้าน รวมทั้ง นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเห็นชอบ และให้กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ ซึ่งขั้นตอนจากนี้คงต้องนำร่างประกาศส่งให้ทางกฤษฎีกาตีความก่อน หากเห็นชอบตามที่กระทรวงเสนอไปก็สามารถออกประกาศได้เลย” รมว.สาธารณสุข กล่าว
นายวิทยา กล่าวต่อว่า สำหรับเนื้อหาประกาศฉบับนี้จะให้ยกเว้นให้แพทย์ พยาบาล ผสมยาเพื่อใช้ฉีดรักษาให้กับผู้ป่วยได้ รวมถึงสัตวแพทย์ที่รักษาสัตว์ แต่ไม่รวมถึงการผลิตยาที่ไม่มีคุณภาพ เพราะไม่ว่าอย่างไรแล้ว หากยาที่ผลิตมีปัญหา ผู้ประกอบการจะต้องรับผิดชอบ จึงเป็นประกาศกฎกระทรวงที่ยกเว้นแค่เรื่องการให้การรักษา ไม่เกี่ยวกับการผลิตยา
ขณะที่แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า ขณะนี้มีแพทย์กลุ่มหนึ่งกำลังใช้ข้ออ้างว่า จะมีการฟ้องร้องมากขึ้นจาก พ.ร.บ.ความรับผิดต่อสินค้าไม่ปลอดภัย หรือ กฎหมายพีแอล กล่อมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยเสนอให้ยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ ให้อยู่นอกเหนือการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว
ทั้งที่แท้จริงแล้ว กฎหมายนี้จะเป็นประโยชน์ในเชิงป้องกันให้ทุกฝ่ายยกระดับมาตรฐาน การผลิตสินค้า การออกแบบ และการให้ข้อมูลผู้บริโภคอย่างระมัดระวังก่อนขายสินค้า โดยไม่รวมบริการเมื่อเกิดความเสียหายขึ้น
อย่างไรก็ตามขณะนี้ เครือข่ายผู้บริโภคและเครือข่ายผู้ป่วยเตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อตอกย้ำท่าทีที่ไม่เห็นด้วยต่อการยกเว้นเรื่องยาและเครื่องมือแพทย์ โดยเห็นว่าการคุ้มครองต้องไม่ยกเว้นยาและเครื่องมือแพทย์ เพราะผู้ประกอบวิชาชีพต้องมีความรับผิดชอบ หากเกิดความเสียหาย
ด้านนายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบ เพราะแม้ว่าจะยกเว้นกรณีการใช้ยาของแพทย์และพยาบาล แต่หากมีผลเกิดขึ้นจากการรักษาที่เกิดจากการใช้ยาแล้ว เมื่อแพทย์พยาบาลไม่ต้องรับผิดชอบตรงนี้ อยากถามว่า บริษัทยาจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบหรือไม่ เพราะในความเป็นจริงแล้ว ยายังเป็นสินค้าที่อันตรายและมีผลข้างเคียง โดยก่อนที่จะผลิตก็ได้ทำการวิจัยความปลอดภัย แต่เมื่อนำไปใช้กับผู้ป่วยก็ยังต้องติดตามผลข้างเคียงจากการใช้ยาอยู่ และที่ผ่านก็มียาบางรายการถูกประกาศยกเลิกจำหน่ายและใช้ไป ดังนั้นหากจะบอกว่ายกเว้นในเรื่องการใช้ยาควรมีระบุให้ชัดเจนว่า บริษัทยาจะต้องเข้ามามีส่วนรับผิดชอบมากน้อยแค่ไหน เพราะไม่เช่นนั้นเมื่อมีความเสียหายจากการใช้ยาเกิดขึ้นก็จะไม่มีผู้ใดรับผิดชอบเลย ดังนั้นทางเครือข่ายผู้ป่วยและเครือข่ายผู้บริโภคจะหารือและเข้าพบ รมว.สาธารณสุขเพื่อดูเนื้อหาในร่างประกาศกฎกระทรวงนี้โดยเร็วที่สุด
นสพ.กรุงเทพธุรกิจ 18-2-52