ศาลชี้กม.ใหม่ ไม่เอื้อเอกชน ฟ้องผู้บริโภค

 
ศาลยืนยันกฎหมายผู้บริโภคไม่ได้เอื้อผู้ประกอบการฟ้องประชาชนเพิ่มขึ้น

 

สราวุธ เบญจกุล
นายสราวุธ เบญจกุล รองเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า ทางสำนักงานอยู่ระหว่างรวบรวมสถิติและสภาพปัญหาเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้รอบคอบมากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าสถิติการฟ้องร้องคดีที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้บริโภคมากขึ้น เพราะเป็นการใช้ช่องว่างของพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค แต่เป็นคดีที่มีการฟ้องร้องศาลแพ่งอยู่ตามปกติ

ทั้งนี้ เพียงแต่ปัจจุบันศาลได้ใช้พ.ร.บ. ฉบับใหม่นี้ในการตัดสินคดี จากเดิมที่ศาลใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตัดสิน ตัวเลข ที่มีผู้ประกอบการฟ้องคดี 96% ผู้บริโภคฟ้อง 4% ที่ดูมากนั้นเป็นคดีแพ่งปกติที่เคยฟ้องกันอยู่ในศาลแพ่ง เช่น คดีบัตรเครดิตที่ผู้ประกอบการฟ้องผู้ถือบัตร ซึ่งถือเป็นผู้บริโภค ศาลแพ่งก็ใช้กฎหมายใหม่มาตัดสินคดีแทนกฎหมายเดิมเท่านั้น

“ไม่ใช่ว่าเมื่อมีกฎหมายนี้แล้วทำให้ผู้ประกอบการแห่ฟ้องผู้บริโภคมากขึ้น ยืนยันว่า กฎหมายฉบับนี้มีประโยชน์ เพราะผู้บริโภคไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมฟ้องศาล ไม่ต้องจ้างทนายความ และหากไม่รู้หนังสือก็ฟ้องด้วยวาจา หรือปากเปล่าได้” นายสราวุธ กล่าว

ล่าสุดวานนี้ น.ส.สารี อ๋องสมหวัง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและคณะได้เป็นตัวแทนผู้เสียหายจากปลากระป๋องบริจาคเน่า ยื่นฟ้องรมว.พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ปลัดพม. บริษัท ทองกิ่งแก้ว ฟู้ดส์ ผู้ผลิต บริษัท ไทย เอ ดี ฟู๊ดส์ ผู้จำหน่ายและกรรมการและผู้ถือหุ้นบริษัททั้งสองเป็นจำเลย ตามพ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค

 

วันพฤหัสบดีที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 นสพ.โพสต์ทูเดย์

พิมพ์ อีเมล

บทความใกล้เคียงกัน